รีเซต

ชาวอำเภอตะกั่วทุ่งร่วมรณรงค์ชวนประชาชนกำจัดลูกน้ำยุงลาย หลังไข้เลือดออกระบาดในจังหวัดพังงาเกือบ 300 คน

ชาวอำเภอตะกั่วทุ่งร่วมรณรงค์ชวนประชาชนกำจัดลูกน้ำยุงลาย หลังไข้เลือดออกระบาดในจังหวัดพังงาเกือบ 300 คน
77ข่าวเด็ด
24 กรกฎาคม 2563 ( 09:38 )
175
ชาวอำเภอตะกั่วทุ่งร่วมรณรงค์ชวนประชาชนกำจัดลูกน้ำยุงลาย หลังไข้เลือดออกระบาดในจังหวัดพังงาเกือบ 300 คน

พังงา-ชาวอำเภอตะกั่วทุ่งร่วมรณรงค์ชวนประชาชนกำจัดลูกน้ำยุงลาย หลังไข้เลือดออกระบาดในจังหวัดพังงาเกือบ 300 คน

นายบัญชา ธนูอินทร์ นายอำเภอตะกั่วทุ่ง พร้อมด้วยนายอนุรักษ์ อันติมานนท์ นายกเทศมนตรีตำบลกระโสม นำคณะส่วนราชการในอำเภอตะกั่วทุ่ง ผู้บริหาร-เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลกระโสม โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลกระโสม ผู้นำชุมชน เครือข่าย อสม. กว่า 100 คน ร่วมกิจกรรมรณรงค์ควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ระดมพ่นหมอกควันกำจัดยุงลายในคูน้ำและบ้านเรือนประชาชน หลังเข้าสูช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่ไข้เลือดออกระบาดเป็นประจำทุกปี และในปีนี้พบว่ามีผู้ป่วยไข้เลือดออกในจังหวัดพังงาแล้วกว่า 280 คน โดยขบวนรณรงค์ควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกเดินรณรงค์ในเขตตลาดกระโสม ไปสิ้นสุดที่ศูนย์ราชการอำเภอตะกั่วทุ่ง  ซึ่งได้ร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่ช่วยกันทำความสะอาดแหล่งชุกชุมหรือแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายภายในศูนย์ราชการ และบ้านเรือนประชาชน

นายอนุรักษ์ อันติมานนท์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไข้เลือด ที่มียุงลายเป็นพาหะ จะเกิดการระบาดขึ้นทุกปีในช่วงหน้าฝน เนื่องจากฝนตกอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีน้ำขังนิ่งอยู่ตามภาชนะต่างๆ ทั้งในบ้าน บริเวณรอบๆบ้านและที่สาธารณะ กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดีของลูกน้ำยุงลาย ทำให้ยุงลายแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว และเพิ่มจำนวนมากขึ้น เมื่อยุงลายเพิ่มมากขึ้น การระบาดของโรคที่มียุงลายเป็นพาหะโดยเฉพาะโรคไข้เลือดออกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทางเทศบาลตำบลกระโสมจึงร่วมกับอำเภอตะกั่วทุ่งจัดกิจกรรมนี้ขึ้น ให้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย เพื่อจะได้ป้องกัน 3 โรคจากยุงลาย คือ โรคไข้เลือดออก โรคติดเชื้อไวรัสซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย

ด้านนายนเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพังงา เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดพังงา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563  – 23 กรกฎาคม 2563 มีรายงานผู้ป่วยสงสัย ไข้เลือดออก จำนวน 287 ราย เพศชาย 148 ราย เพศหญิง 139 ราย พื้นที่ที่พบจำนวนผู้ป่วยสูงสุด คือ อำเภอเมืองพังงา 187 ราย อำเภอตะกั่วทุ่ง 26 ราย อำเภอท้ายเหมือง 25 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ กลุ่มอายุ 10-14 ปี รองลงมา กลุ่มอายุ 15-24 ปี และ กลุ่มอายุ 5-9 ปี ตามลำดับ จึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการควบคุมด้วยมาตรการ 3 เก็บ เพื่อป้องกัน 3 โรค พร้อมสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายพร้อมวิเคราะห์สถานการณ์และประเมินความเสี่ยงระดับพื้นที่

โดยใช้กระบวนการควบคุมไม่ให้โรคแพร่ระบาดเพิ่มในพื้นที่ที่พบผู้ป่วยไข้เลือดออก และลงกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่บ้านชุมชนผู้ป่วยภายใน 3 ชั่วโมง ให้ทีมสอบสวนโรคเคลื่อนที่เร็วลงพื้นที่ควบคุมโรคภายใน 1 วันจัดทีมแพทย์ที่ปรึกษา แนวทางการรักษาโรคไข้เลือดออกและแนวทางการส่งต่อผู้ป่วยให้กับ รพ.ชุมชนทุกแห่ง ขอความร่วมมือร้านขายยา คลินิก ในการระมัดระวังการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยที่มีอาการไข้ จัดเตรียมเวชภัณฑ์อุปกรณ์และบุคลากรในการควบคุมป้องกันโรคต่อไป นอกจากนี้ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพังงาได้เร่งให้สถานบริการสาธารณสุขร่วมกับผู้นำท้องที่ ผู้นำท้องถิ่น อสม.และประชาชนเจ้าของบ้านเรือน เร่งดำเนินการควบคุมโรคไข้เลือดออกอีกด้วย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง