รีเซต

ฟิลิปปินส์สู้วิกฤตพลาสติก เริ่มเปลี่ยนจากใช้ซองเป็น “รีฟิล”

ฟิลิปปินส์สู้วิกฤตพลาสติก เริ่มเปลี่ยนจากใช้ซองเป็น “รีฟิล”
TNN ช่อง16
17 มิถุนายน 2568 ( 10:00 )
34

ในขณะที่การเสียชีวิตจากโรคหัวใจยังคงเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของชาวฟิลิปปินส์นับตั้งแต่ปี 1980 การค้นพบล่าสุดเกี่ยวกับสารฟทาเลต (phthalates) สารเคมีในซองพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหารและของใช้รายวัน ชี้ชัดถึงความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ซองพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวกับอัตราการตายที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าวิตกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีผู้เสียชีวิตกว่า 110,000 คนจากการสัมผัสสารเคมีเหล่านี้


แม้ฟิลิปปินส์จะพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง แต่ประชากรกว่า 15% ยังคงอยู่ใต้เส้นความยากจน ซองพลาสติกขนาดเล็กที่เรียกกันว่า “ซองติ่งกี้” (tingi sachets) จึงกลายเป็นวิธีเดียวที่คนยากจนจะเข้าถึงของใช้พื้นฐานในชีวิตประจำวัน เช่น กาแฟทรีอิวัน แชมพู ยาสีฟัน หรือเครื่องปรุงอาหาร ซองเหล่านี้หาซื้อได้ทั่วไปตามร้าน “ซารี-ซารี” (sari-sari stores) ซึ่งเป็นร้านของชำขนาดเล็กในชุมชน แต่เบื้องหลังของความสะดวกนั้นกลับนำมาซึ่งมลพิษครั้งใหญ่ 

โดยรายงานของ Global Alliance for Incinerator Alternatives (GAIA) เมื่อปี 2020 ระบุว่าชาวฟิลิปปินส์ใช้ซองพลาสติกมากถึง 164 ล้านชิ้นต่อวัน และซองเหล่านี้มีโครงสร้างซับซ้อนจากพลาสติกหลายชนิดผสมอลูมิเนียม ทำให้ไม่สามารถรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงกลายเป็นของเสียตกค้างกว่า 52% ของพลาสติกที่ไม่สามารถจัดการได้ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของชุมชน โดยเฉพาะในฤดูพายุที่น้ำท่วมง่ายและขยะไหลสู่ทะเล


เพื่อตอบโจทย์วิกฤตสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กรีนพีซฟิลิปปินส์จึงเปิดตัวโครงการ “Kuha sa Tingi” ในปี 2023 โดยนำแนวคิดการซื้อสินค้าในปริมาณน้อย (ติ่งกี้) กลับมาใช้อีกครั้ง แต่เปลี่ยนรูปแบบเป็นการเติมจากตู้รีฟิลแทนการใช้ซองพลาสติก

โครงการนำร่องในสองเมืองที่มีปริมาณขยะสูงสุดของกรุงมะนิลา ได้แก่ เกซอนซิตี และซานฮวน โดยร่วมมือกับร้านซารี-ซารีในท้องถิ่น ติดตั้งสถานีรีฟิลที่ให้ประชาชนพกภาชนะมาเติมผลิตภัณฑ์ในปริมาณที่ต้องการ เช่น น้ำยาล้างจาน น้ำส้มสายชู และของใช้จำเป็นอื่น ๆ ในราคาที่เข้าถึงได้

.

จากรายงานความสำเร็จของโครงการในปี 2024 พบว่าการติดตั้งสถานีรีฟิลสามารถลดการใช้ซองพลาสติกได้กว่า 47,000 ชิ้น ผู้บริโภคประหยัดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยได้ถึง 201% และเจ้าของร้านมีรายได้เพิ่มขึ้นประมาณ 15% โดยมีผู้ใช้บริการหลากหลายกลุ่มทั้งจากระดับรากหญ้าและชนชั้นกลาง


สิ่งที่น่าสนใจคือผลกระทบเชิงพฤติกรรมของโครงการ “Kuha sa Tingi” ไม่ได้จบแค่เรื่องการซื้อขาย แต่ช่วยจุดประกายให้ประชาชนและผู้ค้าหันมาตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีความรับผิดชอบ หลายร้านค้าเริ่มวางแผนสินค้าในร้านตามกำลังซื้อและความต้องการของชุมชน พร้อมทั้งส่งเสริมให้ลูกค้านำภาชนะมาใช้ซ้ำ

ผู้บริหารเมืองเกซอนซิตีอย่างนายกเทศมนตรีจอย เบลมอนเต ให้ความเห็นว่า “โครงการนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมไร้ขยะไม่เพียงแค่เป็นไปได้ แต่ยังเข้าถึงได้ง่ายและครอบคลุมทุกกลุ่มรายได้”


แม้ความสำเร็จของ “Kuha sa Tingi” จะเป็นก้าวแรกที่น่าชื่นชม แต่กรีนพีซยังคงเรียกร้องให้รัฐบาลและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่ม FMCG (Fast-Moving Consumer Goods) หยุดผลิตบรรจุภัณฑ์ซองพลาสติก และร่วมกันผลักดันกรอบนโยบายที่ควบคุมวงจรชีวิตของพลาสติกอย่างรอบด้าน ตั้งแต่การออกแบบ ผลิต การบริโภค ไปจนถึงการจัดการหลังใช้


หากการขับเคลื่อนนี้ขยายผลได้จริง ไม่เพียงจะช่วยลดมลพิษจากซองพลาสติก แต่ยังสามารถสร้างทางเลือกที่ยั่งยืนให้กับประชาชนทุกระดับ และลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพจากสารเคมีอันตรายอย่างฟทาเลต ซึ่งกำลังคร่าชีวิตผู้คนอย่างเงียบ ๆ ทั่วเอเชียแปซิฟิกอีกด้วย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง