รีเซต

สรุปปมยืดเยื้อ 49 ปี ‘จุฬาฯ’ เรียกคืนที่ตั้ง ‘อุเทนถวาย’ ต้องย้ายออกหรือได้อยู่ต่อไป?

สรุปปมยืดเยื้อ 49 ปี ‘จุฬาฯ’ เรียกคืนที่ตั้ง ‘อุเทนถวาย’ ต้องย้ายออกหรือได้อยู่ต่อไป?
TNN ช่อง16
27 กุมภาพันธ์ 2567 ( 10:24 )
53
สรุปปมยืดเยื้อ 49 ปี ‘จุฬาฯ’ เรียกคืนที่ตั้ง ‘อุเทนถวาย’ ต้องย้ายออกหรือได้อยู่ต่อไป?


ปมปัญหานี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานไม่น้อยกว่า 49 ปี นับตั้งแต่ปี 2518 ที่ทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในฐานะเจ้าของที่ดินพยายามเรียกคืนพื้นที่ 20 ไร่ 3 งาน 29 ตารางวา จาก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย หรือ อุเทนถวาย ซึ่งได้ทำสัญญาเช่าที่ดินเป็นเวลา 68 ปีตั้งแต่ปี 2478-2546 เพื่อขยายเขตพื้นที่การศึกษา..ซึ่งแน่นอนว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา 49 ปีการเจรจาใดๆล้วนไม่เป็นผล อุเทนถวายไม่ย้ายออก


จนในวันนี้ 27 กุมภาพันธ์ 2567 กลุ่มนักศึกษาศิษย์เก่าและปัจจุบันของอุเทนถวายตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอกกว่า 2,000 คนได้นัดหมายรวมพลไปพบผู้แทนจุฬาลงกรณ์ และยื่นหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นางศุภมาส อิศรภักดี ในฐานะ ประธานการประชุมหารือเพื่อดำเนินการตามคำตัดสินของคณะกรรมการพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการย้ายอุเทนถวายออกจากพื้นที่จุฬาฯ..เพื่อหาทางออกอีกครั้ง




ทำความรู้จัก อุเทนถวาย


มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย เป็นวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เดิมชื่อว่า "โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย" ตั้งอยู่ที่ เลขที่ 225 ถนนพญาไท แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330 


ก่อตั้งขึ้นโดยเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2477 โดยใช้ชื่อว่า โรงเรียนเพาะช่าง แผนกช่างก่อสร้าง ปัจจุบันเปิดสอนสาขาวิศวกรรมศาสตร์และสถาปัตยกรรมศาสตร์

 

พื้นที่ของอุเทนถวายทำการเช่าที่ดินจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี 2478 ทางจุฬามีการเจรจาขอคืนในปี 2518 เนื่องด้วยแผนพัฒนาศูนย์นวัตกรรมงานสร้างสรรค์เพื่อชุมชนยั่งยืน กระทั่งในปี 2545 กรมธนารักษ์ได้มีการจัดหาพื้นที่ใหม่ให้อุเทนถวายจำนวน 35 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่กรมการบินพลเรือนและเป็นที่ราชพัสดุ บริเวณ ตำบลบางปลา อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และที่ประชุมคณะรัฐมนตรีจัดสรรงบเพื่อก่อสร้างและขนย้าย 200 ล้านบาทให้



โรงเรียนช่างก่อสร้างแห่งแรกในประเทศไทย
https://uthen-enar.rmutto.ac.th/

 



ทางอุเทนถวายได้ทำข้อตกลงกับจุฬาฯเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2547 ว่าจะขนย้ายและส่งมอบให้แก่จุฬาภายในวันที่ 30 กันยายน 2548 หากจำเป็นผ่อนผันได้ไม่เกิน 1 ปี ต่อมาในปี 2548 มีการทำบันทึกข้อตกลงว่าอุเทนถวายจะย้ายไปก่อสร้างที่ใหม่ บริเวณบางพลี จ.สมุทรปราการ พร้อมทั้งนี้จะย้ายบุคลากรและนักศึกษาให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2548 แต่การย้ายยังติดขัดปัญหาและเป็นไปอย่างล่าช้า


กระทั่ง ปี 2550 สำนักงานอัยการสูงสุดได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อพิจารณาชี้ขาดการยุติในการดำเนินคดีแพ่งของส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง(กยพ.) ซึ่งระหว่างนั้นสโมสรนักศึกษาอุเทนถวาย ได้ทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา 2 ครั้ง และปี 2552 กยพ.มีมติชี้ขาดให้อุเทนถวายขนย้ายทรัพย์สินและคืนพื้นที่ให้จุฬาฯ และชำระค่าเสียหายปีละล้านบาทเศษ จนกว่าจะส่งมอบพื้นที่เสร็จ 


ส่วนผลการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา สำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือยืนยันผลชี้ขาดตามมติของ กยพ. ต่อมาในเดือนธันวาคม 2565 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้อุเทนถวายย้ายออกจากพิ้นที่ โดยจะต้องดำเนินการภายใน 60 วันหลังจากมีคำสั่ง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.1052/2565)




คนกลางคนล่าสุดที่อาจเป็นคนสุดท้าย


นางศุภมาส ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (รมว.อว.) คนล่าสุดจากรัฐบาล นายเศรษฐา พยายามตั้งหลักหาทางออกแบบที่พอจะรับได้ทั้งสองฝ่าย หรือเรียกว่า Win-Win 

 

ซึ่งควบคู่ไปกับที่ตัวแทนศิษย์ปัจจุบันได้พยายามยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรี อว. มาเสมอเพื่อขอร่วมเป็นหนึ่งในคณะกรรมการเพื่อช่วยดูแลกรณีอุเทนถวาย และ ขอความเป็นธรรมให้กับสถาบันฯ

 

 “จะเป็นคนกลาง ให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยยึดหลักนิติธรรม ซึ่งในทางกฎหมายมีคำสั่งให้ย้ายออกจากพื้นที่แล้ว แต่ก็ต้องยึดนักศึกษาเป็นศูนย์กลางด้วย เรื่องการเยียวยานักศึกษาจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะอุเทนถวายถือเป็นสถาบันเก่าแก่ มีองค์พระวิษณุเป็นที่เคารพ และมีอาคารเก่า หากต้องขยับขยายจึงต้องมานั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไร”


เป็นชุดข้อความสุดท้ายจากรัฐมนตรีคนกลางคนล่าสุดที่มีให้ตัวแทนศิษย์เก่า ในการหารือเกี่ยวกับทางออกปมปัญหาดังกล่าวในช่วงเดือนตุลาตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา


นับจากนี้เรายังต้องติดตามต่อว่าปมยืดเยื้อที่มีมาอย่างยาวนานจะสิ้นสุดที่ตรงไหน 


หากคำตอบสุดท้ายคือ ‘ตั้งอยู่’ ในพื้นที่เดิม ทางสถาบันฯเองก็ยังมีโจทย์หนักที่ต้องแก้ให้ได้คือเรื่องการใช้ความรุนแรง การทะเลาะวิวาทระหว่างนักเรียนต่างสถาบันที่อยู่ไม่ไกลกัน เพราะต้องยอมรับตามตรงว่าอีกหลายฝ่ายก็มองว่าการที่อุเทนถวาย ย้ายออกจากพื้นที่ไม่ใช่แค่เรื่องการรักษาสัญญาแต่เป็นการรักษาความสงบในพื้นที่ด้วย


แต่หากเป็นคำตอบตรงข้ามกัน นี่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ของสถาบันการช่างแห่งนี้และเป็นโจทย์ที่รัฐบาลจะต้องตามดูแลอย่างใกล้ชิดในการจัดสรรงบประมาณเพื่อดูแลบุคลากรและนักศึกษาทั้งหมดใหม่อีกครั้ง 






ภาพ : https://uthen.rmutto.ac.th/  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก เขตพื้นที่อุเทนถวาย.

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง