รีเซต

ผื่นแดงโควิดเป็นแบบไหน? เกิดจากสาเหตุใด รักษาอย่างไร

ผื่นแดงโควิดเป็นแบบไหน? เกิดจากสาเหตุใด รักษาอย่างไร
TNN ช่อง16
10 กรกฎาคม 2566 ( 10:26 )
242

ผื่นแดงโควิดเป็นแบบไหน เช็ก 8 ลักษณะเข้าข่ายอาการโควิด เป็นแล้วรักษาอย่างไร?


วารสารโรคผิวหนังของสหราชอาณาจักร เผยว่า ผื่นโควิด หรือ Covid Rash หรือผื่นผิวหนังจากการติดเชื้อโควิด-19 สามารถเกิดขึ้นบนร่างกายของผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 หลังจากมีอาการผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ หรือบางรายอาจพบผื่นแดงโควิดก่อนที่จะมีอาการผิดปกติอย่างอื่น เช่น ไข้สูง ลิ้นไม่รับรส จมูกไม่ได้กลิ่น หรืออาการอื่นๆ


ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการผิดปกติทางผิวหนังในประเทศแถบยุโรปและประเทศแถวเอเชียจะมีอาการผิดปกติทางผิวหนังแตกต่าง โดยผู้ป่วยโควิด-19 ในประเทศแถบยุโรปจะมีอาการที่ไม่พบในประเทศไทย คือ ปลายมือปลายเท้าม่วงคล้ำ ในทางการแพทย์เรียกว่า Covid Toe สาเหตุมาจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น และผู้ป่วยโควิด-19 ในแถวประเทศแถบเอเชียจะมีอาการผื่นแดงโควิดทั่วทั้งตัว ผื่นลมพิษ หรือผื่นใสแบบตุ่มน้ำ


ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมด ประมาณ 0.2 - 20% มีอาการผื่นแดงโควิด หรือผื่นลักษณะอื่นๆร่วมด้วย ดังนั้นไม่ควรละเลยอาการผิดปกติในร่างกาย แม้ว่าจะเล็กน้อยก็ตาม เพราะอาจจะเป็นสัญญาเตือนว่าคุณกำลังเข้าข่ายติดเชื้อโควิด-19


ผื่นแดงโควิดเกิดจากสาเหตุใด


วารสาร British Journal of Dermatology พบว่ามีความเกี่ยวข้องระหว่างผื่นที่บริเวณผิวหนังกับโรคโควิด-19 โดยได้ระบุไว้ จากข้อมูลผู้ป่วยที่มีผลตรวจโควิดเป็นบวก 88% มีอาการของผื่นแดงโควิดขึ้นตามร่างกายร่วมด้วย

ในปัจจุบันยังไม่มีผลวิจัยยืนยันแน่ชัดว่าสาเหตุของผืนแดงโควิดว่าเกิดจากอะไร แต่ในทางการแพทย์สันนิษฐานว่าผื่นแดงโควิด (Maculopapular) ตุ่มแบน รอยแดง หรือตุ่มใสโควิดที่กระจายบนผิวหนังตามส่วนต่างๆ บนร่างกาย อาจจะมาจากผลข้างเคียงของยาที่ใช้ในการรักษาเชื้อโควิด-19 หรือมาจากการที่เลือดภายในร่างกายไหลเวียนไม่ดีทำให้เกิดเป็นผื่นแดง ผื่นตุ่มใส หรือผื่นแบบอื่นๆขึ้นมา

โดยปกติแล้วอาการผื่นแดงโควิด มักจะค่อยๆจางหายไปเองเมื่อผู้ป่วยรักษาอาการโควิด-19 หายแล้ว ประมาณ 7-14 วัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปริมาณ และความรุนแรงของผื่นแดงโควิดที่ขึ้นตามบนร่างกายของผู้ป่วย


ผื่นโควิด มักพบในใครบ้าง

จากการศึกษาทางการแพทย์แบบ Systemic Review อาการผิดปกติทางผิวหนัง ผื่นคันโควิด หรือผื่นแดงโควิด สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดประมาณ 0.2 - 20.4% โดยส่วนใหญ่แล้ว 55% ของผู้ที่มีอาการผื่นแดงโควิดมักพบหลังอาการของโรค และ 35% พบอาการผื่นแดงโควิดพร้อมกับอาการอื่นๆของโรคร่วมด้วย ทั้งนี้อาการผื่นแดงโควิดสามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยหลายกลุ่ม ได้แก่

-ผู้ป่วยโควิด-19 ที่ไม่แสดงอาการ
-ผู้ที่มีอาการเล็กน้อยไปจนถึงผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง
-มักพบในผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่น
-สามารถพบได้ในผู้ป่วยที่มีอายุสูง แต่มีจำนวนน้อยกว่าวัยรุ่นและเด็ก

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้เผยว่า ผื่นแดงโควิดมักพบในผู้ป่วยในวัยรุ่น ที่มีอาการโรครุนแรงเล็กน้อยไปจนถึงปานกลาง เช่น ตาแดง น้ำมูกไหล ไม่มีไข้ โดยจะมีอาการผื่นแดงโควิดร่วมด้วย อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นอาการผื่นแดงโควิดมักไม่มาเดี่ยวๆ แต่มักจะมาร่วมกับอาการอื่นร่วมด้วย หากคุณมีอาการผื่นแดงร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น หายใจได้ไม่เต็มปอด น้ำมูกไหล ไข้สูง ลิ้นไม่รับรส และอาการโรคอื่นๆ อาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าคุณอาจจะติดเชื้อโควิด-19

นอกจากนี้ผู้ป่วยที่มีภาวะลองโควิด สามารถเกิดผื่นขึ้นบริเวณผิวหนัง แขนขา ข้อศอก หน้าอก และแผ่นหลังได้เช่นเดียวกับผู้ป่วยโควิด และผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะแทรกซ้อนหลังหายป่วยโควิด หรือ MIS-C อาจจะมีการอักเสบที่ระบบภายในร่างกายทำให้เกิดการผิดปกติบริเวณผิวหนังได้เช่นเดียวกัน


เช็ก 8 ลักษณะผื่น เข้าข่ายอาการโควิด


1.ผื่นโควิดที่นิ้วเท้า


ผื่นโควิดที่นิ้วเท้า หรือที่เรียกว่า Covid Toe มีลักษณะเป็นตุ่มสีแดง และสีม่วง นูนๆที่นิ้ว หรือนิ้วเท้า ส่วนใหญ่มักมีอาการเจ็บร่วมและอาการคันร่วมด้วย ผื่นแดงโควิดที่เท้าส่วนใหญ่มักพบในเด็ก และพบในคนผิวขาว (Caucasian) มากกว่าคนผิวสี หรือ ผู้ป่วยโควิดที่มีอาการรุนแรงเล็กน้อยถึงปานกลาง และมักพบในประเทศที่มีอาการหนาวเย็น


2. ผื่นโควิดบริเวณคอและหน้าอก


ผื่นโควิดบริเวณคอและหน้าอกส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นสีชมพูอ่อน และสีแดง สำหรับผู้ที่มีผิวสองสีผื่นอาจจะมีมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้ม สีม่วง หรือสีเทาได้ โดยผื่นโควิดชนิดนี้มักขึ้นหลังจากการติดเชื้อไวรัส และใช้เวลารักษานานกว่าผื่นแบบอื่นๆ


3. ผื่นและตุ่มใสขึ้นที่ปาก


ผื่นและตุ่มใสที่ขึ้นบริเวณปาก หรือข้างในปาก จะมีลักษณะเป็นตุ่มเม็ดเล็กๆ ใสๆ ในปากหรือบริเวณริมฝีปาก นอกจากนี้ผื่นและตุ่มใสที่ขึ้นที่ปาก เมื่อรักษาหายแล้วมักส่งผลให้ริมฝีปากแห้ง และปากลอกเป็นขุยได้


4. ผื่นแดงและตุ่มน้ำตามผิวหนัง


ผื่นแดงโควิด (Maculopapular Rash) มีลักษณะเป็นผดแดงเล็ก มักขึ้นตามแขน ขา และข้อศอก ส่วนใหญ่ที่พบผื่นแดงโควิดตามผิวหนังมักมีอาการไม่รุนแรง ผื่นแดงโควิดจะมีอาการคันที่รุนแรง โดยมันพบกับผู้ป่วยในกลุ่มที่ติดเชื้อไวรัสอื่นๆร่วมด้วย

ตุ่มน้ำใส (Papulovesicular Exanthem) มีลักษณะเหมือนผดแดงปนตุ่มใส มักมีอาการคันเล็กน้อย แต่ไม่มีอาการเจ็บ สามารถเกิดได้ทั่วทั้งร่างกาย ในผู้ป่วยบางรายจะพบอาการผื่นตุ่มน้ำร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น ปวดศีรษะ สับสน หรือ จมูกไม่ได้กลิ่น


5. ผื่นกลีบกุหลาบ ร่างแห


ผื่นกลีบกุหลาบ (Livedo Reticularis หรือ Racemosa like Pattern) เป็นผื่นที่มีลักษณะคล้ายร่างแห หรือตาข่าย ผื่นชนิดนี้เกิดจากการไหลเวียนของเลือดที่ช้ากว่าผิด ทำให้เกิดเป็นผื่นคล้ายร่างแหขึ้มากบริเวณผิวหนัง มีทั้งสีอ่อนและสีเข้ม สามารถพบได้ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงปานกลาง แต่ผื่นกลีบกุหลาบ ร่างแหพบได้น้อยมาก


6. ผื่นลักษณะคล้ายจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง


ผื่นลักษณะคล้ายจุดเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือ ผื่นเส้นเลือดอักเสบ (Vasculitic) ผื่นชนิดนี้มักเกิดจากเส้นเลือดอักเสบ มักขึ้นบริเวณขา พบได้ 6 - 8 % ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดที่มีอาการรุนแรงมาก และมักพบในผู้ป่วยผู้สูงอายุ และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เมื่อมีอาการผื่นลักษณะคล้ายจุดเลือดออกใต้ผิวหนังจะมีอาการค่อนข้างนาน อาจจะนานเป็นสัปดาห์


7. ผื่นลมพิษ


ผื่นลมพิษ หรือทางการแพทย์เรียกว่า Urticarial Rash จะมีอาการเหมือนลมพิษทั่วไป มักขึ้นตามลำตัวและแขนขา โดยผื่นลมพิษสามารถเกิดขึ้นได้ตั้งช่วงก่อน ระหว่าง หรือหลังที่มีอาการติดเชื้อโควิด-19 มักพบผื่นลมพิษร่วมกับอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ แค่เพียงผื่นลมพิษอย่างเดียวไม่สามารถบอกได้ว่าคุณติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากผื่นลมพิเศษมีลักษณะคล้ายกับอาการโรคอื่นๆ เช่น แพ้อาหาร แพ้ยา ลมพิษ หรือโรคภูมิแพ้ ดังนั้นเมื่อเกิดผื่นลมพิษตามตัวควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก่อน


8. ไข้ออกผื่น


ไข้ออกผื่น (Viral Exanthem) เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัส มีลักษณะเป็นผดผื่นขึ้นมาตามบริเวณผิวหนังบนร่างกาย รอยจุด ตุ่มนูนสีชมพูไปจนถึงสีแดงแผ่ขยายออกเป็นวงกว้างมากกว่าผื่นทั่วๆ ไป ส่วนใหญ่ไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกคันบริเวณผิวหนังที่ผื่นขึ้น แต่ในบางครั้งอาจจะมีอาการคันร่วมด้วย ไข้ออกผื่นมักมีอาการร่วมกับ เป็นไข้สูง ปวดหัว หรืออ่อนเพลีย


ผื่นโควิดรักษาอย่างไร


หลังจากตรวจหาเชื้อโควิด-19 แล้วพบว่าผลตรวจเป็น Positive ควรติดต่อไปที่โรงพยาบาลที่ใกล้และสะดวกมากที่สุด เพื่อหาเตียงและสถานที่กักตัว 14 วัน ตามที่รัฐบาลกำหนด และควรรีบรักษาอาการป่วยโควิด-19 ทันที ทั้งนี้การรักษาอาการโควิด-19 สำคัญที่สุด เนื่องจากโรคควิด-19 ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง หากอาการโควิด-19 ดีขึ้นจะช่วยลดโอกาสการเสียชีวิต และเมื่ออาการโควิด-19 มีความรุนแรงลดลงจะส่งผลต่อความรุนแรงของผื่นแดงโควิดลดลงตามไปด้วย

ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาอาการผื่นแดงโควิดโดยเฉพาะ หากมีอาการที่รุนแรงและคันมาก แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เพื่อบรรเทาอาการแพ้หรือคัน และผู้ที่พักรักษาตัวที่บ้าน หรือ home isolation สามารถใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการคันได้ ดังนี้


-ยาแก้แพ้ แก้คัน ยาต้านฮีสตามีน เพื่อลดอาการคันที่บริเวณผิวหนัง
-ทายากลุ่มสเตียรอยด์ เพื่อลดอาการแพ้และคัน
-Calamine lotion สามารถช่วยลดอาการคันได้

ควรหลีกเลี่ยงการเกา แกะ แคะ ที่อาจจะทำให้เกิดการระคายเคืองผิวหนัง และลดการทาผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและสกินแคร์จนกว่าผื่นจะหายไป อาการของผื่นแดงโควิดส่วนใหญ่มักจะค่อยๆดีขึ้น ตามอาการของโรคโควิด-19 ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการผื่นแดงโควิดผื่นมักจะค่อยๆจางไปเองภายใน 7 - 14 วัน ทั้งนี้ผื่นแดงโควิดไม่ใช่อาการที่ส่งผลรุนแรงต่อร่างกาย เหมือนอาการผิดปกติระบบทางเดินหายใจ และยังไม่พบรายงานผู้เสียชีวิตจากผื่นแดงโควิดในประเทศไทย



ภาพจาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

 



ขอบคุณที่มา โรงพยาบาลสมิติเวช 

ภาพจาก โรงพยาบาลสมิติเวช / หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง