เสียวหมี่ โชว์รายรับปี 2562 ทะลุ 2 แสนล้านหยวน โตในทุกกลุ่มธุรกิจแม้ต้องเผชิญอุปสรรค
เสียวหมี่ คอร์ปอเรชัน (Xiaomi; Stock Code: 1810) บริษัทเทคโนโลยีระดับโลกที่ก้าวเป็นผู้นำด้านสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์อัจฉริยะที่เชื่อมต่อบนแพลตฟอร์ม Internet of Things (IoT) เปิดเผยผลการดำเนินงานรวมของปี สิ้นสุด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562
ในปี 2562 เสียวหมี่ มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งในทุกกลุ่มธุรกิจ มีรายรับรวมของกลุ่มบริษัทพุ่งสูงกว่า 2 แสนล้านหยวนเป็นครั้งแรก โดยแตะระดับ 205,840 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 17.7% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) 9 ปีอยู่ที่ 112% และมีกำไรสุทธิหลังการปรับปรุง 11.5 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 34.8% เมื่อเทียบปีต่อปี
ในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 รายได้รวมของเสียวหมี่ เพิ่มขึ้น 27.1% เป็น 56.5 พันล้านหยวน กำไรสุทธิหลังการปรับปรุงอยู่ที่ 2.3 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 26.5% เมื่อเทียบปีต่อปี
ข้อมูลสำคัญทางการเงิน ปี 2562
รายรับรวมอยู่ที่ประมาณ 205,840 ล้านหยวน เพิ่มขึ้น 17.7% เมื่อเทียบปีต่อปี สูงกว่าประมาณการส่วนใหญ่
กำไรขั้นต้นอยู่ที่ประมาณ 28.55 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 28.7% เมื่อเทียบปีต่อปี
กำไรสุทธิที่ยังไม่ได้ปรับปรุงตาม IFRS อยู่ที่ 11.53 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 34.8% เมื่อเทียบปีต่อปี สูงกว่าประมาณการส่วนใหญ่
กำไรสุทธิต่อหุ้นอยู่ที่ 0.0423 หยวน
จำนวนเงินรวมของทรัพยากรเงินสดอยู่ที่ 66 พันล้านหยวน
ข้อมูลสำคัญทางการเงิน ไตรมาสที่ 4 ปี 2562
รายรับรวมสูงเป็นประวัติการณ์ ประมาณ 56.47 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 27.1% เมื่อเทียบปีต่อปี และเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี
กำไรขั้นต้นอยู่ที่ประมาณ 7.84 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 38.5% เมื่อเทียบปีต่อปี
กำไรสุทธิที่ยังไม่ได้ปรับปรุงตาม IFRS อยู่ที่ 2.34 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 26.5% เมื่อเทียบปีต่อปี
นายเหลย จุน ผู้ก่อตั้ง ประธานบริษัท และประธานกรรมการบริหาร เสียวหมี่ กล่าวว่า “แม้จะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก แต่เสียวหมี่ก็ยังมีผลประกอบการอันโดดเด่นในปี 2562 ด้วยรายรับที่พุ่งสูงกว่า 2 แสนล้านหยวนเป็นครั้งแรก นอกจากนี้ เรายังเฉลิมฉลองหลากหลายความสำเร็จในรอบปี นับตั้งแต่ การเปิดตัวกลยุทธ์ Dual-Brand ที่ทำให้เสียวหมี่และ Redmi ดำเนินงานแยกกันอย่างอิสระ การตอกย้ำ ‘5G + AIoT’ เป็นแผนกลยุทธ์ของเรา ไปจนถึงการติดอันดับ Fortune Global 500 และ BrandZ’s Top 100 แบรนด์ที่มีค่ามากที่สุดในโลก”
“ในขณะที่ทั้งโลกยังคงตกอยู่ภายใต้เงื้อมเงาของโควิด-19 เรายังคงมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพเพื่อให้ก้าวผ่านเหตุการณ์อันไม่คาดคิดทางเศรษฐกิจนี้ไปพร้อมกับทุกๆ ท่าน ที่เสียวหมี่เราเชื่อมั่นว่าความสำเร็จทางธุรกิจในระยะยาวของเราเป็นผลมาจากนวัตกรรมทางเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้เราจึงวางแผนที่จะลงทุน 5 หมื่นล้านหยวนในห้าปีข้างหน้า เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและประสบการณ์ของผู้ใช้อย่างไม่หยุดยั้ง เพื่อขยายฐานแฟนคลับ (Mi Fan) โดยรวมแล้ว เรายังคงมุ่งมั่นที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อเชื่อมต่อ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตในทุกๆ ที่ในอนาคต”
โดยในปี 2562 รายได้ของกลุ่มสมาร์ทโฟนของเสียวหมี่ สูงถึง 1.221 แสนล้านหยวน เพิ่มขึ้น 7.3% เมื่อเทียบปีต่อปี ในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 รายได้ของสมาร์ทโฟนอยู่ที่ 30.8 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 22.8% เมื่อเทียบปีต่อปี สำหรับปี 2562 เสียวหมี่มียอดการจัดส่งสมาร์ทโฟน 124.6 ล้านเครื่อง โดยในไตรมาสที่ 4 มียอดการจัดส่งประมาณ 32.6 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 30.5% เมื่อเทียบปีต่อปี จากข้อมูลของ Canalys ในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 เสียวหมี่มีการเติบโตด้านการจัดส่งต่อปีสูงที่สุดในกลุ่มบริษัทสมาร์ทโฟนใน 5 อันดับแรก
ตั้งแต่มกราคม 2562 เสียวหมี่และ Redmi ถูกแยกออกเป็นสองแบรนด์ และมีการดำเนินงานที่แยกออกจากกัน ในระหว่างปี กลยุทธ์แบบ Dual-Brand มีความก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก และแบรนด์ Redmi ยังคงเดินหน้าตามกลยุทธ์ในการนำเสนออัตราส่วนราคาต่อประสิทธิภาพความคุ้มค่า และดีที่สุดในจุดราคาที่คุ้มค่าที่สุด และทำให้เทคโนโลยีนวัตกรรมสามารถเข้าถึงตลาดมวลชนได้สำเร็จ
จากข้อมูลของ Canalys ระบุว่า Redmi Note 7 เป็นสมาร์ทโฟนรุ่นที่ขายดีที่สุดในบรรดาสมาร์ทโฟนรุ่นที่ผลิตโดยบริษัทจากประเทศจีนในด้านยอดการจัดส่งทั่วโลกในปี 2562 นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2562 Redmi ยังได้เปิดตัวสมาร์ทโฟน 5G รุ่นแรก Redmi K30 5G ในราคาเริ่มต้นเพียง 1,999 หยวน ซึ่งทำให้เป็นสมาร์ทโฟน 5G รุ่นแรกที่มีราคาต่ำกว่า 2,000 หยวน ส่งผลให้มีผู้คนจำนวนมากสามารถเข้าถึงการใช้สมาร์ทโฟนเทคโนโลยี 5G ได้
ในขณะเดียวกัน แบรนด์เสียวหมี่มุ่งเน้นไปที่การบุกเบิกเทคโนโลยีขั้นสูง และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการสร้างรากฐานที่มั่นคงในตลาดสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียม ล่าสุดเสียวหมี่ได้เปิดตัวสมาร์ทโฟน 5G รุ่น Mi 10 และ Mi 10 Pro เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยรุ่น Mi 10 Pro ได้รับคะแนนสูงสุดจาก DxOMark สำหรับประสิทธิภาพโดยรวมของกล้อง วิดีโอ และการถ่ายภาพ
ในปี 2562 ราคาขายเฉลี่ย (“ASP”) ของสมาร์ทโฟนของกลุ่มบริษัท เพิ่มขึ้น 2.2% เมื่อเทียบปีต่อปี และอัตรากำไรขั้นต้นของกลุ่มสมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นเป็น 7.2% จาก 6.2% ในปี 2561 สำหรับในปี 2563 เสียวหมี่จะยังคงให้ความสำคัญกับการพัฒนาสมาร์ทโฟน 5G และตอกย้ำความแข็งแกร่งของกลุ่มสมาร์ทโฟนระดับพรีเมียม ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวเพิ่มขึ้นของราคาขายเฉลี่ย
ธุรกิจ IoT เติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง
ปี 2562 เป็นปีแรกสำหรับการดำเนินการตามแผนกลยุทธ์ Dual Engine “สมาร์ทโฟน + AIoT” โดยรายได้ของเสียวหมี่จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ IoT และไลฟ์สไตล์ในปี 2562 อยู่ที่ 62.1 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 41.7% เมื่อเทียบปีต่อปี และคิดเป็น 30% ของรายรับรวม เพิ่มขึ้นจาก 25% ในปี 2561 สำหรับในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 รายรับอยู่ที่ 19.5 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 30.5% เมื่อเทียบปีต่อปี
ในปี 2562 เสียวหมี่จัดส่งสมาร์ททีวีเฉพาะในจีนแผ่นดินใหญ่กว่า 10 ล้านเครื่อง ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างปรากฏการณ์ที่ไม่เคยมีมาก่อนในอุตสาหกรรมทีวีของจีน สำหรับการจัดส่งทีวีทั่วโลกมีจำนวนถึง 12.8 ล้านเครื่อง เพิ่มขึ้น 51.9% เมื่อเทียบปีต่อปี จากข้อมูลของ AVC ในปี 2562 การจัดส่งทีวีของเสียวหมี่อยู่ในอันดับหนึ่งในจีนแผ่นดินใหญ่ และทั่วโลกอยู่ในอันดับที่ห้า นอกจากนี้ จากข้อมูลของ IDC เสียวหมี่ยังเป็นอันดับหนึ่งในอินเดียในด้านการจัดส่งสมาร์ททีวีเป็นไตรมาสที่เจ็ดติดต่อกัน โดยนับถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2562
ในฐานะหนึ่งในแพลตฟอร์ม IoT สำหรับผู้บริโภคชั้นนำของโลก เสียวหมี่ยังคงขยายฐานผู้ใช้ IoT อย่างต่อเนื่อง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 จำนวนอุปกรณ์ IoT ที่เชื่อมต่อ (ไม่รวมสมาร์ทโฟนและแล็ปท็อป) บนแพลตฟอร์ม IoT ของเรามีจำนวนถึง 234.8 ล้านหน่วย เพิ่มขึ้น 55.6% เมื่อเทียบปีต่อปี ผู้ช่วยเสียวหมี่ หรือ Xiaomi AI Assistant “小愛同學” มีจำนวนผู้ใช้งานต่อเดือนกว่า 60.4 ล้านคนในเดือนธันวาคม 2562 เพิ่มขึ้น 55.7% เมื่อเทียบปีต่อปี นอกจากนี้ ในเดือนธันวาคม 2562 จำนวนผู้ใช้งานต่อเดือนของ MIUI ยังเพิ่มขึ้น 27.9% เมื่อเทียบปีต่อปี เป็น 309.6 ล้านคน อีกด้วย
จากข้อมูลของ Canalys เสียวหมี่เป็นผู้ผลิตอุปกรณ์สวมใส่อัจฉริยะ (smart wearable device) ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (รวมถึงนาฬิกาอัจฉริยะและสายรัดข้อมืออัจฉริยะ) ในด้านจำนวนการจัดส่งในปี 2562 นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ IoT ของเสียวหมี่ยังได้รับรางวัลอันทรงเกียรติด้านการออกแบบกว่า 50 รางวัลจากทั่วโลกในปี 2562 อีกด้วย
เกือบครึ่งหนึ่งของรายรับรวมมาจากตลาดต่างประเทศ
ในปี 2562 รายรับของเสียวหมี่จากตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 91.2 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 30.4% เมื่อเทียบปีต่อปี สำหรับในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 รายรับจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น 40.7% เมื่อเทียบปีต่อปี สู่ระดับ 26.4 พันล้านหยวน คิดเป็น 46.8% ของรายรับรวม ปัจจุบันผลิตภัณฑ์เสียวหมี่มีอยู่กว่า 90 ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ จากข้อมูลของ Canalys จำนวนการจัดส่งสมาร์ทโฟนของเสียวหมี่ยังติดอันดับหนึ่งในห้าของ 45 ประเทศทั่วโลกในปี 2562 อีกด้วย
จากข้อมูลของ IDC ในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 เสียวหมี่เป็นแบรนด์สมาร์ทโฟนที่ใหญ่ที่สุดในอินเดียในด้านจำนวนการจัดส่ง ติดต่อกันเป็นไตรมาสที่สิบ โดยครองส่วนแบ่งตลาดประมาณ 28.7%
ในยุโรปตะวันตก เสียวหมี่ยังคงขยายส่วนแบ่งการตลาดอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของ Canalys การจัดส่งสมาร์ทโฟนเสียวหมี่ ในยุโรปตะวันตกเพิ่มขึ้น 115.4% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 การจัดส่งสมาร์ทโฟนในสเปน ฝรั่งเศส และอิตาลีเพิ่มขึ้นถึง 65.7%, 69.9% และ 206.2% ตามลำดับ
ในปี 2562 รายรับจากต่างประเทศของเสียวหมี่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากยอดขายที่แข็งแกร่งของผลิตภัณฑ์ IoT ที่ขายดีที่สุดในตลาดต่างประเทศ รวมไปถึงสมาร์ททีวี สายรัดข้อมือ หูฟังไร้สาย และสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า
