รีเซต

กมธ.ดีอีเอส เชิญ ก.คลัง-ก.ดิจิทัล-กสทช. แจงแอป 'เราชนะ-ไทยชนะ-หมอชนะ' ขณะที่'กัลยา' แนะต้องทำให้ประชาชนเข้าใจชัดเจน

กมธ.ดีอีเอส เชิญ ก.คลัง-ก.ดิจิทัล-กสทช. แจงแอป 'เราชนะ-ไทยชนะ-หมอชนะ' ขณะที่'กัลยา' แนะต้องทำให้ประชาชนเข้าใจชัดเจน
มติชน
22 มกราคม 2564 ( 13:17 )
124

กมธ.ดีอีเอส เชิญ ก.คลัง-ก.ดิจิทัล-กสทช. แจงแอป ‘เราชนะ-ไทยชนะ-หมอชนะ’ ขณะที่’กัลยา’ แนะต้องทำให้ประชาชนเข้าใจชัดเจน ‘สรอรรถ’หวั่นช่วยได้ไม่คลอบคลุม เหตุ ปชช.หลายล้านคนไม่มีสมาร์ทโฟน สงสัยช่วยกันโควิดได้แค่ไหน ‘ปกรณ์วุฒิ’ ชี้ คนขาดความเชื่อมั่นกลัวข้อมูลหลุดไปใช้ทำอย่างอื่น ตัวแทนคลัง-ดิจิทัล ประสานเสียงยันโครงการตอบโจทย์ แต่ยังมีส่วนที่ต้องเร่งปรับปรุง

 

เมื่อวันที่ 22 มกราคม น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ(พปชร) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร การโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ในการประชุมกมธ.ฯ เมื่อวันที่ 21มกราคมที่ผ่านมา มีการพิจารณาเรื่องมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ผ่านโครงการ “เราชนะ” รวมทั้งมาตรการป้องกันโควิด-19 ผ่านแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ” โดยได้เชิญผู้แทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DES) ผู้แทนกระทรวงการคลัง และผู้แทนจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าชี้แจง

 

น.ส.กัลยา กล่าวว่า การเชิญตัวแทนจาก กระทรวงและกสทช.มาชี้แจง เพื่อสอบถามถึงแนวคิดในการช่วยเหลือประชาชนว่าเป็นอย่างไร ครอบคลุมทั่วถึงทุกกลุ่มหรือไม่ รวมถึงการใช้แอปพลิเคชันต่างๆมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเรื่องเหล่านี้ต้องอธิบายให้ชัดเจนไม่ให้ประชาชนเกิดความสงสัย หรือระแวงว่าแอปพลิชันต่างๆมีการนำข้อมูลไปใช้ในการติดตามตัวตามที่มีกระแสข่าวลือ ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจนทำให้ประชาชนเข้าใจในจุดนี้ด้วย รวมถึงรับฟังข้อเสนอแนะต่างๆของ กมธ.ทุกท่านเพื่อหวังว่าจะมีประโยชน์ในการพัฒนางานเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน

 

 

โดยนายสรอรรถ กลิ่นประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย (ภท.)ในฐานะประธานที่ปรึกษากมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ตนมีข้อสงสัยว่าทำไมต้องเน้นไปที่คนที่มีสมาร์ทโฟน กลุ่มเป้าหมายในการช่วยเหลือดูกระจุกตัว เพราะมีประชาชนอีกเป็นล้านที่ไม่มีสมาร์ทโฟนใช้ รวมถึงการใช้จะต้องมีการยิงบาร์โค๊ด แบบนี้จะทำให้มีความคลอบคลุมทุกเป้าหมายยังไง ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า ต้องให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการบริการของภาครัฐ ซึ่งการออกนโยบายมาลักษณะแบบนี้จะเป็นการขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ส่วนในกรณีของแอปพลิเคชัน “ไทยชนะ” และ “หมอชนะ” ตนคิดว่าเป็นแอปพลิเคชันที่ดี แต่ควรมีความเข้มงวดในการบังคับใช้โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง รวมถึงการติดตามว่าคนที่ใช้อยู่ในกลุ่มพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ และคนที่ไม่มีโทรศัพท์จะติดตามและป้องกันอย่างไร รวมถึงคนนอกสามารถเข้าไปเช็คตำแหน่งของผู้ใช้แอปพลิเคชันได้หรือไม่

 

 

ขณะที่ นายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย(พลท.) ในฐานะ รองประธาน กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า พื้นที่จังหวัดต่างๆที่ตนได้ลงพื้นที่มา มีชาวบ้านที่ยากจน และอีกจำนวนมากยังไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราจะมีวิธีการช่วยเหลืออย่างไรหรือไม่เพื่อไม่ต้องมีการลงทะเบียนผ่านเวปไซต์ เพราะคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง ตนอยากให้รัฐดูแลอย่างทั่วถึง การแจกจ่ายเงินที่ไม่ทั่วถึงไม่ถูกเป้าทำให้ช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชนไม่ได้

 

นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.)ในฐานะรองประธาน กมธ. ดีอีเอส กล่าวว่า ที่ผ่านมาการใช้แอปพลิเคชัน ไทยชนะและหมอชนะ ติดตามกลุ่มเสี่ยงได้มากน้อยแค่ไหน และแตกต่างกับลงทะเบียนด้วยกระดาษอย่างไร ที่ผ่านมาได้ผลมากน้อยแค่ไหน และความน่าเชื่อถือของ หมอชนะ หลังรัฐนำเอาไปทำเอง คนมองว่าเกิดความไม่โปร่งใส ขาดความเชื่อมั่น เพราะกลัวว่าข้อมูลจะรั่วไหล ตรงนี้จะอธิบายอย่างไร

 

นายเสมอกัน เที่ยงธรรม ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา(ชทพ.) ในฐานะโฆษก กมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า การเปิดให้ลงทะเบียนเราชนะ รัฐต้องรู้อยู่แล้วว่าใครมีสิทธิ์หรือไม่มีสิทธิ์ ทำไมไม่ทำให้เป็นระบบออโต้ ตรวจสอบได้ทันทีไม่ต้องรอการตรวจสอบสถานะ จะปรับปรุงได้หรือไม่ และคนที่อยู่บนป่าบนเขา เมื่อได้สิทธิ์แล้วไม่มีที่ใช้ ใช้ได้ยาก หรือบางคนรับสิทธิ์หรือลงทะเบียนไม่ได้ อยากฝากกระทรวงการคลังช่วยเหลือตรงจุดนี้ด้วย

 

 

อย่างไรก็ตาม ตัวแทนจากกระทรวงการคลัง ชี้แจงว่า แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการลงทะเบียนผ่านแอปเป๋าตัง แต่การลงทะเบียนในแอปอื่นๆต้องให้ผู้ลงทะเบียนอนุญาตการตรวจสอบข้อมูล เราไม่สามารถทำโดยพละการได้ ส่วนมาตรการการเก็บตกผู้ที่ยังไม่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราทำมาแล้ว 1 รอบ แต่อาจจะยังมีคนตกหล่นอยู่ เพราะบางพื้นที่คนอาจจะลงทะเบียนไม่เป็น ซึ่งเราได้ขอความร่วมมือกับธนาคารของรัฐ เปิดศูนย์ช่วยเหลืออำนวยความสะดวกให้ประชาชนแล้ว ส่วนการแจกเงินให้กับประชาชนผ่านแอปและไม่ให้นำเงินสดออกมานั้น เราไม่อยากให้เกิดการกระจุกตัวเพราะคนจะรวมตัวกันไปกดเงินสดออกมา เสี่ยงต่อนโยบายป้องกันโรคของกระทรวงสาธารณสุข และยังเป็นการลดการสัมผัสเงินสดที่อาจจะเป็นพาหะในการแพร่เชื้อโรคด้วย ซึ่งตอนนี้กระทรวงการคลังพยายามเพิ่มร้านค้าผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อให้ประชาชนซื้อของได้หลายพื้นที่มากขึ้น ในส่วนของเรื่องมือถือ เราพยายามทดแทนให้กับคนที่เข้าไม่ถึงด้วยบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ขณะนี้มีอยู่ 14 ล้านคน ส่วนการแบ่งจ่ายเป็นรายสัปดาห์เพื่อให้เกิดการวางแผนการใช้เงินและให้มีการไปซื้อของหลายๆที่

 

ด้านตัวแทนจากระทรวงดีอีเอส ชี้แจงว่า แอปพลิเคชัน ไทยชนะ และ หมอชนะ สร้างเพื่อติดตามบุคคลที่ลงทะเบียนว่าเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงใดบ้างหรือไม่ และหากมีการติดเชื้อจะนำมาประมวลผลและแจ้งเตือนผู้ใกล้ชิด โดยข้อมูลจะแสดงเป็นไอดี ซึ่งแอปนี้มีการยกเว้นค่าบริการอินเตอร์เน็ต ส่วนกรณีแอปหมอชนะ เรามีอาสาสมัครที่ทำแอปนี้ทำงานร่วมกันกับภาครัฐในการพัฒนาแอปให้ตอบโจทย์ ยืนยันว่าไม่มีการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์อื่นๆ เพราะคนที่ลงทะเบียนไว้ แอปจะแสดงผลเป็นไอดี ไม่มีการโชว์ข้อมูลส่วนตัวใดๆทั้งสิ้น และเมื่อบุคคลนั้นติดเชื้อ เราจะเตือนและให้ติดต่อกลับไปยังกรมควบคุมโรค และขณะนี้เรากำลังเร่งพัฒนาแอปให้สมบูรณ์มากที่สุดเพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

////

ข่าวที่เกี่ยวข้อง