ชาวบ้าน แห่เก็บเห็ดหลังฝนตก ขายได้วันละ 500-1,000 บาท ยังยิ้มออกช่วงโควิด
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเวลานี้หลายพื้นที่เริ่มมีฝนตกลงมาบ่งบอกว่าฤดูฝนเริ่มเข้ามาเยือน ชาวบ้านหลายครอบครัวทางภาคอีสานก็เริ่มเห็นโอกาส เข้าไปหาเก็บของป่านำวัตถุดิบออกมาประกอบเป็นอาหาร บางรายได้เยอะเหลือรับประทานก็นำออกมาขายเป็นรายได้เสริม ซึ่งส่วนใหญ่ช่วงนี้ที่เห็นวางขายเยอะที่สุดน่าจะเป็นบรรดาเห็ดต่าง ๆ ที่ชาวบ้านเข้าไปเก็บ
นางดาวรุณี เสตฐา อายุ 54 ปี ชาวบ้านวังตามัว ต.วังตามัว อ.เมือง จ.นครพนม เปิดเผยว่า ทุกวันตอนเช้า ๆ ตนและกลุ่มเพื่อน ๆ จะนำเห็ดที่ได้จากการเก็บในป่าออกมาวางขายตามซุ้มเพิงต่าง ๆ บริเวณข้างถนนนิตโย (ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 22 อุดรธานี–นครพนม) สามแยกทางเข้า อ.ปลาปาก ซึ่งเห็ดที่เก็บได้ในช่วงนี้ส่วนใหญ่เป็นเห็ดเผาะ กก.ละ 400-500 บาท เห็ดระโงก กก.ละ 400 บาท เห็ดตับเต่า (เห็ดผึ้ง) จานละ 100 บาท และเห็ดดิน จานละ 20-50 บาท
แต่ช่วงนี้เป็นฝนแรกของฤดูจะได้เห็ดระโงกมากกว่าเห็ดชนิดอื่น ๆ ซึ่งตนพร้อมกับเพื่อนบ้าน จะพากันออกไปหาเก็บเห็ดในช่วงตอนกลางคืน ตั้งแต่เวลา 20.00 -23.00 น. โดยใช้ไฟฉายคาดหัวส่องไปตามบริเวณพื้นป่า โดยข้อดีของการเก็บเห็ดตอนกลางคืนจะได้เห็ดที่สวยงาม อากาศไม่ร้อน และจะได้เห็ดมากกว่าคนอื่น ๆ ที่ตามมาเก็บทีหลัง ซึ่งบางคนก็ออกไปเก็บช่วงหลังเที่ยงคืนถึงเช้ามืด (00.00 น.-05.00 น.) จะได้ประมาณ 4-5 กก.
“ช่วงนี้เป็นระยะแรกจะมีเห็ดเผาะ เห็ดระโงก และเห็ดตับเต่า (เห็ดผึ้ง) ส่วนระยะที่สองจะมีจำพวกเห็ดดินเพิ่มเข้ามา ใน 1 ปี สามารถออกเก็บเห็ดได้ 3-4 ครั้ง แล้วแต่จำนวนและระยะของฝนที่ตกลงมา ถ้าเป็นช่วงที่ฝนตกทุกวันเห็ดจะไม่ออกเพราะเชื้อจะเน่า
แต่ถ้าฝนตกแบบเว้นระยะแล้วแดดออก เห็ดจะออกดีเพราะเชื้อเห็ดจะทำปฏิกิริยากับอุณหภูมิดินได้ดีกว่า คนที่มาเก็บเห็ดในป่าก็เป็นชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนี้ บางทีก็มีบ้างที่มีคนต่างถิ่นจากทางไกลมาเก็บด้วย เช่น มาจากอุดรธานีและสกลนคร อาจจะด้วยพื้นที่ป่าไม้บ้านเราอุดมสมบูรณ์จึงมีเห็ดให้เก็บเยอะ แต่หลัง ๆ หลายปีมานี้ เห็ดเริ่มมีน้อยเพราะมีคนเข้าไปเก็บเป็นจำนนวนมาก”
นางดาวรุณี ยังเล่าต่อว่า ตนได้เก็บเห็ดมาขายในฤดูแบบนี้ทุก ๆ ปี เกือบจะ 20 ปี แล้ว ลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่ขับรถผ่านไป-มา บนถนนสายนี้ บางทีก็มาจากสกลนคร และในตัวเมืองของนครพนม ขายหมดทุกครั้ง เพราะเห็ดแต่ละชนิดสามารถนำไปประกอบอาหารได้หลากหลาย ทำให้ตนมีรายได้จากการขายเห็ด วันละ 500-1,000 บาท ก็ถือเป็นการสร้างรอยยิ้มให้กับชาวบ้านในท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 อีกด้วย