บริการอินเทอร์เน็ตอันหลากหลายยังคงสร้างรายรับเพิ่มขึ้น
ในปี 2562 รายรับจากการให้บริการอินเทอร์เน็ตของเสียวหมี่สูงถึง 19.8 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 24.4% เมื่อเทียบปีต่อปี สำหรับไตรมาสที่ 4 รายรับอยู่ที่ 5.7 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 41.1% เมื่อเทียบปีต่อปี ในเดือนธันวาคม 2562 จำนวนผู้ใช้งานรายเดือนทั่วโลกของ MIUI เพิ่มขึ้น 27.9% เมื่อเทียบปีต่อปี เป็น 309.6 ล้านคน โดยจำนวนผู้ใช้งานรายเดือนของ MIUI ในจีนแผ่นดินใหญ่อยู่ที่ 109 ล้านคน
นอกจากนี้ เสียวหมี่ยังมีการกระจายแหล่งรายรับสำหรับบริการอินเทอร์เน็ตอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2562 รายรับจากการให้บริการอินเทอร์เน็ตนอกเหนือจากการโฆษณาและเกมจากสมาร์ทโฟนของจีนแผ่นดินใหญ่ (รวมถึงรายรับจาก Youpin ฟินเทค บริการอินเทอร์เน็ตทีวี และบริการอินเทอร์เน็ตในต่างประเทศ) เพิ่มขึ้น 112.6% เมื่อเทียบปีต่อปี และคิดเป็น 43% ของรายรับจากบริการอินเทอร์เน็ตทั้งหมด ซึ่งมีส่วนอย่างมากในการผลักดันการเติบโตของธุรกิจอินเทอร์เน็ตโดยรวม ในไตรมาสที่ 4 รายรับจากโฆษณาและรายรับจากเกมอยู่ที่ 3 พันล้านหยวน และ 874.4 ล้านหยวน ตามลำดับ เพิ่มขึ้น 17.8% และ 44.4% เมื่อเทียบปีต่อปี ตามลำดับ
ผลกระทบจากการระบาดของ โควิด-19
ในช่วงต้นปี 2563 โรคโควิด-19 แพร่กระจายไปทั่วโลก เสียวหมี่ประสบปัญหาจากการหยุดชะงักชั่วคราวในการผลิตในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2563 แต่หลังจากนั้น กำลังการผลิตเริ่มฟื้นตัวขึ้นเป็น 80% – 90% ของระดับปกติ
สำหรับตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ ในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักที่สุด ยอดขายออฟไลน์ของเสียวหมี่ได้รับผลกระทบเนื่องจาก Mi store ส่วนใหญ่ปิดหรือเปิดดำเนินการในระยะเวลาที่จำกัด และจำนวนลูกค้าก็ลดลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม จากข้อได้เปรียบในช่องทางออนไลน์ทำให้เสียวหมี่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย
สำหรับตลาดต่างประเทศ ด้วยความแข็งแกร่งในระดับโลกและการขยายสู่ตลาดใหม่อย่างต่อเนื่อง เสียวหมี่ยังคงมีความหวังในศักยภาพในระยะยาวของตลาดต่างประเทศ
ที่สำคัญ ผู้ใช้บริการอินเทอร์เน็ตของเสียวหมี่ เช่น วิดีโอและเกมออนไลน์ มีอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่ง เนื่องจากประชาชนจำนวนมากต้องอยู่กับบ้านในช่วงการระบาดของโควิด-19
กลยุทธ์การลงทุนและการพัฒนา
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 เสียวหมี่ได้ลงทุนในบริษัทกว่า 290 แห่ง ซึ่งมีมูลค่าทางบัญชีรวมประมาณ 30.0 พันล้านหยวน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 Roborock ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทที่เสียวหมี่ลงทุน ได้รับการจดทะเบียนในคณะกรรมการด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ (“STAR Market”) ในประเทศจีน โดยนับเป็นบริษัทแห่งแรกในระบบนิเวศธุรกิจของเสียวหมี่ที่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เซี่ยงไฮ้ ด้วยระบบนิเวศธุรกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เสียวหมี่จะทำการเปิดตัวผลิตภัณฑ์และบริการเสริมใหม่ๆ ต่อไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้กลุ่มบริษัทสามารถขยายฐานผู้ใช้ทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่และทั่วโลกต่อไปได้