รีเซต

วัคซีนโควิด-19 เด็ก: เปิดแผนวัคซีนเดือน ต.ค. นักเรียน 12-17 ปี ฉีดไฟเซอร์ 4.8 ล้านโดส

วัคซีนโควิด-19 เด็ก: เปิดแผนวัคซีนเดือน ต.ค. นักเรียน 12-17 ปี ฉีดไฟเซอร์ 4.8 ล้านโดส
บีบีซี ไทย
12 กันยายน 2564 ( 14:41 )
50

ข่าววันนี้ กลุ่มนักเรียน อายุ 12-17 ปี เป็นหนึ่งในกลุ่มที่ได้รับการจัดสรรให้ได้รับวัคซีนต้านโควิด-19 ในเดือน ต.ค. นี้ โดยเป็นวัคซีนชนิด mRNA ยี่ห้อไฟเซอร์ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขวางแผนว่าจะมีการฉีดทั่วประเทศ 4.8 ล้านคน โดย แผนการฉีดวัคซีนของเดือน ต.ค. ถูกประกาศเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา นพ. โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงข่าวแผนการจัดหาวัคซีนในเดือน ต.ค. ทั้งสิ้น 24 ล้านโดส โดยกลุ่มของนักเรียนอายุ 12-17 ปี กระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาชั้นเรียนที่จะเริ่มให้วัคซีนเป็นลำดับแรก

 

"เดือน ต.ค. เป็นเดือนที่ประชาชนจะมาฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ค่อนข้างมาก จึงต้องให้ได้รับครอบคลุมมากที่สุด รวมทั้งกลุ่มเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป จะมีการจัดสรรในเดือน ต.ค. เช่นกัน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน..." นพ.โอภาส กล่าว

 

อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่า ประเด็นภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบหลังฉีดวัคซีนไฟเซอร์ สำหรับไทยพบ 1 รายหลังจากฉีดไปประมาณ 1 ล้านโดส คิดเป็น 0.11 ต่อแสนโดส ขณะนี้หายเป็นปกติ อย่างไรก็ตาม อาการไม่พึงประสงค์ทางกระทรวงสาธารณสุขมีการติดตามต่อเนื่อง

 

ก่อนหน้านี้การฉีดวัคซีนให้แก่เด็กอายุ 12-17 ปี มีการเริ่มจัดสรรวัคซีนไฟเซอร์ล็อตบริจาคจากสหรัฐฯ ให้ แต่จะต้องเป็นเด็กที่เป็นกลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง ขณะที่กรุงเทพมหานคร เตรียมฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้นักเรียนกลุ่มเสี่ยง อายุ 12-18 ปี ในวันที่ 21 ก.ย. นี้

 

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังกล่าวถึงแผนการกระจายวัคซีนของเดือน ต.ค. ทั้ง 24 ล้านโดส ว่าแบ่งออกเป็น ซิโนแวค 6 ล้านโดส แอสตร้าเซนเนก้า 10 ล้านโดส ไฟเซอร์ 8 ล้านโดส นอกจากนี้ยังมีซิโนฟาร์มที่ทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้ามาอีกประมาณ 6 ล้านโดส

 

ภาพรวมกลุ่มเป้าหมายการฉีดวัคซีนในเดือน ต.ค. แบ่งเป็น

  • ประชาชนทั่วไปอายุ 18 ปีขึ้นไป 16.8 ล้านโดส
  • นักเรียนอายุ 12-17 ปีทั่วประเทศ 4.8 ล้านโดส ฉีดไฟเซอร์ 2 เข็ม
  • แรงงานในระบบประกันสังคม 8 แสนโดส
  • หน่วยงานอื่น เช่น องค์กรรัฐ ราชทัณฑ์ 1.1 ล้านโดส
  • เข็มสาม สำหรับคนฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม 5 แสนโดส ซึ่งปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์

 

สำหรับการกระตุ้นเข็มสามในผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็ม เบื้องต้นจะเริ่มในกลุ่มที่ฉีดครบโดสในช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค. 2564 และจะมีการจัดสรรวัคซีนไปยังพื้นที่เศรษฐกิจและควบคุมการระบาดต่อไป

 

ทั้งนี้ แผนการฉีดวัคซีนโควิดที่ ศบค.เห็นชอบในเดือน ต.ค. เป้าหมายจะฉีดครอบคลุมประชากรทั้งหมดอย่างน้อย 50% ของทุกจังหวัด โดยพยายามให้อย่างน้อย 1 จังหวัดมีความครอบคลุม 70% และให้มีแผนดำเนินการ COVID free Area อย่างน้อย 1 พื้นที่ ซึ่งมีความครอบคลุม 80%

 

ส่วนการฉีดวัคซีนในเดือน ก.ย. คาดว่าจะฉีดได้ ทั้งหมด 45 ล้านโดส ขณะที่ยอดล่าสุด มีผู้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม อยู่ที่ 26,954,546 คน คนที่ฉีดครบ 2 เข็มมีจำนวน 12,063,643 คน

 

คำแนะนำฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กอายุ 12 ขึ้นไป จากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ

 

เมื่อวันที่ 7 ก.ย. ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ออกคำแนะนำฉบับที่ 2 เกี่ยวกับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กและวัยรุ่น อายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป โดยระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนกับองค์การอาหารและยาแห่งประเทศไทย (อย.) ให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่น โดยให้ตรงตามอายุที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ และวัคซีนได้ผ่านการพิจารณาด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพจากคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ซึ่งในขณะนี้ (7 ก.ย. 2564) มีวัคซีนโควิด-19เพียงชนิดเดียวคือ วัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์-ไบออนเทค ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนให้ใช้ในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป

 

นอกจากนี้ ยังแนะนำให้ฉีดวัคซีนในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 16 ปีจนถึงน้อยกว่า 18 ปี ทุกรายหากไม่มีข้อห้ามในการฉีด ทั้งเด็กที่ปกติแข็งแรงดีและที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังที่เป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 ที่รุนแรงอาจถึงแก่เสียชีวิต

 

ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ฯ ระบุว่า สำหรับเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปจนถึงน้อยกว่า 16 ปี แนะนำให้ฉีดในกรณีเป็นผู้ป่วยเด็กกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคเรื้องรัง ซึ่งจะทำให้เกิดอาการของโรคที่รุนแรง ดังต่อไปนี้

  1. บุคคลที่มีโรคอ้วน (ดัชนีมวลกายมากกว่า 35 กก.ต่อตารางเมตร หรือมีน้ำหนัก 70 กก. ขึ้นไปในเด็กอายุ 12-13 ปี น้ำหนัก 80 กก. ขึ้นไปในเด็กอายุ 13-15 ปี น้ำหนัก 90 กก.ขึ้นไปในเด็กอายุ 15-18 ปี หรือเด็กอ้วนที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น)
  2. โรคทางเดินหายใจเรือรัง รวมทั้งโรคหอบหืดที่มีอาการปานกลางหรือรุนแรง
  3. โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง
  4. โรคไตวายเรื้อรัง
  5. โรคมะเร็งและภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  6. โรคเบาหวาน
  7. กลุ่มโรคพันธุกรรมรวมทั้งกลุ่มอาการดาวน์ เด็กที่มีภาวะบกพร่องทางระบบประสาทอย่างรุนแรง เด็กที่มีพัฒนาการช้า

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง