รีเซต

ตรวจสอบการขึ้นทะเบียน อย. และบทลงโทษ 'ถั่งเช่า'โฆษณาเกินจริง

ตรวจสอบการขึ้นทะเบียน อย. และบทลงโทษ 'ถั่งเช่า'โฆษณาเกินจริง
TrueID
22 มกราคม 2564 ( 09:50 )
284
ตรวจสอบการขึ้นทะเบียน อย. และบทลงโทษ 'ถั่งเช่า'โฆษณาเกินจริง

จากกระแสผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ ถูกโฆษณาผ่านสื่อในหลากหลายช่องทาง โดยมีเนื้อหาในการโฆษณาบางส่วนไปเชื่อมโยงกับการรักษาโรค หรือคล้ายกับการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริง กรณีดังกล่าว กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้ามาจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ มาอย่างต่อเนื่อง

 

กสทช.ลงดาบเชือดโฆษณาถั่งเช่าเกินจริง

 

ทั้งนี้ พล.ท.ดร.พีระพงษ์  มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนหน้านี้ว่า ผู้ประกอบกิจการเหล่านี้ที่ขาดจิตสำนึก ขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ประสงค์ต่อรายได้และประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม แม้จะได้รับคำสั่งเตือนให้ระงับการโฆษณาไปแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กสทช.

 

จึงอาศัยอำนาจตาม มาตรา 31 แห่ง พรบ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ลงโทษโดยการปรับสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมเป็นเงิน 5 แสนบาท ไปแล้ว 1 ราย และมีอีก 2 ราย ที่ อย.วิจิฉัยมาแล้วว่าเป็นการโฆษณาที่ผิดกฎหมาย และคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เตรียมเสนอต่อบอร์ด กสทช. เพื่อลงโทษปรับอีกรายละ 5 แสนบาท

 

คลิกอ่าน >>> กสทช. – อย. จับมือฟันโฆษณาถั่งเช่าเกินจริง อวดอ้างสรรพคุณเป็นยา โทษปรับสูง 5 ล้าน

 

และนอกจากจะดำเนินการปรับสถานีโทรทัศน์แล้ว กสทช. จะส่งเรื่องไป อย. เพื่อดำเนินคดีกับพิธีกร พรีเซนเตอร์ และพิจารณาเกี่ยวกับการเพิกถอนทะเบียนตำรับอาหารด้วย เนื่องจากกฎหมายของ กสทช.ให้อำนาจ ในการกำกับดูแลผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์เท่านั้น มิได้ครอบคลุมถึงพิธีกรและเจ้าของผลิตภัณฑ์

 

ตรวจสอบการขึ้นทะเบียนอย.ด้วยตนเอง 

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคเกิดความสงสัย หรือต้องการตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับอาหารเสริมและผลิตภัณฑ์ ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ให้บริการด้านการตรวจสอบการขึ้นทะเบียนอาหาร รวมทั้ง เครื่องสำอางไทยด้วยระบบออนไลน์ โดยการค้นหาจาก หมายเลขการขึ้นทะเบียน, ชื่อผลิตภัณฑ์, ชื่อโรงงานผู้ผลิต, ชื่อผู้จัดจำหน่าย เป็นต้น

 

คลิกเลย >>> ตรวจสอบการอนุญาตขึ้นทะเบียน อย.  

 

 

ความผิดโฆษณา อวดอ้าง เกินจริง

 

พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553

 

ระบุอำนาจหน้าที่และการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคในด้านกิจการกระจายเสียงไว้ ดังนี้

 

มาตรา 31

เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ให้ กสทช. มีหน้าที่ตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม มิให้มีการดำเนินการใด ๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ทั้งนี้โดยให้ กสทช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นสองคณะ ประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์อันเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กสทช. ในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์และในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมโดยให้มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนและปฏิบัติหน้าที่อื่น ทั้งนี้ ตามที่กสทช. กำหนด

 

ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์หรือกิจการโทรคมนาคมดำเนินการใด ๆ ในประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค โดยอาศัยการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ ไม่ว่าด้วยวิธีการใดตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนดให้ กสทช.มีอำนาจสั่งระงับการดำเนินการดังกล่าวได้

 

 

นอกจากนี้  ในหมวด 8 เรื่องบทกำหนดโทษ ของ พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ.2553 มาตรา 77 ยังระบุว่า ผู้ที่ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมผู้ใดได้รับคำสั่งตามมาตรา 31 วรรคสอง แล้วไม่ปฏิบัติตาม ให้ กสทช.มีอำนาจปรับทางปกครองไม่เกิน 5 ล้านบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 แสนบาทตลอดเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติตามคำสั่ง

