รีเซต

เซ่นพิษสินค้าจีน "พานาโซนิค" กำไรวูบ ยอดขายดิ่ง ปลดคน 10,000 ตำแหน่ง

เซ่นพิษสินค้าจีน "พานาโซนิค" กำไรวูบ ยอดขายดิ่ง ปลดคน 10,000 ตำแหน่ง
TNN ช่อง16
22 พฤษภาคม 2568 ( 08:00 )
7

"พานาโซนิค" ปรับโครงสร้างองค์กร - ปลดคนครั้งใหญ่

สื่อของญี่ปุ่นรายงานว่า "พานาโซนิค โฮลดิงส์" บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น

วางแผนที่จะเลิกจ้างพนักงานประมาณ 10,000 คน หรือประมาณ  5 % ของพนักงานทั่วโลก 

เป็นความต้องการปรับโครงสร้างครั้งใหญ่  โดยเน้นไปที่การตัดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร


ข้อมูลระบุว่าจะมีการเอาคนออก หรือ เลิกจ้างพนักงาน 

แบ่งเป็นในญี่ปุ่น 5,000 ตำแหน่ง และทั่วโลกอีก 5,000 ตำแหน่ง 

ซึ่งกระบวนลดพนักงานนี้ ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายในปีงบประมาณ 

ที่จะสิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2026 

ผ่านมาตรการต่าง ๆ เช่น โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด 

โดยส่วนใหญ่จะเป็นฝ่ายขายและฝ่ายบริหาร


โดยพานาโซนิคตั้งเป้าที่จะทุ่มทรัพยากรมากขึ้นในการบริการที่ใช้ AI สำหรับลูกค้าของบริ0ษัท

พร้อมกันนี้ทางบริษัทกำลังพิจารณาขายธุรกิจโทรทัศน์

และแยกหน่วยงานที่เชี่ยวชาญด้านเครื่องใช้ในบ้าน เครื่องปรับอากาศ และระบบไฟ


นายคูซูมิ ยูกิ ประธานกรรมการบริหารหรือ CEO ของพานาโซนิค 

กล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 9 พฤษภาคม 2568 

ระบุว่า เขาต้องการเพิ่มกำไรให้มากกว่าพันล้านดอลลาร์จนถึงปีงบประมาณ 2569

และต้องการทำให้บริษัทมีความ “คล่องตัวมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น 

และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น” 

ต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว 

และยังกล่าวอีกว่าเขาจะยอมสละค่าตอบแทนประจำปีของเขาประมาณ 40 % ในปีงบประมาณนี้ด้วย


พานาโซนิคยังประกาศผลการคาดการณ์รายได้สำหรับปีงบประมาณปัจจุบัน 

โดยคาดว่ายอดขายจะลดลงมากกว่า 7 % เหลือประมาณ 53,700 ล้านดอลลาร์ 

หรือประมาณ 1.77 ล้านล้านบาท 

กำไรสุทธิจะลดลงมากกว่า 15 %  เหลือ 2,100 ล้านดอลลาร์ หรือราว 69,000 ล้านบาท


ทั้งนี้พานาโซนิคมีปัญหาผลกำไรตกต่ำมาเป็นเวลาหลายปีแล้ว  ย้อนกลับไปช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 

มีอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อปีอยู่ในช่วง 3.4% – 5% เท่านั้น 

ซึ่งเป็นตัวเลขที่ตามหลังคู่แข่งสัญชาติญี่ปุ่นด้วยกันทั้ง Sony และ Hitachi

สถานการณ์นี้ยังสะท้อนผ่านราคาหุ้นของ Panasonic ที่เพิ่มขึ้นเพียง 3% 

เมื่อเทียบกับทศวรรษที่แล้ว 

สวนทางกับดัชนี Nikkei Stock Average ที่เพิ่มขึ้นถึง 85% 

และคู่แข่งอย่าง Hitachi และ Sony ที่เติบโตถึง 379% และ 414% ตามลำดับ


นายคูซูมิ ยูกิ กล่าวว่า เมื่อเทียบตัวเองกับบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน

ที่ต่างก็ได้มีการปรับโครงสร้างไปแล้วนั้น พบว่าอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขาย ค่าใช้จ่ายทั่วไป

และค่าใช้จ่ายในการบริหารของพานาโซนิคยังคงอยู่ในระดับ “สูงเป็นพิเศษ” 

"เพื่อการแข่งขันในอนาคต"

ดังนั้นเพื่อการเตรียมความพร้อมเดินหน้าธุรกิจระยะยาว 10 – 20 ปี ข้างหน้า 

และเสริมศักยภาพการทำกำไรให้สามารถกลับมาไล่ล่าการเติบโตได้อีกครั้ง

จึงจำเป็นต้องยกเครื่องโครงสร้างต้นทุนคงที่อย่างเร่งด่วน 

ด้วยการควบรวมแผนกขายและกลุ่มงานหลังบ้านหรือ backoffice 

ของแต่ละบริษัทในเครือ พร้อมกับลดการลงทุน หรือยกเลิกธุรกิจที่ไม่ทำกำไร 


การปรับครั้งนี้ เพื่อเอาชีวิตรอดในสงครามสินค้าอิเล็กทรอนิกส์

นายคูซูมิ ยูกิ กล่าวว่า “การลดจำนวนพนักงานเป็นสิ่งจำเป็น “

เพื่อให้เราสามารถดำเนินการได้ในระดับที่สามารถแข่งขันกับบริษัทอื่นได้

เพราะการเอาคนออกจากงาน 10,000 ตำแหน่งครั้งนี้ 

แม้จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายกว่า 130,000 ล้านเยน หรือประมาณ 895 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

แต่จะส่งผลบวกต่อการทำกำไรของบริษัทมากกว่า 300,000 ล้านเยน ภายในเดือนมีนาคม 2029 

พร้อมกันนี้ยังตั้งเป้าอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้นและอัตรากำไรจากการดำเนินงานที่ปรับปรุงแล้วให้สูงกว่า 10% 

พร้อมเป้าหมายเพิ่มผลกำไรอย่างน้อย 150,000  ล้านเยน


กำไรของพานาโซนิคนั้นตกต่ำอย่างหนักอย่างต่อเนื่อง

จากยอดขายสินค้าที่ลดลง เพราะคู่แข่งที่แกร่งและมีเยอะมากขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีวีจากจีน ที่ล่าสุดตีตลาดญี่ปุ่นได้สำเร็จสวยงาม 

และพานาโซนิคเองก็ถึงขั้นเตรียมขายธุรกิจทีวีทิ้ง 


พานาโซนิค เคยออกมาเคลื่อนไหวระบุความต้องการว่า

เตรียมจะขายธุรกิจในกลุ่มสินค้าโทรทัศน์หรือทีวีออกไปหากจำเป็น

แต่ยังคนซื้อไม่ได้ 

 

ยูกิ คูซูมิ ประธาน เปิดเผยเมื่อช่วงต้นกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า 

บริษัทเตรียมพิจารณาขายหรือปรับลดขนาดธุรกิจทีวีที่กำลังประสบปัญหา 

ขณะที่บริษัทกำลังดำเนินแผนปรับโครงสร้างองค์กร 

เพื่อให้การตัดสินใจเป็นไปอย่างรวดเร็วและมุ่งเน้นการเติบโตมากขึ้น

โดยระบุว่าพร้อมที่จะขายธุรกิจทีวีถ้าหากมีความจำเป็น 

แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการตัดสินใจขั้นสุดท้าย

 และในปัจจุบันคิดว่าไม่มีบริษัทใดที่จะมาซื้อธุรกิจนี้ 

ดังนั้นจะต้องพิจารณาการเพิ่มตัวเลือกอื่น ๆ ให้มากขึ้น


นิกเกอิเอเชีย รายงานว่า พานาโซนิคมีเป้าหมายยุบบริษัทพานาโซนิค คอร์ปอเรชัน 

ซึ่งเป็นธุรกิจหลักด้านเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในสิ้นปีงบการเงิน 2568 

และจะจัดตั้งบริษัท 3 แห่งขึ้นเพื่อดูแลผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน 

เช่น ตู้เย็นและเครื่องซักผ้า ระบบปรับอากาศและระบบจำหน่ายอาหาร 

รวมถึงธุรกิจไฟส่องสว่างและธุรกิจด้านไฟฟ้า

ซึ่งปัจจุบัน พานาโซนิคมีบริษัทในเครือ 6 แห่งซึ่งไม่รวมธุรกิจยานยนต์ที่ขายไปแล้วตั้ง

เมื่อเดือนธันวาคมปลายปีแล้วที่ผ่านมา

"แบรนด์จีน จุดเปลี่ยน แบรนด์ญี่ปุ่น - ใคร คือ ผู้อยู่รอด ?"

จุดสำคัญที่ต้องจับตาคือ การแข่งขันอย่างรุนแรงของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าวันนี้

สินค้าจากจีนแบรนด์จีนรุกตลาดอาเซียนได้อย่างแข็งแกร่ง และลามมาถึงญี่ปุ่นเองด้วย 

พานาโซนิค รวมถึงสินค้าแบรนด์ญี่ปุ่นที่เคยได้รับความนิยม

ต้องมาเสียส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจนี้  โดยเฉพาะสินค้าราคาถูกกว่าจากแบรนด์จีน

เช่น Haier  และ Midea ที่ปัจจุบันไม่ได้มีแค่ของราคาถูกแต่เริ่มส่งสินค้าคุณภาพสูงเข้าสู่ตลาดแล้วด้วยเช่นกัน

และมีสินค้าที่หลากหลาย ตั้งแต่ตู้เย็น ไมโครเวฟ และโดยเฉพาะทีวีที่ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง 


ออมเดีย (Omdia) กลุ่มวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี เปิดเผยกับนิกเกอิเอเชียว่า 

เมื่อพิจารณาจากจำนวนสินค้าที่จัดส่งแล้ว 

พานาโซนิคมีส่วนแบ่งตลาดทีวีจอแบนในประเทศญี่ปุ่น 

ช่วงมกราคมถึงมิถุนายน 2024 ที่ 12.8% 

ลดลงจากเมื่อปี 2010 ที่มีส่วนแบ่งประมาณ 20%


ส่วนแบ่งตลาดที่ลดลงนี้ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าราคาจับต้องได้จากผู้ผลิตชาวจีน 

ขณะเดียวกันพานาโซนิค ยังไม่ได้ทำตลาดทีวีในสหรัฐมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปีแล้ว 

ก่อนที่จะกลับเข้าสู่ตลาดอีกครั้งเมื่อปี 2024 


ทั้งนี้ คาดว่าในปีงบฯ 2024 พานาโซนิค จะมียอดขายจากธุรกิจสินค้าภาพและเสียง 

รวมไปถึงกล้องถ่ายรูป 284,000 ล้านเยน (ประมาณ 62,504 ล้านบาท)

ซึ่งคิดเป็นเพียง 3% ของยอดขายรวมที่บริษัทคาดการณ์ไว้ 


สะท้อนถึงทิศทางของกลุ่มสินค้าภาพและเสียงของพานาโซนิค

ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเมื่อเทียบกับในช่วงปี 1990s 

ที่สินค้าทีวีเคยเป็นสินค้าสำคัญของบริษัท


นอกจากนี้ เมื่อปี 2016 พานาโซนิคหยุดการผลิตจอแอลซีดี (LCD) สำหรับทีวี

จากโรงงานของตัวเองและหันไปซื้อจอแอลซีดีจากเกาหลีใต้ และซัพพลายเออร์รายอื่น ๆ แทน 


พานาโซนิค กำลังเจอ "ทางแยกและจุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญ

ศึกแย่งตลาดจากสินค้าจีนยังไม่พอ

หันไปอีกด้านตอนนี้ก็ต้องเจอกับศึกภาษีทรัมป์จากสหรัฐอเมริกาด้วย

เพราะพานาโซนิคเองก็เป็นซัพพลายเออร์แบตเตอรี่ EV ให้กับเทสลา

กำแพงภาษีทรัมป์ที่มีจุดยืนต้องการกีดกันสินค้าต่างชาติ ทำให้การส่งออกหรือการผลิตใดๆย่อมไม่ง่ายเหมือนเดิม  

ข่าวที่เกี่ยวข้อง