รีเซต

'กมธ.ดีอีเอส' เผยผู้เกี่ยวข้องออกใบอนุญาต 'ไทยคม' ปี 55 ยึด พ.ร.บ.โทรคมนาคมฯ

'กมธ.ดีอีเอส' เผยผู้เกี่ยวข้องออกใบอนุญาต 'ไทยคม' ปี 55 ยึด พ.ร.บ.โทรคมนาคมฯ
มติชน
20 กันยายน 2564 ( 11:01 )
61

“กมธ.ดีอีเอส” พิจารณาปมใบอนุญาต “ดาวเทียมไทยคมฯ” ต่อเนื่อง “กัลยา” ระบุ ผู้เกี่ยวข้องแจง กสทช.ออกใบอนุญาตประกอบกิจการตาม พ.ร.บ.โทรคมนาคม มิใช่ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ตาม พ.ร.บ. กสทช. ยัน ทำตามกรอบกฎหมาย-คำพิพากษาศาลปกครอง ระบุเป็นคนละส่วนกับสัญญาสัมปทาน

 

 

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า การประชุม กมธ. เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้พิจารณาวาระต่อเนื่องถึงการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสาร ณ ตำแหน่งวงโคจร 120 องศาตะวันออกให้กับบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เมื่อช่วงปี 2554-2555 หลังจากมีกรณีที่การตั้งข้อสังเกตจากหลายฝ่ายถึงการให้ใบอนุญาตดังกล่าวกับบริษัทไทยคมฯ ไม่ถูกต้องชอบธรรมตามกฎหมาย และทับซ้อนกับการสัญญาสัมปทาน ซึ่ง กมธ.ได้เชิญ นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ อดีตรองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ฐานะอดีตประธานอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาต และกำกับดูแลกิจการบริหารดาวเทียมสื่อสาร และนายโสรัจจ์ แรกสกุลชัย อดีตผู้อำนวยการส่วนงานคดีปกครองด้านโทรคมนาคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายโทรคมนาคมในขณะนั้น เข้าชี้แจง

 

 

น.ส.กัลยาระบุว่า จากข้อมูลเบื้องต้น ผู้ชี้แจงยืนยันว่าการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการกับบริษัทไทยคมฯ ในขณะนั้น เป็นคนละส่วนกับการให้สัญญาสัมปทาน และการออกใบอนุญาตประกอบกิจการให้กับบริษัทไทยคมฯ ภายใต้อำนาจของ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค.ในยุคนั้น ปฏิบัติภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ และกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ซึ่งบริบทในตอนนั้นต่างจากบทบัญญัติ และอำนาจของ กสทช.หลังมีรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีการแก้ไขปรับปรุง พ.ร.บ.กสทช.หลายครั้ง ตลอดจนการเปิดเสรีดาวเทียมในภายหลัง อย่างไรก็ดียังมีประเด็นที่ กมธ.ต้องพิจารณาเพิ่มเติมจึงขอนัดประชุม กมธ. พิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งในการประชุมครั้งต่อไป

 

 

สำหรับสาระสำคัญของผู้ชี้แจงนั้น นายธานีรัตน์ ระบุว่า การที่ กทค. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนกสทช. ในขณะนั้นได้ออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ให้กับบริษัท ไทยคมฯ เป็นการใช้อำนาจและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ รวมทั้งกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการอนุญาตและกำกับดูแลในกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งคลื่นความถี่ที่ถือเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ โดยหน้าที่สำคัญ คือการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการดาวเทียม และดูแลการให้บริการดาวเทียม ซึ่งการออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการดาวเทียมดังกล่าวนั้น เป็นไป ภายใต้กรอบของกฎหมายที่ให้อำนาจหน่วยงาน คือ กสทช. ดำเนินการและมีคำพิพากษาของศาลปกครองในคดีหมายเลข 546/2550 วินิจฉัยเป็นบรรทัดฐานว่า การประกอบกิจการดาวเทียมถือเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมและอยู่ในอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ทั้งนี้ การออกใบอนุญาตประกอบกิจการนั้น เป็นคนละกรณีกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ที่ต้องเข้าสู่ระบบประมูล

 

 

ขณะที่ นายโสรัจจ์ ชี้แจงเสริมด้วยว่า กสทช. มีอำนาจตามกฎหมายในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ ทั้งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้มีองค์กรอิสระดูแลและ กำกับกิจการโทรคมนาคม การจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นประโยชน์สูงสุดกับประชาชนและประเทศชาติ รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และ พ.ร.บ. กสทช. พ.ศ.2553 และ พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ พ.ศ.2544 สำหรับหลักเกณฑ์การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการนั้น กสทช. ดำเนินการภายใต้กฎหมายแม่บทที่ให้อำนาจข้างต้น และมีอนุบัญญัติซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการรองรับทั้งสิ้น โดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศ และรักษาวงโคจรของชาติเป็นสำคัญ

 

 

“ที่ตั้งข้อสังเกตว่าการออกใบอนุญาต ทับซ้อนกับสัญญาสัมปทานหรือไม่นั้น ข้อเท็จจริงสัญญาสัมปทาน และใบอนุญาตประกอบกิจการ เป็นคนละส่วนกัน โดยวงโคจรที่ 120 องศาตะวันออก เป็นการขออนุญาตจาก กสทช. ตามระบบกฎหมายใหม่ นอกเหนือจากสัญญาสัมปทาน โดยจะต้องมาขอใบอนุญาตจาก กสทช.โดยการให้ใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็นอำนาจการพิจารณาของ กสทช.” นายโสรัจจ์ ชี้แจง

 

 

นายโสรัจจ์กล่าวด้วยว่า ใบอนุญาตที่อนุมัติให้บริษัท ไทยคมฯ เมื่อปี 2555 เป็นใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม มิใช่ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ หรือ พ.ร.บ.กสทช. พ.ศ.2553 จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าว และไม่ต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลเช่นเดียวกับการประมูลคลื่นความถี่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง