รีเซต

ย้อนโมเดล Factory Quarantine สมุทรสาคร สู่สถานที่กักตัวโควิดเรือนจำ

ย้อนโมเดล Factory Quarantine สมุทรสาคร สู่สถานที่กักตัวโควิดเรือนจำ
Ingonn
14 พฤษภาคม 2564 ( 16:07 )
346

เป็นเรื่องราวที่สร้างความตกใจกับพี่น้องประชาชนชาวไทยอย่างมาก เมื่อทางกรมราชทัณฑ์ออกแถลงข่าวว่าพบผู้ต้องขังติดเชื้อโควิดในเรือนจำกว่า 2 พันราย ล่าสุดวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 ยังพบเพิ่มอีก 187 ราย ซึ่งคลัสเตอร์เรือนจำนี้ ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อภายในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก จนรัฐบาลได้มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดด้วยการใช้ Factory Quarantine เปลี่ยนเรือนจำให้เป็นสถานที่กักกัน

 

 

ก่อนหน้านี้ เคยมีการใช้โมเดล Factory Quarantine ขึ้นในจ.สมุทรสาคร เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อกระจายเป็นวงกว้าง วันนี้ TrueID ได้พาย้อนเวลาไปดูโมเดลต้นแบบเพื่อทำความรู้จักการกักตัวรูปแบบนี้กัน

 


Factory Quarantine คืออะไร


Factory Quarantine มีลักษณะใกล้เคียงกับโรงพยาบาลสนาม เริ่มใช้ครั้งแรกใน จ.สมุทรสาคร โดยใช้โรงงานเป็นสถานที่กักกันโรคให้ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโควิด-19 อยู่ภายในสถานที่มิดชิด ไม่สามารถแพร่เชื้อสู่ภายนอก รวมถึงคัดแยกผู้ป่วย ตามสีของระดับอาการ โดยผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว ที่ไม่มีอาการหรืออาการมีอาการเล็กน้อย จะรักษาตัวอยู่ประมาณ 14 วัน ขณะที่ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงและอาการหนัก ต้องเฝ้าระวังและอาจนำตัวส่งไปรักษาในโรงพยาบาล

 

 

Factory Quarantine ได้มีการแบ่งพื้นที่ออกเป็น 3 สี


สีเขียว  เป็นพื้นที่ปฏิบัติงาน ที่อยู่ด้านหน้า 


สีเหลือง  เป็นพื้นที่แพทย์ปฏิบัติงาน และเปลี่ยนชุดทางการแพทย์ 


สีแดง  เป็นพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อใช้กักตัว ซึ่งจะแบ่งออกเป็นที่พัก ที่รับประทานอาหาร ห้องน้ำ สถานที่อาบน้ำ พื้นที่ซักล้าง และพื้นที่ออกกำลังกาย ซึ่งผู้ป่วยจะไม่สามารถออกไปด้านนอกได้ จนกว่าจะรักษาโรคโควิด-19 หาย หรือปลอดเชื้อ 

 


Factory Quarantine แห่งแรกของประเทศไทย


เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2564 จ.สมุทรสาคร ได้พบวิกฤตการติดเชื้อโควิด-19 จากแรงงานในตลาดกลางกุ้ง ทำให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นจำนวนมาก จนนายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครถึงขั้นรักษาในไอซียู

 

โดยบริษัท พัทยา ฟู๊ดส์ อินดรัสตรี้ จำกัด ซึ่งเป็นผลิตอาหารกระป๋องในนาม นอติลูส ได้มีการปรับพื้นที่ภายในบริษัทฯ เป็นโรงงาน หรือ Factory Quarantine แห่งแรกของประเทศไทย ที่จังหวัดสมุทรสาคร มีลักษณะคล้ายกับโรงพยาบาลสนาม เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 600 เตียง โดยกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้เข้าไปดูในเรื่องมาตรฐานเรียบร้อยแล้ว

 

ขณะนั้น จ.สมุทรสาคร ประสงค์ให้ภาคอุตสาหกรรมหรือสถานประกอบการ จัดส่วนพื้นที่ในโรงงานทำเป็นสถานที่พัก หรือกักตัว สังเกตุอาการให้ด้วย เพื่อแสดงถึงความร่วมมือของทุกภาคส่วน

 

 

 

 

 

Factory Quarantine สมุทรสาครสู่โควิดในเรือนจำ


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า เรือนจำเป็นสถานที่ปิด สามารถดูแลควบคุมโรคโควิด-19 ได้ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ประสานงานไปยังกรมราชทัณฑ์ จะใช้แนวทางควบคุมโรคเช่นเดียวกับกรณีสมุทรสาคร คือ Factory Quarantine ให้ผู้ที่ติดเชื้อทั้งหมดอยู่ในสถานที่มิดชิด ไม่มีโอกาสแพร่เชื้อสู่ภายนอก รวมถึงคัดแยกระดับอาการผู้ป่วย และให้ยาตามสีของระดับอาการ โดยกลุ่มที่ไม่มีอาการรักษาประมาณ 14 วัน กลุ่มที่มีอาการปานกลางจะมีโรงพยาบาลราชทัณฑ์ดูแล และหากมีอาการหนักสีเหลืองเข้มหรือแดง ทางกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้รับช่วงนำผู้ต้องขังมารับการรักษาตามสิทธิที่มี ซึ่งผู้ต้องขังที่อยู่ในกลุ่มสีแดงมี 4 ราย มี 1 รายใช้เครื่องช่วยหายใจ เนื่องจากโรคประจำตัว 

 

 

สรุปการป้องกันโควิดในเรือนจำ


นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ชูมาตรการป้องกันด้วยการลดความแออัดภายในเรือนจำ ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อโควิด-19 ระหว่างนักโทษด้วยกันเอง


1.ใช้นโยบายลดความแออัด จากก่อนผู้ต้องขัง 1 คนมีพื้นที่ไม่ถึง 1 ตร.ม. ได้ปรับเป็น 1.2 ตร.ม. ตามมาตรฐานสากล


2.ขอพระราชทานอภัยโทษให้กับผู้ต้องขังประพฤติดี ข้อหาไม่ร้ายแรงอีกหลายหมื่นคน


3.ใช้การพักโทษพิเศษ สวมกำไล EM


4.ประมวลกฎหมายยาเสพติด ที่อยู่ระหว่างพิจารณารัฐสภา ซึ่งจะปรับอัตราโทษผู้ต้องขังยาเสพติดให้เหมาะสม

 

 

กรมราชทัณฑ์ได้ป้องกันเต็มที่ด้วยมาตรการเชิงรุก 


1.แยกกักตัวผู้ต้องขังเข้าใหม่อย่างน้อย 21 วัน พร้อมตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง ก่อนผู้ต้องขังพ้นระยะแยกกักโรค 


2.ผู้ต้องขังตรวจพบเชื้อจะได้รับการรักษาโดยการให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ทั้งในโรงพยาบาลสนามเรือนจำ และโรงพยาบาลแม่ข่ายตามลักษณะอาการป่วยของแต่ละราย 

 

3.ดำเนินการขอวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ต้องขัง

 

 

ตามมาตรฐานสากล ผู้คุม 1 คนจะดูแลผู้ต้องขัง 6 คน แต่ในประเทศไทย ผู้คุม 1 คน ดูแลนักโทษมากถึง 33 คน เนื่องจากบุคลากรด้านนี้น้อย และ 2 เรือนจำที่ติดเชื้อนั้น เป็นเรือนจำที่รับผู้ต้องขังใหม่อยู่ตลอด ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดโควิดระบาดในเรือนจำครั้งนี้ โดยขณะนี้ใช้มาตรการบับเบิ้ล แอนด์ซีล แยกผู้ป่วยออกมาและมีห้องกักโรค จึงขอให้มั่นใจว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้

 

 

ข้อมูลจาก รัฐบาลไทย , ศูนย์ข้อมูลCOVID-19 , มติชน

ภาพจาก ศูนย์ข้อมูลCOVID-19

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง