ทำไมไม่ respond ข้อความทันที! บ่งบอกอาการ 'โรคทนรอไม่ได้'
ทำไมไม่ respond ข้อความทันที! เคยสำรวจตัวเองกันบ้างไหมว่า พฤติกรรมดังกล่าวที่อาจมองว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไป แต่หากรู้สึกทุกครั้งจนติดนิสัย คุณอาจเสี่ยงเป็น Hurry Sickness โรคฮอตฮิตของคนในยุคโควิดที่ติดแหง็ก Social ติดเทคโนโลยี ติดอุปกรณ์สื่อสารที่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้การใช้ชีวิตรวดเร็วทันใจยิ่งขึ้น ซึ่งโรคนี้หากใครเป็นแล้วอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจตัวเองยังไม่พอ รวมถึงยังส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคุณกับคนรอบข้าง และนำไปสู่ความสูญเสียอย่างกรณี น้องปลื้ม รุ่นน้องเหยื่อรุ่นพี่รับโหด
วันนี้ TrueID ขอหยิบยกพฤติกรรมจากคดีดังกล่าว เรื่องการไม่ respond หรือการตอบสนอง ข้อความทันทีที่เชื่อว่าปัจจุบันนี้หลายคนเสี่ยงเป็น โรค Hurry Sickness หรือ "โรคทนรอไม่ได้"
รู้จัก โรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness)
โรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) จากการค้นหาข้อมูลเป็นอาการที่มักจะเกิดกับผู้ที่เล่นอินเทอร์เน็ตที่ทำให้กลายเป็นคน
- ขี้เบื่อ
- หงุดหงิดง่าย
- ใจร้อน
- เครียดง่าย
ยกตัวอย่าง การทนรอเครื่องดาวน์โหลดนาน ๆ ไม่ได้ กระวนกระวาย หรือกรณีของน้องปลื้ม รุ่นน้องเหยื่อรุ่นพี่รับโหด ที่ไม่ respond ข้อความทันที หลังรุ่นพี่โหดถามจนอาจเป็นไปได้ที่รู้สึกหงุดหงิดทุกครั้งที่ไม่ได้รับการตอบข้อความกลับทันที
ซึ่งหากวิเคราะห์ โรคทนรอไม่ได้ (Hurry Sickness) เกิดขึ้นได้ทุกวัย เกิดขึ้นในทุกสังคม ทั้งนี้ หากมีอาการมาก ๆ ก็จะเข้าข่ายโรคประสาทได้ ควรปรับเปลี่ยนลักษณะงาน และพยายามควบคุมอารมณ์ตัวเองไว้บ้าง เพราะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เสียทั้งงานและเสียเพื่อนร่วมงานได้ รวมทั้งกรณีรุ่นพี่อาชีวะดังรับน้องโหดด้วย
เช็กอาการที่เข้าข่ายได้จาก 6 สัญญาณ ดังนี้
1. แข่งขันกับทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกใบนี้ แม้แต่เรื่องเล็กน้อยในชีวิตประจำวัน เช่น ต้องกินข้าวให้เร็ว ขับรถเร็ว และหากรถติดไฟแดงเพียงเล็กน้อยก็อาจสร้างความหงุดหงิดได้ ซึ่งอาการนี้เข้าข่ายอาการของ Hurry Sickness
2. ชอบทำอะไรหลายอย่างพร้อม ๆ กัน เพราะอดทนไม่ได้ที่จะทำอะไรทีละอย่าง ชอบมีหน้าที่ในหลายบทบาท
3. ขี้หงุดหงิดเมื่อพบกับความล่าช้า อาจเห็นได้ในชีวิตประจำวัน เช่น คนประเภทที่กดปุ่มลิฟต์ซ้ำ ๆ เพื่อต้องการให้ประตูลิฟต์ปิดเร็ว ๆ หรือการสื่อสารด้วยการรับส่งข้อความที่ต้องได้รับคำตอบทันที พอไม่ได้คำตอบก็จะรู้สึกเซ็ง หงุดหงิด มีอารมณ์ที่ขุ่นมัวเกิดขึ้นในใจทันที
4. รู้สึกว่าตัวเองล่าช้าตลอดเวลา สิ่งที่เกิดขึ้นคือความกังวลและต้องการจะไล่ตามทุกอย่างให้ทันใจตัวเองอยู่เสมอ เช่น เรื่องการทำงาน การเดินทาง ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง เพราะความรู้สึกที่ต้องการจะทำให้สำเร็จเร็ว ๆ กลายเป็นสาเหตุสำคัญที่ส่งผลต่ออารมณ์ข้างใน จนอาจควบคุมตัวเองไม่ได้ส่งผลเสียต่องานและคนรอบข้างในที่สุด
5. ตัดบท ขัดจังหวะคนอื่นบ่อย ๆ ด้วยนิสัยที่รอไม่ได้ ทำให้อาจมีหลายครั้งที่คุณไปขัดจังหวะหัวหน้า เพื่อนร่วมงานโดยไม่รู้ตัว เช่น การตัดบทสนทนาและพูดแทรกในเรื่องที่ตัวเองอยากสื่อสารออกไปเร็ว ๆ บ่งบอกถึงโรคทนรอไม่ได้
6. หมกมุ่นกับสิ่งที่ต้องทำอย่างไม่สิ้นสุด คุณจะรู้สึกพึงพอใจเมื่อคุณจัดการสิ่งที่ต้องทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย แต่ใจคุณก็จะสงบไม่นาน เพราะต่อจากนั้นคุณจะคิดถึงสิ่งที่ต้องทำลำดับถัดไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เพราะอย่าลืมว่าการก้าวไปสู่หน้าที่ใหม่ ๆ กับผลงานใหม่ ๆ อย่างรวดเร็ว บางครั้งอาจเกิดข้อผิดพลาดได้ง่ายขึ้น
วิธีแก้ไขป้องกัน โรคทนรอไม่ได้
1. การปรับเปลี่ยนความคิดให้ได้ว่าทุกอย่างในชีวิตไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เร่งรีบ โดยอาจจดเป็น to do list ลำดับของงานที่ต้องทำ หรืองานที่ยังมีเวลาที่รอได้ ไม่ต้องทำทันที และทำให้เสร็จทีละอย่าง
2. ควรอนุญาตให้ตัวเองได้พักผ่อนบ้าง ไม่ต้องทำงานตลอดเวลา ลองนอนหลับนิ่ง ๆ สบาย ๆ ในวันหยุด หรือหางานอดิเรก เช่น อ่านหนังสือ ออกไปเดินเล่น ออกกำลังกาย และฝึกสมาธิ จะช่วยให้ร่างกายและจิตใจได้ผ่อนคลายบ้าง
3. ยอมรับความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง คุณไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับนิสัยทนไม่ได้อยู่คนเดียว ให้คนรัก ให้คนในครอบครัวช่วยคุณได้ ให้พวกเขาเตือนคุณเมื่อคุณกลับไปเป็นนิสัยเดิม ๆ ช่วยดึงสติให้คุณปรับพฤติกรรมตัวเองอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ถ้าเมื่อไรที่รู้สึกว่าพยายามก็แล้ว ครอบครัวช่วยก็แล้ว แต่ยังเปลี่ยนไม่ได้ ก็อย่ากลัวที่จะไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่พร้อมจะให้ความช่วยเหลือทุกเมื่อเช่นกัน
อย่าให้ โรค Hurry Sickness หรือ "โรคทนรอไม่ได้" คุกคามชีวิตตัวเองยังไม่พอ เพราะคนที่เป็นโรคนี้มักจะสะสมความเครียดเรื้อรังและมีอารมณ์ไม่คงที่ ซึ่งมันสามารถนำไปสู่การสูญเสียอื่น ๆ เช่น การเลิกรา หรือการทะเลาะเบาะแว้งกับคนอื่นได้ในที่สุด
ข้อมูล : สสส., thestandard.co
ข่าวเกี่ยวข้อง :