กมธ.ดีอีเอส ถก กสทช. ปัญหาวิทยุชุมชนในอนาคต 'กัลยา' ชี้ ต้องปรับตัว แนะช่วยหาทางออกให้ผู้ประกอบการ
กมธ.ดีอีเอส ถก กสทช. ปัญหาวิทยุชุมชนในอนาคต ‘กัลยา’ ชี้ ต้องปรับตัว แนะช่วยหาทางออกให้ผู้ประกอบการ ‘เศรษฐพงค์’ ชี้ ระบบดิจิทัลทำให้สัญญาณดีขึ้น’นิคม’วอน หาทางช่วยผู้ทำวิทยุ
เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวว่า ในการประชุมกมธ.ดีอีเอส เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีวาระพิจารณาเรื่องแนวทางการบริหารงานวิทยุชุมชนในอนาคต โดยได้เชิญตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้าชี้แจง ซึ่งเรื่องดังกล่าวตนเข้าใจว่าทุกอย่างจะต้องมีการเปลี่ยนแปลง นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้ เหมือนที่หลายประเทศก็ใช้การออกอากาศวิทยุผ่านระบบดิจิทัล รวมทั้งประเทศไทยเองก็มีการใช้ทีวีดิจิทัลมาหลายปีแล้ว การจะนำมาใช้กับวิทยุก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะถ้าไม่ปรับตัวเราก็อยู่ไม่ได้ แต่ต้องมีการเปิดช่องทางให้ความรู้ หาทางออกให้คนที่ประกอบด้านวิทยุด้วย ต้องดูแลช่วยเหลือผลักดัน ตนจึงอยากฝากทาง กสทช. ช่วยหาวิธีการดำเนินการในเรื่องเหล่านี้ด้วย
ขณะที่ พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย(ภท.)ในฐานะ รองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ในปัจจุบันพฤติกรรมการรับฟังวิทยุของคนไทยรวมถึงคนทั้งโลกเปลี่ยนแปลงไป มีการรับฟังวิทยุผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่คนที่รับฟังวิทยุระบบอนาล็อกจะเน้นไปที่การรับฟังข่าวตอนขับรถ ซึ่งพบปัญหาหลายอย่างทั้งการถูกคลื่นรบกวน เสียงไม่ชัดเจน ซึ่งหากมีการปรับการออกอากาศเป็นระบบดิจิตอลน่าจะช่วยให้สัญญาณดีขึ้น แต่ทั้งนี้ก็ต้องมีมาตรการที่ชัดเจนในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ การประชาสัมพันธ์ช่องทางการรับฟัง เหมือนตอนที่เปลี่ยนจากทีวีอนาล็อกเป็นทีวีดิจิทัลด้วย
ด้านนายนิคม บุญวิเศษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังปวงชนไทย ในฐานะรองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับการเปลี่ยนระบบกระจายเสียงวิทยุจากระบบอนาล็อก เป็นระบบดิจิทัล แต่อยากให้ทาง กสทช. มีการเตรียมความพร้อม และอยากให้การเปลี่ยนแปลงเกิดโดยธรรมชาติ และควรจะมีการดำเนินการควบคู่กันไปก่อนทั้งระบบอนาล็อกและระบบดิจิทัล ซึ่งตนเห็นใจผู้ประการกิจการวิทยุในปัจจุบัน กว่าจะสร้างกลุ่มลูกค้าหรือผู้ฟังได้ ต้องลงทุนลงแรงอย่างมหาศาลเพื่อให้ผู้ฟังได้จดจำและติดตามอย่างต่อเนื่อง แต่หากจะต้องเปลี่ยนเป็นระบบดิจิทัลปัญหาไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ต้องมีการสร้างแบรนด์ใหม่ เพราะผู้ฟังอาจจะไม่รู้ว่าเขาเปลี่ยนคลื่นไปอยู่ช่องไหน ตนอยากให้ กสทช.เข้าใจผู้ประกอบการด้วย ขอให้มองหลายๆมุม และอยากให้ทางกสทช. ประกาศให้ชัดเจนว่าจะมีการยกเลิกระบบอนาล็อกเมื่อไร หรือจะยกเลิกเลยหรือไม่ พวกเขาจะได้ไปทำธุรกิจอย่างอื่นแทน และจะมีการส่งเสริมแนวทางความรู้ มีการแนะนำและให้ผู้ประกอบการปรับตัวและสร้างแรงจูงใจอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ ตัวแทนจาก กสทช. ชี้แจงว่า จากการสำรวจพฤติกรรมและแนวโน้มการรับฟังสื่อทางเสียงปี 2562 พบว่า วิทยุ FM ได้รับความนิยมสูงสุดทั่วประเทศ โดยส่วนใหญ่กลุ่มผู้มีอายุมากจะรับฟังรายการข่าว ส่วนผู้ที่มีอายุน้อยจะฟังรายการบันเทิง ส่วนการฟังเพลงออนไลน์และเพลงสตรีมมิ่งพบว่า โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางที่สำคัญมากที่สุด ซึ่งปัจจุบันประชาชนที่รับฟังวิทยุในระบบอนาล็อกส่วนใหญ่มีแนวโน้มลดลง เพราะมีปัญหาจากสัญญาณรบกวน คุณภาพของเสียงต่ำและเสียงไม่ชัดเจน ซึ่งทาง กสทช.มีการทำวิเคราะห์ถึงจุดอ่อนจุดแข็งของแต่ละระบบ รวมทั้งโอกาสและอุปสรรคด้วย รวมทั้งได้จัดทำร่างแผนพัฒนากิจการกระจายเสียง ฉบับที่ 1 พ.ศ…. รวมถึงวิเคราะห์ถึงทิศทางการพัฒนากิจการกระจายเสียง ซึ่งทั้งหมดนี้เราจะต้องรับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนต่อไป ก่อนที่จะนำข้อมูลทั้งหมดมาพิจารณาอีกครั้ง