รีเซต

กมธ.ดีอีเอส ตั้ง อนุกมธ.ผลักดันนโยบายการปรับโครงสร้างดิจิทัล 'กัลยา'ชี้หลังโควิดต้องรีบฟื้นฟู

กมธ.ดีอีเอส ตั้ง อนุกมธ.ผลักดันนโยบายการปรับโครงสร้างดิจิทัล 'กัลยา'ชี้หลังโควิดต้องรีบฟื้นฟู
มติชน
28 มิถุนายน 2564 ( 14:45 )
62

กมธ.ดีอีเอส ตั้ง อนุกมธ.ผลักดันนโยบายการปรับโครงสร้างดิจิทัล ‘กัลยา’ชี้หลังโควิดต้องรีบฟื้นฟู หวังช่วยปรับโครงสร้างดิจิทัล’เศรษฐพงค์’ เผยต้องศึกษาเปรียบเทียบจากต่างประเทศ นำมากระตุ้นเศรษฐกิจตามแผนพัฒนาฉบับที่ 13

 

 

 

เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะประธานกรรมาธิการ(กมธ.)การสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กมธ.ดีอีเอส ได้มีมติตั้ง คณะอนุกรรมาธิการการผลักดันนโยบายการปรับโครงสร้างดิจิทัล (Digital Transformation) โดยมี พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานกมธ.ดีอีเอส เป็นประธาน เพื่อพิจารณางานด้านโครงสร้างดิจิทัล หลังจากที่ภัยพิบัติโควิด-19 ที่ผ่านมานำมาซึ่งความเสียหายทั้งในระบบเศรษฐกิจและสังคมทั่วโลก แผนฟื้นฟูเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับหรับประเทศต่าง ๆ รวมทั้งเป็นโอกาสที่จะมีการปรับโครงสร้างของประเทศให้สองคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)มีทั้งหมด 17 เป้าหมาย (Goals) ของสหประชาชาติโดยที่มีเป้าหมายจะต้องการให้ประสบความสำเร็จภายใน พ.ศ. 2573 หนึ่งในเครื่องมือที่จะสนับสนุนให้เข้าสู่เป้าหมายต่าง ๆ ได้ โดยตัวอย่างเช่น กลุ่มประเทศของสหภาพยุโรป ที่ได้มีการประกาศแผนการฟื้นฟูประเทศ ภายใต้รหัสโครงการ Next Generation EU โดยมองการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของอย่างคือ Climate Transition และ Digital Transition เพื่อเข้ามาปรับสภาพโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม ของประเทศต่าง ๆ ในสหภาพยุโรป

 

 

 

 

 

ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย(ภท.) ในฐานะรองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยได้มีการริเริ่มในการทำแผนฟื้นฟูประเทศ หลังจากเกิดภัยพิบัติโควิดแล้ว รวมทั้งมีการตั้งงบประมาณและแผนงานไว้แล้วบางส่วน นอกจากนี้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (2566-2570) ที่ตั้งเป้าหมายจะประกาศเริ่มต้นใช้ในเดือนตุลาคม 2565 โดยตามแผนงานในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการยกร่างแผนฯ ฉบับที่ 13 เพื่อนำไปสู่การรับฟังความเห็นสาธารณะ ทางอนุกรรมาธิการฯ จะสามารถนำผลการศึกษา ไปเสนอแนะเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการร่างแผนทั้งสองได้ต่อไป โดยเป้าประหมายของคณะอนุกรรมาธิการฯ คือ ศึกษาเปรียบเทียบแผนฟื้นฟูของประเทศต่าง ๆ ในประดับของการปรับโครงสร้างดิจิทัล ในระบบเศรษฐกิจและสังคม ติดตามความคืบหน้าของร่างแผนฟื้นฟู กระบวนการร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13 ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาและยกระดับโครงสร้างดิจิทัล เสนอแนะข้อมูล คำแนะนำ บทวิเคราะห์ ที่เหมาะสมกับบริบทประเทศไทย ต่อร่างแผนฟื้นฟูฯ และแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 13

ข่าวที่เกี่ยวข้อง