รีเซต

ตรวจสอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่าน-ไม่ผ่าน "รอบอุทธรณ์" เริ่มใช้สิทธิวันไหน?

ตรวจสอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่าน-ไม่ผ่าน "รอบอุทธรณ์" เริ่มใช้สิทธิวันไหน?
TNN ช่อง16
14 มิถุนายน 2566 ( 15:28 )
90

ตรวจสอบบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่าน-ไม่ผ่าน "รอบอุทธรณ์" เริ่มใช้สิทธิวันไหน? สิทธิที่ได้ย้อนหลังกี่เดือน


นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่กระทรวงการคลังได้ส่งข้อมูลผู้ที่ขออุทธรณ์กรณีไม่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 (โครงการฯ) ให้หน่วยงานตรวจสอบคุณสมบัติตรวจสอบคุณสมบัติตามขั้นตอนนั้น บัดนี้ การดำเนินการดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว และคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการเพื่อเศรษฐกิจฐานรากและสังคม (คณะกรรมการฯ) ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบหลักในโครงการฯ ได้กำหนดวันประกาศผลการพิจารณาคุณสมบัติรอบอุทธรณ์ ในวันที่ 12 มิถุนายน 2566 โดยมีผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติรอบอุทธรณ์ จำนวน 26,696 ราย 


ซึ่งผู้ที่ขออุทธรณ์สามารถตรวจสอบผลการพิจารณาคุณสมบัติได้ 3 ช่องทาง ดังนี้


1. ตรวจสอบผลการพิจารณาคุณสมบัติด้วยตนเอง ผ่านทางเว็บไซต์ https:// บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https: //welfare.mof.go.th ได้ตั้งแต่เวลา 06.00 น. ถึง 23.00 น. ของทุกวัน
2. ตรวจสอบผลการพิจารณาคุณสมบัติผ่านหน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน ได้แก่ สาขาของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสินธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) (ธนาคารกรุงไทยฯ) สำนักงานคลังจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ที่ว่าการอำเภอทั้ง 878 อำเภอทั่วประเทศ สำนักงานเขตกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต และศาลาว่าการเมืองพัทยา
3. โทรศัพท์สอบถามได้ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และ Call Center โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ วันจันทร์ – วันศุกร์ตามเวลาทำการของแต่ละหน่วยงาน


ทั้งนี้ หากตรวจสอบแล้วพบว่า เป็นผู้ที่ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติในรอบอุทธรณ์ ขอให้ดำเนินการ ดังนี้


1. ดำเนินการยืนยันตัวตนได้ที่ (1) ธนาคารกรุงไทยฯ (2) ธนาคารออมสิน หรือ (3) ธ.ก.ส. ได้ตั้งแต่วันที่ 12 มิถุนายน 2566 เป็นต้นไป ทั้งนี้ จะต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนอเนกประสงค์ (Smart Card) เพื่อใช้ในการยืนยันตัวตนด้วย ณ ธนาคารดังกล่าวตามวันและเวลาทำการของแต่ละธนาคาร

2. เมื่อยืนยันตัวตนเสร็จเรียบร้อยแล้วจะสามารถตรวจสอบสถานะการยืนยันตัวตนของตนเองผ่านทางเว็บไซต์ https:// บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https: //welfare.mof.go.th หรือติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่หน่วยงานรับลงทะเบียนทั้ง 7 หน่วยงาน หรือโทรศัพท์สอบถามได้ที่หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องตามเวลาทำการของแต่ละหน่วยงานได้ในวันถัดไป

3. ธ.ก.ส. และธนาคารออมสินจะให้บริการยืนยันตัวตนจนถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2566 สำหรับ ธนาคารกรุงไทยฯ จะให้บริการยืนยันตัวตน โดยยังไม่มีกำหนดวันสิ้นสุดการให้บริการ สำหรับการยืนยันตัวตนในช่วงวันหยุดเสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ให้ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละธนาคาร

4. ผู้ลงทะเบียนที่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์กับหมายเลขประจำตัวประชาชนเพื่อรับสิทธิสวัสดิการ โดยสามารถผูกบัญชีพร้อมเพย์กับธนาคารใดก็ได้ ทั้งนี้ การผูกบัญชีพร้อมเพย์ไว้ล่วงหน้า จะทำให้ผู้ได้รับสิทธิสามารถรับสิทธิสวัสดิการในกรณีที่ภาครัฐมีสวัสดิการที่จะโอนเข้าบัญชีในอนาคตได้อย่างสะดวกรวดเร็ว


5. ผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติที่ดำเนินการยืนยันตัวตนภายในวันที่12 – 26 มิถุนายน 2566 และตรวจสอบพบว่า ผ่านการยืนยันตัวตน (e-KYC) จะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการผ่านบัตรประจำตัวประชาชนได้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2566 แต่หากผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติยืนยันตัวตนหลังวันที่ 26 มิถุนายน 2566 จะสามารถใช้สิทธิสวัสดิการแห่งรัฐตามที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยมีรายละเอียดวันที่ยืนยันตัวตน วันเริ่มใช้สิทธิได้ และสิทธิที่ได้ย้อนหลังดังนี้

โดยผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติที่ได้รับสิทธิที่ดำเนินการยืนยันตัวตนภายในวันที่ 26 กันยายน 2566 จะได้รับวงเงินสิทธิสวัสดิการย้อนหลังตั้งแต่เดือนเมษายน 2566 เฉพาะวงเงินในส่วนของการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น และร้านอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด (จำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน) เท่านั้น กรณีมีวงเงินคงเหลือจะไม่มีการสะสมไปในเดือนถัดไป

โฆษกกระทรวงการคลังกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับผู้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติที่ไม่สามารถดำเนินการยืนยันตัวตนได้ด้วยตนเอง ได้แก่ ผู้พิการ ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุที่ไม่สามารถเดินทางมายืนยันตัวตน
ได้ด้วยตนเอง สามารถมอบอำนาจให้บุคคลอื่นมายืนยันตัวตนแทนได้ โดยจะต้องใช้เอกสาร ดังต่อไปนี้


1. บัตรประจำตัวประชาชนผู้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาคุณสมบัติ (ผู้ได้รับสิทธิ)
2. หนังสือมอบอำนาจการยืนยันตัวตน (สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์ของโครงการฯ)
3. บัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจ
4. บัตรประจำตัวคนพิการ (ถ้ามี) หรือใบรับรองแพทย์ (ถ้ามี)
5. ใบสำคัญการหย่าหรือ ใบมรณบัตร หรือหนังสือรับรองการตาย หรือทะเบียนบ้านที่มีการจำหน่ายตาย(เฉพาะผู้ผ่านเกณฑ์แบบมีเงื่อนไขที่ได้ยื่นเอกสารหนังสือประกอบการพิจารณา กรณีผู้ลงทะเบียนไม่สามารถติดตามคู่สมรสมาเพื่อดำเนินการหย่าตามกฎหมายได้ แบบฟอร์มที่ 2)

ทั้งนี้ สำหรับข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดโครงการฯ ประชาชนสามารถติดตามได้เพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https:// บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ.mof.go.th หรือ https: //welfare.mof.go.th 







ภาพจาก AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง