รีเซต

กล้องเจมส์ เว็บบ์ ตรวจพบหลุมดำมวลยิ่งยวดอยู่ไกลที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ

กล้องเจมส์ เว็บบ์ ตรวจพบหลุมดำมวลยิ่งยวดอยู่ไกลที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ
TNN ช่อง16
8 กรกฎาคม 2566 ( 16:09 )
100

กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ตรวจพบหลุมดำมวลยิ่งยวดในกาแลคซี CEERS 1019 มีมวล 9 ล้านเท่าของดวงอาทิตย์ และมีตำแหน่งอยู่ไกลที่สุดเท่าที่เคยค้นพบ นักวิทยาศาสตร์คาดว่ามันก่อตัวหลังการกำเนิดของเอกภพประมาณ 570 ล้านปี ตามทฤษฎีบิ๊กแบง (Big Bang Theory) จุดกำเนิดและวิวัฒนาการของจักรวาล


หลุมดำมวลยิ่งยวดในกาแลคซี CEERS 1019 นอกจากเป็นหลุมดำอายุน้อยที่ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและมีตำแหน่งอยู่ไกลมันยังมีความสว่างมาก ซึ่งเป็นลักษณะของหลุมดำมวลมหาศาลส่วนใหญ่ในเอกภพยุคแรกที่มีมวลมากกว่า 1 พันล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์ นักดาราศาสตร์ได้ใช้อุปกรณ์ในช่วงอินฟราเรดย่านใกล้ (NIRCam และ NIRSpec) และอินฟราเรดย่านกลาง (MIRI) ที่ติดตั้งอยู่บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงจากอิทธิพลของหลุมดำที่อยู่ใจกลางกาแลคซี


"ปัจจุบันการวิจัยเกี่ยวกับวัตถุในเอกภพในยุคแรกเริ่มส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงทฤษฎี ... และความสามารถของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ ไม่เพียงแต่เราจะเห็นหลุมดำและกาแล็กซีในระยะไกลสุดขีดเท่านั้น ตอนนี้เรายังเริ่มตรวจวัดได้อย่างแม่นยำอีกด้วย นั่นคือพลังอันมหาศาลของกล้องโทรทรรศน์นี้สตีเวน ฟิงเกลสไตน์ นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเทกซัส ออสติน ซึ่งเป็นผู้นำการสำรวจ CEERS และผู้ร่วมวิจัยการศึกษาหลุมดำมวลยิ่งยวด CEERS 1019 กล่าวเพิ่มเติม


การค้นพบในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Cosmic Evolution Early Release Science (CEERS) เพื่อค้นหาและตรวจสอบการกำเนิดของเอกภพ โดยใช้การรวมข้อมูลของกาแล็กซีมากกว่า 100,000 แห่ง พื้นที่ระหว่างกลุ่มดาวหมีใหญ่และกลุ่มดาวโบเตสเพื่อให้นักดาราศาสตร์และนักวิจัยได้นำไปศึกษาเกี่ยวกับยุคแรกเริ่มของเอกภพ


การแถลงการของสถาบันวิทยาศาสตร์และกล้องโทรทรรศน์อวกาศในบัลติมอร์ ซึ่งใช้ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เว็บบ์ แม้จะเป็นการค้นพบครั้งสำคัญแต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถอธิบายได้ว่า หลุมดำมวลยิ่งยวดในกาแลคซี CEERS 1019 เกิดขึ้นได้อย่างไร หลังจากการกำเนิดของเอกภพเกิดขึ้นได้ไม่นาน โดยนักวิทยาศาสตร์ต้องทำการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป


นอกจากการตรวจพบหลุมดำมวลยิ่งยวดในกาแลคซี CEERS 1019 กล้องยังตรวจพบหลุมดำมวลมหาศาลที่มีน้ำหนักเบากว่า อีก 2 แห่ง โดยหลุมดำทั้ง 2 อยู่บริเวณแกนกลางของกาแลคซี CEERS 2782 และ CEERS 746 ซึ่งคาดว่ากำเนิดขึ้นหลังจากการระเบิดตามทฤษฎีบิ๊กแบง (Big Bang Theory) ของจักรวาลประมาณ 1-1.1 พันล้านปี มีมวลประมาณ 10 ล้านเท่าของมวลดวงอาทิตย์


ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ nasa.govSpace.com  

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง