รีเซต

สู้ศึก! "ไทยน้ำทิพย์" เบอร์ 1 ตลาดน้ำอัดลม ยื่นไฟลิ่ง ขาย IPO l การตลาดเงินล้าน

สู้ศึก! "ไทยน้ำทิพย์" เบอร์ 1 ตลาดน้ำอัดลม ยื่นไฟลิ่ง ขาย IPO l การตลาดเงินล้าน
TNN ช่อง16
12 พฤษภาคม 2568 ( 14:06 )
2

บริษัท ไทยน้ำทิพย์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องดื่มแบรนด์ โคคา-โคล่า แฟนต้า สไปร์ท และน้ำดื่ม น้ำทิพย์ ในประเทศไทย ได้ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก หรือ IPO ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. โดยจะเสนอขายหุ้น จำนวนกว่า 612 ล้านหุ้น คิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออก และเรียกชำระแล้วทั้งหมดภายหลังการขายหุ้นเพิ่มทุนในครั้งนี้ 

มีวัตถุประสงค์ จะใช้เงินจากการระดมทุน เพื่อนำไปพัฒนาและขยายธุรกิจของบริษัทฯ และอีกส่วนหนึ่งใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนทั่วไปสำหรับการดำเนินงาน

โดย ไทยน้ำทิพย์ เป็นผู้ดำเนินธุรกิจ จัดเตรียม บรรจุ จัดจำหน่ายและเครื่องดื่ม ตามสัญญากับ The Coca-Cola Company (เดอะ โคคา-โคล่า คอมพานี) และ Schweppes Holdings Limited (ชเวปส์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด) ในพื้นที่ 63 จังหวัดในประเทศไทย (ยกเว้น 14 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ของบริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน)

นอกจากธุรกิจในไทยแล้ว ยังมีการลงทุนธุรกิจในประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งลาว กัมพูชา และเวียดนาม โดยมีธุรกิจในประเทศลาว ผ่านการถือหุ้นทางตรงและทางอ้อม ในบริษัท ลาว โคคา-โคล่า บอทลิ่ง (Lao Coca-Cola Bottling Co.,Ltd) ในสัดส่วน 100% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด

ส่วนที่ กัมพูชา ได้ลงทุนในบริษัท ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มและประกอบธุรกิจตามสัญญากับ เดอะ โคคา-โคล่า คอมพานี และ ชเวปส์ โฮลดิ้ง ลิมิเต็ด ในประเทศกัมพูชา สัดส่วนร้อยละ 30 ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด

และยังอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อเข้าลงทุนร้อยละ 30 ของทุนก่อตั้งทั้งหมดในบริษัทย่อย ของ สไวร์ โคคา-โคล่า (Swire Coca-Cola) ที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายเครื่องดื่มในประเทศเวียดนาม

ทั้งนี้ ไทยน้ำทิพย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2502 โดยครอบครัวผู้ก่อตั้ง 3 ตระกูล ได้แก่ สารสิน, เคียงศิริ และ บุญสูง ร่วมกับ เดอะ โคคา-โคล่า คอมพานี เพื่อทำตลาดเครื่องดื่มในประเทศไทย ที่มีความต้องการสูงขึ้น

จากนั้นมีการลงทุนสร้างโรงงานและขยายธุรกิจมาต่อเนื่อง จนปัจจุบัน มีศูนย์กระจายสินค้ามากกว่า 50 แห่ง และโรงงานผลิตเครื่องดื่ม 5 แห่ง ในพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้จัดจำหน่ายในไทย และมีเครือข่ายร้านค้า ที่ใช้ในการกระจายเครื่องดื่มกว่า 495,000 แห่ง

ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้งธุรกิจ จนถึงปัจจุบัน ไทยน้ำทิพย์ มีอายุ 65 ปี กำลังเข้าสู่ปีที่ 66 ในปีนี้ โดยครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในประเทศไทย

เห็นได้จาก ข้อมูล ณ สิ้นปี 2567 ไทยน้ำทิพย์ มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ของผู้ผลิตในตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ทั้งในแง่ขายปลีก และในแง่ปริมาณ ซึ่งตัวเลขส่วนแบ่งตลาด อยู่ที่ ร้อยละ 15.6 และ 16.4 ตามลำดับ 

เมื่อแยกตามรายกลุ่มผลิตภัณฑ์ กลุ่มเครื่องดื่มน้ำอัดลม ไทยน้ำทิพย์ มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 เช่นกัน ที่ร้อยละ 51.4 (เป็นตัวเลขที่ไม่รวม 14 จังหวัดภาคใต้) ส่วนประเภทน้ำดื่ม มีส่วนแบ่งตลาดที่ร้อยละ 9.4 และอยู่อันดับ 3 และประเภทเครื่องดื่มน้ำผลไม้พร้อมดื่ม (แบรนด์มินิทเมด) มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 5 ที่ร้อยละ 6.7

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังไม่มีกำหนดที่ชัดเจนว่าจะขายหุ้น ไอพีโอ เมื่อใด แต่เมื่อดูผลประกอบการย้อนหลังในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

โดยในปี 2565 มีรายได้รวม 35,989 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 3,083 ล้านบาท 

ต่อมา ปี 2566 มีรายได้รวมอยู่ที่ 39,294 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 3,374 ล้านบาท

และปีล่าสุด 2567 มีรายได้รวมจำนวน 41,314 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 4,379 ล้านบาท 

ด้านการแข่งขัน ไทยน้ำทิพย์ ระบุว่า ตลาดมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากมีลักษณะแปรผันไปตามฤดูกาล และรูปแบบการบริโภคที่สูงที่สุดในช่วงต่างๆ โดยได้รับอิทธิพลจากหลายปัจจัย เช่น สภาพภูมิอากาศ งานประเพณีทางวัฒนธรรม ซึ่งจะเป็นช่วงที่ยอดขายพุ่งสูง 

และแนวโน้มของตลาดที่ปัจจุบันพบว่า ผู้บริโภคในไทย มีความนิยมเพิ่มขึ้นสำหรับเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยลง หรือเครื่องดื่มไม่มีน้ำตาล ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ ทำให้บริษัทฯ เปิดตัวผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ที่มุ่งตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับความนิยมเหล่านี้ ซึ่งสามารถเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม เครื่องดื่มอัดลมแบบดั้งเดิม ยังคงมีส่วนแบ่งตลาดที่สำคัญ บ่งชี้ให้เห็นว่า ตัวเลือกผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มน้ำตาลน้อย หรือเครื่องดื่มอัดลมแบบดั้งเดิม ทำให้ตลาดมีความซับซ้อนมากขึ้น

สำหรับภาพรวมของตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ยังมีทิศทางที่ดีต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจ และสภาพภูมิอากาศของประเทศ

โดยปี 2567 ที่ผ่านมา มียอดขายปลีกหรือมูลค่าตลาดอยู่ที่ 236,000 ล้านบาท และมีปริมาณการขาย 1,558.6 ล้านยูนิต เคส 

กลุ่มเครื่องดื่มอัดลม มีสัดส่วนของตลาดใหญ่ที่สุด มูลค่าอยู่ที่ 70,000 ล้านบาท และในกลุ่มเครื่องดื่มอัดลมนั้น กลุ่มโคล่า ถือเป็นกลุ่มใหญ่สุดคิดเป็นร้อยละ 72 ของยอดขายปลีก ซึ่งไม่รวมภาคใต้ และข้อมูล ณ สิ้นปี 2567 เครื่องดื่มอัดลมโคล่า แบรนด์ โคคา-โคล่า ที่ผลิตและจำหน่ายโดย ไทยน้ำทิพย์ ครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในบรรดาแบรนด์โคล่าของผู้เล่นหลักในประเทศไทย โดยโคคา-โคล่า มีส่วนแบ่งตลาดสูงถึงร้อยละ 47.9 

ส่วนกลุ่มน้ำอัดลมรสชาติอื่น แบรนด์ แฟนต้า และสไปร์ท ก็ครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 รวมกันมีสัดส่วนร้อยละ 66

ยังมีคาดการณ์ตัวเลขอัตราการเติบโตในภาพรวมของตลาด จาก ฟรอส์ท แอนด์ ซัลลิวัน โดยคาดการณ์ว่า ระหว่างปี 2567-2572 ตลาดเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ในไทย จะมีอัตราการเติบโตแบบทบต้น ที่ร้อยละ 7.4 ต่อปี ในแง่ของมูลค่า และร้อยละ 6.5 ในแง่ของปริมาณ 

โดยปี 2572 จะมีมูลค่ากว่า 337,600 ล้านบาท และปริมาณการขายเป็นจำนวน 2,135.3 ล้านยูนิตเคส

ปัจจัยขับเคลื่อนหลัก มาจากเศรษฐกิจในประเทศ และการท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้น รายได้ประชากรเพิ่มขึ้น และความต้องการที่หลากหลายของผู้บริโภค นอกจากนี้ การขยายตัวของความเป็นเมือง จะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของช่องทางค้าปลีกสมัยใหม่ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมและผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มโดยผู้ผลิตเครื่องดื่ม ซึ่งมีการคิดค้นและพัฒนารสชาติ รูปแบบ และขนาดบรรจุภัณฑ์ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง ตอบสนองความชอบและความต้องการชอบของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา ช่วยกระตุ้นการเติบโตของตลาดเครื่องดื่ม 

ขณะเดียวกัน สภาพอากาศเขตร้อนในไทย ซึ่งมีอุณหภูมิและความชื้นสูง ก็ส่งผลให้ความต้องการเติมน้ำให้กับร่างกายเพิ่มขึ้น โดยการบริโภคของเหลวมากขึ้น โดยเฉพาะน้ำดื่ม 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง