รีเซต

SCBชูซอฟต์โลน2หมื่นล. ให้เอสเอ็มอี8,500ราย

SCBชูซอฟต์โลน2หมื่นล. ให้เอสเอ็มอี8,500ราย
ทันหุ้น
28 พฤษภาคม 2564 ( 08:30 )
52
SCBชูซอฟต์โลน2หมื่นล. ให้เอสเอ็มอี8,500ราย

 

ทันหุ้น –SCB ตั้งเป้าปล่อยซอฟต์โลน 2 หมื่นล้านบาท ต่อสายป่านลูกค้าเอสเอ็มอีในปัจจุบันและลูกค้ารายใหม่ รวมกว่า 8,500 ราย ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 พร้อมเพิ่มทางเลือกให้เอสเอ็มอีในการจัดการธุรกิจภายใต้สถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ผ่านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset Warehousing) เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน

 

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB กล่าวว่า หลังจากที่ธนาคารได้เริ่มเปิดให้สินเชื่อซอฟต์โลนในรอบนี้นับตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2564 เป็นต้นมา มีผู้ประกอบการได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารไทยพาณิชย์ไปแล้วกว่า 4,700 ราย วงเงินสินเชื่อกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการเปิดกว้างโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อให้กับลูกค้าเอสเอ็มอีของธนาคารปัจจุบัน และลูกค้ารายใหม่อย่างทั่วถึง โดยมุ่งเน้นให้สินเชื่อกับทุกกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ มากน้อยขึ้นกับประเภทธุรกิจ

 

โดยธนาคารตั้งเป้าหมายว่าจะสามารถปล่อยสินเชื่อซอฟต์โลนให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ จำนวน 20,000 ล้านบาท รวมถึงการให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เพื่อร่วมกันประคับประคองผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเป็นเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

 

*ช่วยเอสเอ็มอี-รายใหม่

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประสงค์ขอซอฟต์โลนตามมาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ จะต้องไม่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยกำหนดคุณสมบัติของลูกค้าแต่ละกลุ่มดังนี้ สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีปัจจุบัน ที่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารอยู่แล้วไม่เกิน 500 ล้านบาท สามารถขอซอฟต์โลนได้สูงสุด 30% ของวงเงินสินเชื่อเดิม สูงสุด 150 ล้านบาท

 

สำหรับลูกค้าเอสเอ็มอีรายใหม่ที่ไม่มีวงเงินสินเชื่อกับธนาคารทุกแห่ง สามารถขอสินเชื่อได้สูงสุด 20 ล้านบาท โดยนับรวมทุกวงเงินจากทุกสถาบันการเงิน ทั้งนี้ลูกค้าทั้งสองกลุ่มจะได้รับอัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรกของสัญญา พร้อมได้รับการยกเว้นดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรกจากการสนับสนุนของกระทรวงการคลัง อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกของสัญญา กำหนดระยะเวลาผ่อนชำระยาวถึง 10 ปี และได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการขอสินเชื่อ Front End Fee

 

นอกจากนี้ สินเชื่อภายใต้โครงการได้รับการค้ำประกันจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นระยะเวลา 10 ปี พร้อมทั้งลดภาระค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเหลือเฉลี่ยไม่เกิน 1.75% ต่อปี โดยรัฐบาลจะชดเชยค่าธรรมเนียมดังกล่าวตลอดอายุสัญญาเฉลี่ยไม่เกิน 3.5% ต่อปี

 

*เสนอสภาพิจารณา

 

ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ได้นำเสนอพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2654 (พ.ร.ก.ซอฟท์โลน) ฉบับใหม่ วงเงินรวม 350,000 ล้านบาท โดยสืบเนื่องจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตในระบบการเงินของประเทศปรับสูงขึ้นมาก

 

ถึงแม้ภาครัฐได้ช่วยเหลือต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบธุรกิจจำนวนมากใช้เวลาฟื้นตัวและต้องการได้รับความช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถประกอบธุรกิจได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการทางการเงิน เพื่อสร้างสภาพคล่องเพิ่มเติมแก่ผู้ประกอบธุรกิจและแหล่งทุนในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม รวมถึงมีมาตรการลดภาระหนี้ของผู้ประกอบธุรกิจ

 

สำหรับพ.ร.ก.ซอฟท์โลนฉบับใหม่ 350,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้ 1.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อ วงเงิน 250,000 ล้านบาท กำหนดให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สามารถปล่อยสินเชื่อให้สถาบันการเงินในอัตรา 0.01% ต่อปี ระยะเวลากู้ยืม 5 ปี และธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถขยายระยะเวลาสินเชื่อได้

 

และ 2.มาตรการ "พักทรัพย์ พักหนี้" ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจกู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินในอัตรา 0.01% ต่อปี วงเงิน 100,000 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืม 5 ปี

 

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง