รีเซต

เรื่องเล่า 'สะพาน' จบยุค 'กระเช้าเคเบิล' ข้ามหุบเหวในยูนนาน

เรื่องเล่า 'สะพาน' จบยุค 'กระเช้าเคเบิล' ข้ามหุบเหวในยูนนาน
Xinhua
26 เมษายน 2564 ( 22:00 )
113

 

ข่าววันนี้ คุนหมิง, 26 เม.ย. (ซินหัว) -- สมัยก่อนโทรศัพท์มือถือเครื่องเล็กๆ ของเจียงซื่อเสว์ ชาวหมู่บ้านอิงเกอ อำเภอเฉี่ยวเจีย มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน มักส่งเสียงดังอยู่ตลอดเวลาเพราะเพื่อนบ้านโทรตามให้มาช่วยชักรอกกระเช้าเคเบิลข้ามหุบเขาสูงชัน สวนทางกับทุกวันนี้ที่นานๆ ถึงจะมีสายเรียกเข้าเพื่อขอความช่วยเหลือ

 

"ตอนนี้มีสะพานแล้ว ใครจะเลือกกระเช้าเคเบิลกันอีกล่ะ" คำถามชวนขบคิดจากเจียง วัย 75 ปี ผู้อาศัยอยู่บนภูเขาเขียวชอุ่มของอวิ๋นหนานมาทั้งชีวิต และทำอาชีพชักรอกกระเช้าเคเบิลพาชาวบ้านข้ามแม่น้ำจินซา จนกระทั่งทางการท้องถิ่นตัดสินใจก่อสร้างสะพานเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา นำพาชายชราบอกกล่าวคำอำลาวิถีชีวิตอันคุ้นเคย

 

สถิติจากสำนักขนส่งอวิ๋นหนานระบุว่าอวิ๋นหนานดำเนินโครงการเปลี่ยนสายเคเบิลเป็นสะพานเสร็จสิ้นแล้ว 199 โครงการ ด้วยเงินลงทุนมากกว่า 2,000 ล้านหยวน (ประมาณ 9.7 พันล้านบาท) โดยสายเคเบิลเหล่านั้นหรือที่เรียกขานว่า "จ้วง" เป็นวิธีการเก่าแก่ที่ใช้เข็มขัดผูกรัดลำตัวก่อนโจนทะยานข้ามแม่น้ำหรือหุบเขา

 

ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน (PRC) ชาวบ้านแถบตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเคยชินกับการใช้มีดพร้าถากฟันต้นไม้ใบหญ้ากรุยทาง ปีนป่ายเถาวัลย์ และห้อยโหนสายเคเบิล เพื่อสัญจรผ่านหมู่เขาและแม่น้ำแสนคดเคี้ยว

 

ภูมิประเทศที่สลับซับซ้อนส่งผลกระทบต่อชีวิตของเจียงอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง ทำให้การเดินทางสู่หมู่บ้านใกล้เคียงอย่างหมู่บ้านเฝิงเจียผิงในอำเภอปู้ทัวของมณฑลซื่อชวน (เสฉวน) กลับต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงเพราะมีแม่น้ำจินซากั้นกลาง ผู้คนต้องเดินเท้าไต่เขาก่อนนั่งเรือเล็กสู่จุดหมาย

 

ปี 1999 เจียงและชาวบ้านอีกหลายคนจึงรวบรวมเงินกันติดตั้งสายเคเบิลเหล็กข้ามหุบเขาที่มีแม่น้ำจินซาทอดยาวอยู่เบื้องล่าง ซึ่งช่วยลดทอนระยะเวลาในการเดินทางลงอย่างมาก พร้อมกับสร้างอาชีพชักรอกกระเช้าเคเบิลให้เจียงนับแต่นั้นเป็นต้นมา

 

"ตอนนั้นงานยุ่งมากแต่ก็สนุก" เจียงกล่าว "ยังเคยคิดเลยว่าต้องรับหน้าที่ชักรอกกระเช้าเคเบิลไปตลอดชีวิตซะแล้ว"

 

อำเภอเฉี่ยวเจีย บ้านเกิดของเจียง อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแคว้นปกครองตนเองนู่เจียง กลุ่มชาติพันธุ์ลี่ซู่ โดยภูมิประเทศของแคว้นนู่เจียงมากกว่าร้อยละ 98 เป็นหุบเขาสูงชันอันประกอบด้วยภูเขาหลัก 4 ลูก และแม่น้ำหลัก 3 สาย

 

ในอดีตนู่เจียงใช้เชือกไผ่ในการโรยตัวจนกระทั่งปี 1957 สายเคเบิลเหล็กเส้นแรกปรากฏขึ้นและเข้ามาแทนที่เชือกไผ่ แน่นอนว่าสายเคเบิลทำให้การเดินทางสะดวกสบายขึ้นอีก แต่ก็เป็นประสบการณ์น่าหวาดหวั่นสำหรับชาวบ้านหลายต่อหลายคน

 

เติ้งเฉียนตุย หมอจากหมู่บ้านลาหม่าตี่ ซึ่งมักเดินทางไปพบปะผู้ป่วยด้วยการห้อยโหนสายเคเบิล เล่าว่า "หมู่บ้านทั้งสองถูกคั่นด้วยแม่น้ำนู่เจียง ชาวบ้านทั้งสองฝั่งต้องโรยตัวตามสายเคเบิลเพื่อไปเยี่ยมญาติและจับจ่ายซื้อของ ผมก็ต้องพึ่งพาสายเคเบิลเพื่อไปเยี่ยมคนไข้"

 

เรื่องราวของเติ้งได้รับความสนใจเป็นวงกว้างในปี 2011 กระตุ้นให้ทางการท้องถิ่นเร่งสร้างสะพานข้ามแม่น้ำนู่เจียงและแม่น้ำหลานชางที่เชื่อมต่อหมู่บ้านลาหม่าตี่กับโลกภายนอกจนเสร็จในปีเดียวกัน ทำให้เติ้งสามารถขี่รถมอเตอร์ไซค์ไปเยี่ยมคนไข้ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว

 

ปี 2013 ทางการจีนตัดสินใจทยอยก่อสร้างสะพาน 309 แห่ง เพื่อช่วยให้ผู้คนในพื้นที่ทุรกันดารอันห่างไกลทางตะวันตกของประเทศไม่ต้องแขวนชีวิตไว้กับสายเคเบิลอีกต่อไป โดยกระเช้าเคเบิลในหมู่บ้านของเจียงถูกแทนที่ด้วยสะพานกว้าง 9 เมตร และยาวกว่า 380 เมตร ซึ่งก่อสร้างเสร็จในเดือนมิถุนายน 2019

 

"สะพานแห่งนี้ทำให้เราข้ามแม่น้ำได้ในเวลาไม่กี่นาที" หนึ่งในชาวหมู่บ้านอิงเกอกล่าว "เราไปตลาด เยี่ยมญาติ และชอปปิงได้ง่ายๆ แค่เพียงเหยียบคันเร่ง"

 

แม้ปัจจุบันชาวหมู่บ้านอิงเกอไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสายเคเบิลอีกแล้ว แต่ก็ตัดสินใจเก็บกระเช้าไว้เป็นแม่เหล็กของธุรกิจท่องเที่ยว โดยสายเคเบิลความยาว 470 เมตร ที่แขวนสูงเหนือแม่น้ำ 260 เมตร และมีการซ่อมบำรุงสม่ำเสมอ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

 

เจียงทิ้งท้ายว่าการใช้กระเช้าเคเบิลอาจกลายเป็นเรื่องราวของวันวาน แต่ขณะเดียวกันก็เป็นหลักฐานแสดงย่างก้าวการพัฒนาของจีน

 

 

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง