รีเซต

ผลวิเคราะห์ชี้ฟอสซิลที่กลุ่มนักสำรวจรุ่นเยาว์ค้นพบ เป็นเพนกวินยักษ์อายุกว่า 30 ล้านปี

ผลวิเคราะห์ชี้ฟอสซิลที่กลุ่มนักสำรวจรุ่นเยาว์ค้นพบ เป็นเพนกวินยักษ์อายุกว่า 30 ล้านปี
ข่าวสด
19 กันยายน 2564 ( 11:20 )
52
ผลวิเคราะห์ชี้ฟอสซิลที่กลุ่มนักสำรวจรุ่นเยาว์ค้นพบ เป็นเพนกวินยักษ์อายุกว่า 30 ล้านปี

 

ฟอสซิลที่ถูกค้นพบโดยทีมนักสำรวจรุ่นเยาว์ในนิวซีแลนด์ได้รับการตรวจสอบจากนักวิทยาศาสตร์ และพบว่าเป็นฟอสซิลของนกเพนกวิน "ขายาว" ชนิดใหม่ที่เคยมีชีวิตอยู่ในโลกยุคดึกดำบรรพ์

 

 

การค้นพบที่น่าตื่นเต้นนี้เกิดขึ้นในปี 2006 ระหว่างที่สมาชิกสโมสรนักธรรมชาติวิทยารุ่นเยาว์แฮมิลตัน (Hamilton Junior Naturalist Club หรือ JUNATS) กำลังทำกิจกรรมค้นหาฟอสซิลบริเวณอ่าวคาเฟียฮาร์เบอร์ (Kawhia Harbour) ที่เกาะเหนือของนิวซีแลนด์

 

 

MARK WHITTON

เพนกวินขนาดใหญ่อีกชนิดที่มีการค้นพบมีชื่อว่า "โพลทอปเทอริดส์" (Plotopterids) ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าอาจมีขนาดใหญ่เท่ามนุษย์วัยผู้ใหญ่

 

 

จากนั้นฟอสซิลได้ถูกส่งไปเข้ากระบวนการวิเคราะห์โดยทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแมสซี และพิพิธภัณฑ์บรูซ ในสหรัฐฯ ซึ่งพวกเขาได้ใช้เครื่องสแกนสามมิติเพื่อเปรียบเทียบฟอสซิลดังกล่าวกับกระดูกอื่น ๆ ที่พบทั่วโลก

 

 

ผลการวิเคราะห์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Vertebrate Palaeontology ระบุว่า ฟอสซิลชิ้นนี้เป็นกระดูกของนกเพนกวินยุคก่อนประวัติศาสตร์ชนิดพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยถูกค้นพบมาก่อน

 

 

การค้นพบครั้งนี้ได้ช่วยเติมเต็มช่องว่างในประวัติศาสตร์ธรรมชาติของโลก โดยที่ผ่านมาฟอสซิลของเพนกวินชนิดต่าง ๆ ที่พบมีอายุเก่าแก่ย้อนไปถึงยุคไดโนเสาร์ และช่วยบอกเล่าเรื่องนิเวศวิทยาของธรรมชาติในอดีตและปัจจุบัน

 

 

SIMONE GIOVANARDI
ทีมนักวิทยาศาสตร์ระบุว่า เพนกวินยักษ์ "ขายาว" ชนิดใหม่เคยมีชีวิตอยู่ในโลกระหว่าง 27.3 ถึง 34.6 ล้านปีก่อน

 

 

ดร.แดเนียล โธมัส อาจารย์ด้านสัตววิทยาจากมหาวิทยาลัยแมสซี ระบุว่า ฟอสซิลชิ้นนี้มีอายุระหว่าง 27.3 ถึง 34.6 ล้านปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พื้นที่ส่วนใหญ่ในแถบที่พบยังคงจมอยู่ใต้น้ำ

 

 

เขากล่าวว่า เพนกวินที่พบนี้มีลักษณะคล้ายกับเพนกวินยักษ์ไครูคู (Kairuku giant penguin) ที่ถูกค้นพบครั้งแรกในภูมิภาคโอทาโก บนเกาะใต้ของนิวซีแลนด์ แต่มีขายาวกว่ามาก ทำให้ทีมนักวิจัยเรียกมันว่า waewaeroa ซึ่งในภาษาชนพื้นเมืองเมารีแปลว่า "ขายาว"

 

 

"ขาที่ยาวกว่านี้ช่วยให้เพนกวินชนิดนี้มีความสูงกว่าเพนกวินยักษ์ไครูคูมากเวลาที่พวกมันเดินอยู่บนพื้นดิน บางทีอาจมีความสูงราว 1.4 เมตร และอาจส่งผลต่อความเร็วในการว่ายน้ำ หรือความลึกในการดำน้ำของพวกมัน" ดร.โธมัส กล่าว

 

 

ส่วนเด็ก ๆ ที่มีส่วนร่วมในการค้นพบฟอสซิลชิ้นนี้ปัจจุบันได้โตกันหมดแล้ว แต่พวกเขาบอกว่ามันคือประสบการณ์ที่พวกเขาจะจดจำไปตลอดชีวิต

 

 

สเตฟฟาน เซฟีย์ หนึ่งในคณะนักสำรวจรุ่นเยาว์ที่ร่วมการค้นพบและการขุดค้นฟอสซิลชิ้นนี้ขึ้นมาบอกว่า "มันน่าเหลือเชื่อที่ได้รู้ว่าการค้นพบที่เราทำในตอนเด็กเมื่อหลายปีก่อนจะเป็นประโยชน์ต่อแวดวงวิชาการในปัจจุบัน แถมมันยังเป็นเพนกวินชนิดพันธุ์ใหม่อีกด้วย !"

 

 

เขากล่าวทิ้งท้ายว่า "การมีอยู่ของเพนกวินยักษ์ในนิวซีแลนด์เป็นเรื่องที่ผู้คนไม่ค่อยทราบกัน และมันเยี่ยมมากที่ได้รู้ว่ากลุ่มนักวิทยาศาสตร์ยังคงทำการศึกษาและเรียนรู้เกี่ยวกับมันต่อไป ชัดเจนว่าวันเวลาที่พวกเราใช้ไปในการตัดหินทรายนั้นเป็นการใช้เวลาอย่างคุ้มค่าแล้ว!"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง