รีเซต

รับค่าไฟเพิ่ม! กกพ.ปรับขึ้นค่าเอฟที ดันค่าไฟอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ครั้งแรกรอบ 2 ปี

รับค่าไฟเพิ่ม! กกพ.ปรับขึ้นค่าเอฟที ดันค่าไฟอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ครั้งแรกรอบ 2 ปี
ข่าวสด
19 พฤศจิกายน 2564 ( 13:11 )
268

ข่าววันนี้ 19 พ.ย.64 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษ กกพ. เปิดเผยว่า กกพ.มีมติให้ตรึงค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) สำหรับการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในรอบเดือนม.ค.-เม.ย.2565 โดยให้เรียกเก็บที่ 1.39 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยหรือที่เรียกเก็บกับประชาชนอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 4.63% จากงวดปัจจุบันอยู่ที่ 3.61 บาทต่อหน่วย จนถึงสิ้นปี 2564

 

ทั้งนี้ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนค่าลง การนำเข้าพลังงานไฟฟ้าจากต่างประเทศในส่วนของพลังน้ำลดลงตามฤดูกาลและการผลิตไฟฟ้าจากถ่านลิกไนต์ลดลง ตามแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ส่งผลให้สามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนราคาถูกลดลง ประกอบกับราคาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก ตามภาวะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกเป็นช่วงขาขึ้น และปริมาณนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่มากขึ้น เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่ลดลงช่วงปลายสัมปทาน

 

“ก่อนหน้านี้ กกพดำเนินนโยบายบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพให้กับประชาชนผู้ใช้พลังงานมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมาตรการการลดค่าไฟฟ้า และตรึงค่าเอฟทีอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 2 ปีที่ผ่านมา จนถึงขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เบาบางลง ทำให้เศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศเริ่มฟื้นตัว ประกอบกับสถานการณ์วิกฤตพลังงานในต่างประเทศ ซึ่งเข้าสู่ช่วงฤดูหนาวส่งผลให้เกิดภาวะพลังงานตึงตัว (Energy Crisis) จากปริมาณความต้องการใช้พลังงานทั้งน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงนี้ เป็นเหตุให้ค่าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 (ที่ใช้ค่าจริงเดือนก.ย.2564 ในการประมาณการ) เพิ่มสูงขึ้นเป็น 48.01 สตางค์” นายคมกฤช กล่าว

 

สำหรับปัจจัยในการพิจารณาค่าเอฟทีในรอบเดือน ม.ค.-เม.ย.2565 กกพ.ประเมินความต้องการพลังงานไฟฟ้าในช่วงเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 ประมาณ 65,325 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้นจากประมาณการงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2564 ที่คาดว่าจะมีความต้องการพลังงานไฟฟ้าประมาณ 64,510 ล้านหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 1.26% อีกทั้งสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ายังคงใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 60.27% ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด เป็นการซื้อไฟฟ้าจากสปป.ลาวและมาเลเซีย รวม 13.92% และค่าเชื้อเพลิงถ่านหินนำเข้าโรงไฟฟ้าเอกชน 7.68% ลิกไนต์ของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) 7.55% และอื่นๆ อีก 6.92%

 

นอกจากนี้ ราคาเชื้อเพลิงเฉลี่ยที่ใช้ในการคำนวณค่าเอฟทีเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 ทั้งราคาเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและราคาถ่านหินนำเข้าปรับตัวสูงขึ้นมากจากประมาณในรอบเดือน ก.ย. – ธ.ค. 2564 ขณะที่เชื้อเพลิงอื่นปรับตัวขึ้นเล็กน้อยและคงที่ ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยที่ใช้ในการประมาณการ (1-30 ก.ย.2564) อยู่ที่ 33.0 บาทต่อเหรียญสหรัฐ อ่อนค่าจากประมาณการในงวดเดือนก.ย.-ธ.ค.2564 ที่ผ่านมา ที่ประมาณการไว้ที่ 31.3 บาทต่อเหรียญสหรัฐ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง