รีเซต

ฝรั่งเศสประท้วงเดือด ต้านแผนปฏิรูปบำนาญ หลังรัฐบาลผ่านร่างกฎหมายโดยไม่ต้องลงคะแนน

ฝรั่งเศสประท้วงเดือด ต้านแผนปฏิรูปบำนาญ หลังรัฐบาลผ่านร่างกฎหมายโดยไม่ต้องลงคะแนน
TNN ช่อง16
17 มีนาคม 2566 ( 16:07 )
64
ฝรั่งเศสประท้วงเดือด ต้านแผนปฏิรูปบำนาญ หลังรัฐบาลผ่านร่างกฎหมายโดยไม่ต้องลงคะแนน

---ผ่านร่างกฎหมาย ด้วยการ “ไม่ลงคะแนน”--- 


ประชาชนฝรั่งเศสต่างแสดงความโกรธแค้นมากขึ้นไปอีก เมื่อร่างปฏิรูประบบบำนาญของฝรั่งเศส ผ่านรัฐสภา “โดยไม่มีการลงคะแนน” เพราะกลัวว่าจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภา เรื่องนี้ยิ่งส่งผลให้ประชาชนออกมาประท้วงกันหนักขึ้นอีก


แผนปฏิรูประบบบำนาญที่ผลักดันโดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง จะเพิ่มอายุเกษียณจาก 62 เป็น 64 ปี โดยแผนดังกล่าวผ่านสภาสูงได้เมื่อวันพฤหัสบดี (16 มีนาคม) แต่ทางคณะรัฐมนตรีเกร็งว่าจะไม่ผ่านความเห็นชอบจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 


ความกังวลดังกล่าว ทำให้ ‘เอลิซาเบธ บอร์น’ นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เลือกใช้อำนาจในมาตรา 49:3 ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งให้อำนาจรัฐบาลในการ “หลีกเลี่ยงการโหวตในรัฐสภา” 


“เราไม่สามารถเอาอนาคตของเรามาขึงไว้กับเรื่องนี้ได้ เพราะการปฏิรูประบบบำนาญนั่นเป็นเรื่องจำเป็นมาก” นายกรัฐมนตรีบอร์น กล่าวท่ามกลางความวุ่นวายของสภาล่าง


ทันทีที่นายกฯ บอร์นขึ้นกล่าว ทาง ส.ส.ฝ่ายซ้ายได้ร้องเพลงชาติ ‘La Marseillaise’ พร้อมป้ายข้อความว่า “64 ANS C’EST NON” หรือแปลว่า “ไม่เอา 64” ก่อนที่จะต้องปิดสภาลงแทบจะในทันทีหลังเธอขึ้นกล่าว เพราะมีคนตะโกนให้เธอลาออกด้วย 


ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่า การบังคับให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภาได้โดยไม่ต้องลงคะแนน อาจเป็นทางเลือกที่ “แย่น้อยที่สุด” สำหรับรัฐบาล แต่ก็เต็มไปด้วยความเสี่ยง เพราะนั่นทำให้รัฐบาลถูกติเตียนอย่างหนัก และเสี่ยงที่จะทำให้ประเทศ “ลุกเป็นไฟ”


ด้านมารีน เลอ เปน ผู้ที่เคยท้าชิงประธานาธิบดีกับมาครง กล่าวว่า นี่แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวของตัวมาครง


“เพราะนี่คือความพยายามผลักดันปฏิรูปของเขา เขาเป็นผู้เสนอมัน และมีการประท้วงต่อเรื่องนี้อย่างรุนแรง” เลอ เปน กล่าว 


แม้ว่าตัวของประธานาธิบดีมาครงเองจะได้รับเลือกตั้งกลับมาดำรงตำแหน่งอีกสมัยเมื่อปีที่แล้ว แต่พรรคร่วมรัฐบาลของเขากลับไม่ได้รับเสียงข้างมากในรัฐสภา และอาจจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากพรรครีพับลิกันด้วยซ้ำ 


---ประชาชนเดือด ประท้วงทุกหย่อมหญ้า--- 


ประชาชนแต่เดิมที่โมโหเรื่องอายุเกษียณอยู่แล้ว มาเจอการผ่านร่างกฎหมายด้วยอำนาจพิเศษเช่นนี้ไป ก็ยิ่งทำให้เกิดการประท้วงรุนแรงมากขึ้นไปอีก โดยมีรายงานการประท้วงทั่วประเทศ ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องการเพิ่มอายุการเกษียณไปอีก 2 ปีเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องที่ต้องสมทบเงินไปอีกหนึ่งปี เพื่อเข้าโครงการบำนาญแห่งชาติอีกด้วย 


มีรายงานการจุดไฟเผาตามถนนสายต่าง ๆ ในกรุงปารีสเมื่อค่ำวันพฤหัสบดี (16 มีนาคม) ทำให้ตำรวจต้องฉีดแก๊สน้ำตา เพื่อสลายผู้ชุมนุม 


มีรายงานอีกว่ารถคันหนึ่งถูกจุดไฟเผา พร้อม ๆ กับกองขยะอีกมหาศาล บนถนนใกล้กับจัตุรัสคองคอร์ด ซึ่งประเมินว่าน่า จะมีผู้ประท้วงบริเวณดังกล่าวราว 7,000 คน ผู้ประท้วงบางคนขว้างก้อนหิน และยิงพลุไฟใส่ตำรวจ โดยสื่อท้องถิ่นรายงานว่ามีประชาชนถูกจับกุมอย่างน้อย 217 คน 


สภาพแรงงานได้ประท้วงต่อเนื่องมานาน 8 วันแล้ว ในหลายเมืองทั่วฝรั่งเศส โดยได้พยายามเรียกร้องให้สมาชิกรัฐสภาปฏิเสธแผนการปฏิรูปดังกล่าว โดยสหภาพระบุว่า 70% ของแรงงาน 94% ของประเทศ ไม่ยอมรับแผนการนี้ 


พร้อมย้ำว่า การที่รัฐบาลผ่านร่างกฎหมายนี้ด้วยอำนาจพิเศษ “เป็นการขัดต่อหลักการประชาธิปไตยอย่างสมบูรณ์”


---ขยะล้นปารีส ไร้พนักงานเก็บ---


การประท้วงที่ดำเนินต่อเนื่องมานี้ ส่งผลกระทบต่อหลากภาคส่วน หนึ่งในนั้นคือการเก็บขยะ โดยเฉพาะในกรุงปารีส เมืองหลวงของฝรั่งเศส ที่ตอนนี้กลายสภาพมาเป็นเมืองที่มีขยะล้นเมืองไปทุกหนแห่ง จากการที่พนักงานเก็บขยะก็ออกมาประท้วงแผนการปฏิรูประบบบำนาญนี้ด้วยเช่นกัน


ส่งผลให้หัวหน้าตำรวจในกรุงปารีส แจ้งไปยังนายกเทศมนตรีกรุงปารีส ‘แอนน์ ไฮดาลโก’ ว่า อาจต้องมีการบังคับให้พนักงานเก็บขยะกลับมาทำงานในทันที ไม่เช่นนั้นอาจต้องโทษจำคุกหรือการปรับอย่างรุนแรง


ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา มีถุงขยะถูกกองสุมกลายเป็นภูเขาขยะปริมาณมากทั่วกรุงปารีสและอีกหลายเมือง โดยพบว่ามีการเก็บขยะไปราว 7,600 ตัน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา 


สำหรับพนักงานเก็บขยะ จะเกษียณอายุตอน 57 ปี เพราะต้องทำงานอย่างหนัก แต่ภายใต้การปฏิรูประบบบำนาญนี้ พวกเขาจะต้องขยายเวลาทำงานออกไปอีก 2 ปี เป็น 59 ปี 

—————

แปล-เรียบเรียง: ภัทร จินตนะกุล 

ภาพ: Reuters


ข้อมูลอ้างอิง:

BBCAl Jazeera

ข่าวที่เกี่ยวข้อง