อย่าลืม! ช้อปดีมีคืน ยื่นภาษีได้ปีไหน สินค้าอะไรบ้าง ใช้ลดหย่อนภาษี 2565
ใกล้สิ้นปี ต้องเตรียม "ลดหย่อนภาษี" โดยโครงการช้อปดีมีคืน 2565 ที่ให้ซื้อสินค้าและบริการได้ไม่เกิน 30,000 บาท ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษี 2565 ได้ เช็กด่วนซื้อสินค้าลดหย่อนภาษี 2565 กับช้อปดีมีคืน มีอะไรบ้างและช้อปดีมีคืน ยื่นภาษียังไงบ้าง
ช้อปดีมีคืน 2565
ช้อปดีมีคืน 2565 คือ มาตรการซื้อสินค้าหรือค่าบริการสำหรับการซื้อสินค้าหรือการรับบริการในราชอาณาจักร สำหรับบุคคลธรรมดาเท่านั้น ไม่รวมห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 30,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565
ไม่รวมถึงค่าสินค้าและบริการบางชนิด เช่น ค่าสุรา เบียร์ และไวน์ ค่ายาสูบ ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ ค่าบริการจัดนำเที่ยว ค่าที่พักในโรงแรม ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย เป็นต้น
ช้อปดีมีคืน ยื่นภาษีได้ปีไหน
ช้อปดีมีคืน ปี 2565 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 สามารถนำไปลดหย่อนภาษีปี 2565 ได้ โดยช่วงเวลายื่นภาษีเริ่มตั้งแต่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2566
สินค้าและบริการ ช้อปดีมีคืน ลดหย่อนภาษีได้
- สินค้าและบริการทั่วไปที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
- หนังสือ (รวมถึง e-book)
- สินค้า OTOP ลงทะเบียนกับกรมพัฒนาชุมชนแล้ว
- อื่นๆ เช่น
- ค่าซื้อทองรูปพรรณ เฉพาะค่ากำเหน็จ (ตามมูลค่าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม) และ ต้องได้รับหลักฐานเป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4
- ค่าซ่อมรถ (หากเป็นการซ่อมและจ่ายค่าซ่อมระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2565 ถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565)
- ค่าธรรมเนียมเทรดหุ้น (หากค่าธรรมเนียมการเทรดหุ้นมีภาษีมูลค่าเพิ่ม และกระทำในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2565)
- ค่าบริการชาร์ตไฟของรถยนต์ไฟฟ้าผ่านจุดบริการเครื่องชาร์ตรถไฟฟ้า (หากค่าบริการชาร์ตไฟของรถยนต์ไฟฟ้ามีภาษีมูลค่าเพิ่ม กระทำในช่วงวันที่ 1 มกราคม - 15 กุมภาพันธ์ 2565 และได้รับหลักฐานใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปตามมาตรา 86/4 จากผู้ประกอบการจดทะเบียน)
สินค้าและบริการ ช้อปดีมีคืน ลดหย่อนภาษีไม่ได้
- ค่าสุรา เบียร์ และไวน์
- ค่ายาสูบ
- ค่าน้ำมันและก๊าซสำหรับเติมยานพาหนะ
- ค่ารถยนต์ รถจักรยานยนต์ และเรือ
- ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสารและค่าบริการหนังสือพิมพ์และนิตยสารที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต
- ค่าบริการจัดนำเที่ยวที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยวตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจนำเที่ยว และมัคคุเทศก์
- ค่าที่พักในโรงแรมที่จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม
- ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าบริการสัญญาณโทรศัพท์ ค่าบริการสัญญาณอินเทอร์เน็ต
- ค่าเบี้ยประกันวินาศภัย
ช้อปดีมีคืน ยื่นภาษียังไง
หลักฐานที่ใช้ ในการใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษี ช้อปดีมีคืน 2565
- ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ตามมาตรา 86/4 (ใบกำกับภาษีที่มีข้อความระบุชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ) เว้นแต่สินค้าหรือบริการดังต่อไปนี้ ที่ซื้อมาจากผู้ประกอบการที่ไม่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ต้องมีหลักฐานใบรับ ซึ่งมีรายการอย่างน้อยตามมาตรา 105 ทวิ พร้อมระบุชื่อ และนามสกุลของผู้มีเงินได้
- หนังสือ
- บริการหนังสือที่อยู่ในรูปของข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต (e-Book)
- สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นสินค้าที่ได้ลงทะเบียนกับกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว
ใบกำกับภาษีที่ใช้ลดหย่อนภาษี ช้อปดีมีคืนได้
ใบกำกับภาษีที่มีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
- คำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
- ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
- ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
- หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
- ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ
- จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าและหรือของบริการให้ชัดแจ้ง
- วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
- ข้อความอื่นที่อธิบดีกำหนด เช่น คำว่าเอกสารออกเป็นชุด สำเนาใบกำกับภาษี ฯลฯ
หากใบกำกับภาษีนั้นมีรายการครบถ้วนตามมาตรา 86/4 แม้จะมีการเขียนชื่อ หรือที่อยู่ผู้ซื้อสินค้าผิด หรือมีการแก้ไขข้อความ ก็สามารถใช้หักลดหย่อนได้
ลดหย่อนภาษี "ช้อปดีมีคืน"
- เงินได้สุทธิ 0-150,000 บาท (ได้รับการยกเว้นภาษีอยู่แล้ว ไม่ได้ประโยชน์จากโครงการ “ช้อปดีมีคืน”)
- เงินได้สุทธิ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5% ช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิคืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท
- เงินได้สุทธิ 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10% ช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
- เงินได้สุทธิ 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15% ช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
- เงินได้สุทธิ 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20% ช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 6,000 บาท
- เงินได้สุทธิ 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25% ช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 7,500 บาท
- เงินได้สุทธิ 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30% ช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
- เงินได้สุทธิตั้งแต่ 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35% ช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท
เงินได้สุทธิ | อัตราภาษี | สิทธิได้คืนภาษีสูงสุด (บาท) |
0-150,000 บาท | ได้รับการยกเว้นภาษี | ไม่ได้ประโยชน์จากโครงการ “ช้อปดีมีคืน” |
150,001-300,000 บาท | 5% | 1,500 |
300,001-500,000 บาท | 10% | 3,000 |
500,001-750,000 บาท | 15% | 4,500 |
750,001-1,000,000 บาท | 20% | 6,000 |
1,000,001-2,000,000 บาท | 15% | 7,500 |
2,000,001-5,000,000 บาท | 30% | 9,000 |
5,000,001 บาทขึ้นไป | 35% | 10,500 |
อย่างไรก็ตามมาตรการ ช้อปดีมีคืน 2565 เป็นการซื้อสินค้าหรือค่าบริการในแต่ละครั้งหากมีมูลค่าไม่ถึง 30,000 บาท สามารถนำการซื้อหลายครั้งมารวมกันได้ แต่ใช้สิทธิได้ไม่เกิน 30,000 บาท
ข้อมูล กรมสรรพากร
--------------------
เกาะติดสถานการณ์โควิด-19 ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก
ทุกประเด็นร้อนข่าวสาร สาระ ทันเหตุการณ์ พูดคุยกันได้ 24 ชม.
คลิกเลย >>> TrueID Community <<<