 

พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522

 

พ.ร.บ.อาหาร ใช้โดยคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ระบุความผิดในเรื่องเกี่ยวกับการโฆษณาอวดอ้าง มีมาตราที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

มาตรา 40

ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหาร อันเป็นเท็จ หรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร

 

มาตรา 41

ผู้ใดประสงค์จะโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ ทางฉายภาพ ภาพยนตร์ หรือทางหนังสือพิมพ์หรือสิ่งพิมพ์อื่นใด หรือด้วยวิธีอื่นใด เพื่อประโยชน์ในทางการค้า ต้องนำเสียง ภาพ ภาพยนตร์ หรือข้อความที่จะโฆษณาดังกล่าวนั้น ให้ผู้รับอนุญาตตรวจพิจารณาก่อน เมื่อได้รับอนุญาตแล้วจึงจะโฆษณาได้

 

มาตรา 42

เพื่อพิทักษ์ประโยชน์และความปลอดภัยของผู้บริโภคให้ผู้อนุญาตมีอำนาจสั่งเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้

(1) ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหาร หรือผู้ทำการโฆษณาระงับการโฆษณาที่เห็นว่าเป็นการ โฆษณาโดยฝ่าฝืนมาตรา 41

(2) ให้ผู้ผลิต ผู้นำเข้า หรือผู้จำหน่ายอาหารหรือผู้ทำการโฆษณาอาหารระงับการผลิต การนำเข้าการจำหน่าย หรือการโฆษณาอาหาร ที่คณะกรรมการเห็นว่าอาหารดังกล่าวไม่มีคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณตามที่โฆษณา

 

มาตรา 70

ผู้ใดโฆษณาอาหารโดยฝ่าฝืนมาตรา 40 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

มาตรา 71

ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 41 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท

 

มาตรา 72

ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อนุญาต

 

ซึ่งสั่งตามมาตรา 42 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ปรับเป็นรายวันอีกวันละไม่น้อยกว่าห้าร้อยบาทแต่ไม่เกินหนึ่งพันบาทตลอดเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว

 

ทั้งนี้ บทบัญญัติดังกล่าวทั้ง 6 มาตรา จำแนกได้เป็น 3 มาตรการ มาตรการแรกเป็นบทบัญญัติที่ห้ามมิให้โฆษณาและการขออนุญาตโฆษณา (มาตรา 40 และมาตรา 41) มาตรการที่ 2 เป็นมาตรการออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ระงับการโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมาย หรือที่คณะกรรมการอาหาร

เห็นว่าอาหารนั้นไม่มีคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณตามที่โฆษณา (มาตรา 42) และมาตราสุดท้ายเป็นมาตรการที่ใช้ในการดำเนินการกับลงโทษผู้กระทำความผิด(มาตรา 70 มาตรา 71 และมาตรา 72)

 

ช่องทางร้องเรียนโฆษณาเกินจริง

 

หากผู้บริโภคต้องการตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์สุขภาพดังกล่าว ผ่านการขออนุญาตจาก อย.แล้วหรือไม่ ขอให้สังเกตฉลากผลิตภัณฑ์ โดยบนฉลากผลิตภัณฑ์อาหารต้องแสดงเลขสารบบในกรอบเครื่องหมาย อย. ผลิตภัณฑ์ยาต้องมีเลขทะเบียนตำรับยา เช่น ทะเบียนยาเลขที่ G 70/48  และผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้องมีเลขที่ใบรับแจ้ง 10 หลัก ทั้งนี้ อาจตรวจสอบได้ที่www.fda.moph.go.th คลิกที่ "สืบค้นข้อมูลผลิตภัณฑ์"

 

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้บริโภคพบเห็นการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริง หรือได้รับอันตรายจากการใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ขอให้ร้องเรียนมาได้ที่  สายด่วน อย.โทร. 1556 หรือ E-mail: 1556@fda.moph.go.th ตู้ ปณ. 1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 และร้องเรียน ผ่าน Oryor Smart Application เพื่อ อย.จะดำเนินการปราบปราม และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้กระทำผิดต่อไป

 

 

รวมสิทธิส่งเสริมคุณภาพชีวิต เกาะติดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทันเรื่องราวกระแสสังคม

สัมผัสประสบการณ์ข่าวได้ที่ แอปพลิเคชัน ทรูไอดี (ดาวน์โหลดเลยที่นี่!!)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง