สิ่งแวดล้อม : ช่องโหว่ชั้นโอโซนที่ใหญ่ที่สุดในขั้วโลกเหนือปิดตัวลงแล้ว
ช่องโหว่ในชั้นโอโซนที่ใหญ่ที่สุดที่เคยพบในขั้วโลกเหนือได้ปิดตัวลงโดยสมบูรณ์แล้ว หลังจากค้นพบได้ไม่ถึงเดือน
ย้อนไปปลายเดือน มี.ค. นักวิทยาศาสตร์จากหน่วยบริการสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศโคเปอร์นิคัส (Copernicus Atmosphere Monitoring Service) พบช่องโหว่ "ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" ในชั้นบรรยากาศเหนือภูมิภาคอาร์กติก
จากนั้นช่องโหว่นี้ก็กลายเป็นช่องโหว่ที่ใหญ่ที่สุดที่พวกเขาเคยพบในซีกโลกเหนือ โดยมีขนาดใหญ่เท่ากับเกาะกรีนแลนด์
แต่วันที่ 23 เม.ย. หน่วยบริการสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศโคเปอร์นิคัส ก็ประกาศข่าวดีทางทวิตเตอร์ว่าช่องโหว่ชั้นโอโซนได้ปิดตัวลงแล้ว
- ไฟป่าออสเตรเลีย : โลกขยับเข้าใกล้ “การสูญพันธุ์ระดับมหึมา ครั้งที่ 6”
- นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกกว่าหมื่นคนประกาศ "ภาวะฉุกเฉินด้านภูมิอากาศ"
- ภูมิอากาศ-ฤดูกาลของเมืองใหญ่ทั่วโลกจ่อผันแปรรุนแรงใน 30 ปีข้างหน้า
ชั้นโอโซนสำคัญอย่างไร
ชั้นโอโซนเป็นเกราะป้องกันโลกจากรังสีที่เป็นอันตรายจากดวงอาทิตย์ โอโซนส่วนใหญ่ของโลกอยู่ในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์ ที่ระดับความสูง 10-40 กิโลเมตรเหนือพื้นดิน ชั้นโอโซนเป็นเกราะป้องกันรังสีอัลตราไวโอเลตที่ดีที่สุดชนิดหนึ่ง
ช่องโหว่ชั้นโอโซนอาจส่งผลกระทบต่ออัตราการละลายของน้ำแข็ง ระบบภูมิคุ้มกันของสิ่งมีชีวิต และเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งผิวหนังและต้อกระจกในมนุษย์ หน่วยบริการสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศโคเปอร์นิคัสบอกว่านี่นับเป็นช่องโหว่ในชั้นโอโซนที่แท้จริงอันแรก แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเคยมีช่องโหว่เล็ก ๆ มาแล้ว
ช่องโหว่เกิดขึ้นและหายไปได้อย่างไร
นักวิทยาศาสตร์บอกว่าการขยายตัวอย่างรวดเร็วของช่องโหว่เป็นผลจากสภาพอากาศเหนือภูมิภาคอาร์กติกที่แปลกประหลาด
เมื่อลมแรงขังลมที่เย็นเยือกอยู่เหนือครอบน้ำแข็งเป็นเวลาหลายสัปดาห์ติดต่อกัน มันจะสร้างปฏิกริยาที่นักวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า โพลาร์ วอร์เท็กซ์ (polar vortex) เป็นกระแสลมวนที่หมุนตัวเอง สร้างแรงกระทบจนเกิดช่องโหว่ของโอโซนในชั้นบรรยากาศสตราโทสเฟียร์
แม้ว่าตอนนี้ช่องโหว่จะปิดตัวลงแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์บอกว่าอาจเกิดช่องโหว่ขึ้นอีกได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับสภาพทางอุตุนิยมวิทยา
หน่วยบริการสังเกตการณ์ชั้นบรรยากาศโคเปอร์นิคัส บอกว่า นี่ไม่เกี่ยวกับมาตรการล็อกดาวน์รับมือกับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่เกิดจากปฏิกริยา โพลาร์ วอร์เท็กซ์ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน
ช่องโหว่โอโซนเหนือแอนตาร์กติกายังอยู่
นักวิทยาศาสตร์นอกจากช่องโหว่ในชั้นโอโซนเหนือขั้วโลกเหนือแล้ว ยังมีช่องโหว่เหนือทวีปแอนตาร์กติกาเปิดขึ้นใหม่ทุกปีในช่วง 35 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามาก
แม้ว่าขนาดจะต่างกันไปทุกปี แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณว่าช่องโหว่เหล่านั้นจะปิดตัวลง สภาพชั้นโอโซนค่อย ๆ ฟื้นตัว ตั้งแต่เมื่อปี 1996 ที่มีการสั่งห้ามใช้สารเคมีจำพวกคลอโรฟลูโอโรคาร์บอน (ซีเอฟซี) ซึ่งมักใช้เป็นสารทำความเย็นและใช้ในการผลิตสเปรย์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นตัวการทำลายชั้นโอโซนให้บางลง
องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization) ระบุว่า ช่องโหว่โอโซนเหนือทวีปแอนตาร์ติกแคบลงราว 1-3 เปอร์เซ็นต์ต่อทศวรรษตั้งแต่ปี 2000
มีการพบช่องโห่วชั้นโอโซนเหนือทวีปแอนตาร์ติกที่เล็กที่สุดเมื่อปีที่แล้ว แต่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกบอกว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อยถึงปี 2050 กว่ามันจะปิดตัวลงอย่างสมบูรณ์