รีเซต

GISTDA เดินหน้าสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายด้านอวกาศทั้งเรื่อง "คาร์บอน" และ "Space Economy" ก่อนทิ้งทวนประธาน CEOS 2023 ที่เชียงราย

GISTDA เดินหน้าสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายด้านอวกาศทั้งเรื่อง "คาร์บอน" และ "Space Economy" ก่อนทิ้งทวนประธาน CEOS 2023 ที่เชียงราย
TNN ช่อง16
17 พฤศจิกายน 2566 ( 13:26 )
51
GISTDA เดินหน้าสร้างความร่วมมือภาคีเครือข่ายด้านอวกาศทั้งเรื่อง "คาร์บอน" และ "Space Economy" ก่อนทิ้งทวนประธาน CEOS 2023 ที่เชียงราย

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธาน CEOS (Committee on Earth Observation Satellites) 2023 หรือ ประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก จัดประชุมใหญ่ประจำปีพร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านอวกาศจากทั่วโลกในวาระสำคัญ เพื่อผลักดันประเทศไทยก้าวสู่ New Space Economy อย่างเต็มรูปแบบ พร้อมกับขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสำรวจโลกในการติดตามและประเมินคาร์บอน ณ เลอ เมอริเดียน เชียงราย รีสอร์ท จังหวัดเชียงราย 


วาระในงานประชุม CEOS 2023

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า "การประชุมใหญ่ครั้งนี้จะเป็นการประชุมประจำปีในฐานะประธาน CEOS 2023 เพื่อทบทวนการดำเนินงานตามเป้าหมายที่วางไว้ที่ต้องการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศเพื่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจและมนุษยชาติที่ดีขึ้น ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ ในภาคีได้รายงานความก้าวหน้าและผลลัพธ์การดำเนินงานในฐานะคณะทำงานของแต่ละกลุ่มตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา โดยที่ประชุมได้พิจารณารับรองวาระและเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง อาทิ แผนการลดปริมาณคาร์บอน แผนการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ การจัดการภัยพิบัติ รวมถึงแผนการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว โดยใช้ดาวเทียมสำรวจโลก และได้สรุปผลการดำเนินงานของประธานฯ พร้อมส่งมอบตำแหน่งประธานฯ ให้ประเทศสมาชิกถัดไป" 




การลดปริมาณคาร์บอนด้วยเทคโนโลยีอวกาศ

GISTDA ในฐานะประธานฯ ได้ผลักดันประเด็นการลดการปลดปล่อยคาร์บอน เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยนำข้อมูลจากดาวเทียมและเทคนิคที่เกี่ยวข้องมาใช้เป็นเครื่องมือติดตามและตรวจวัดการกักเก็บคาร์บอน แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และแก้ปัญหานำไปสู่การบรรเทาปัญหาโลกร้อนสอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของสำนักงานเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) 


การนำเทคโนโลยีจากดาวเทียมและข้อมูลภูมิสารสนเทศเข้ามาสนับสนุน จะทำให้สามารถจำแนกประเภทป่าไม้และประเมินความหนาแน่นชั้นเรือนยอดต้นไม้จากแบบจำลองเชิงพื้นที่ เพื่อประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าทำได้อย่าง รวดเร็ว แม่นยำ และเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และยังช่วยประหยัดเวลา และแรงงานคนที่ต้องใช้สำรวจภาคสนาม อีกทั้งลดความผิดพลาดจากการสำรวจด้วย โดยขณะนี้ GISTDA ได้ร่วมมือกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง จัดทำคาร์บอนเครดิตและมีการนำร่องในพื้นที่ป่าจังหวัดเชียงรายและกำลังขยายไปยังพื้นที่อื่น ๆ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจและวิเคราะห์นี้จะถูกรวบรวมนำไปสู่การจัดทำ “บัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทย” เพื่อใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศต่อไป  


การผลักดันเศรษฐกิจอวกาศหรือ Space Economy

GISTDA ในฐานะประธาน CEOS ยังผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาอุตสหากรรมอวกาศภายใต้หลักคิด "New Space" หรืออวกาศยุคใหม่ โดยที่ผ่านมา GISTDA เปิดโอกาสและส่งเสริมการพัฒนาด้านอวกาศระหว่างหน่วยงานด้านอวกาศและหน่วยงานภาคเอกชน รวมทั้งสร้างกิจกรรมในการเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานด้านอวกาศสู่ภาคเอกชนเพื่อยกระดับเศรษฐกิจอวกาศในระดับสากล และเพื่อขยายแนวทางของเศรษฐกิจจากอุตสาหกรรมอวกาศแบบใหม่ หรือ New Space Economy ให้ครอบคลุมห่วงโซ่อุตสาหกรรมอวกาศ (Space Value Chain) เช่น การสร้างและผลิตดาวเทียม หรือระบบนำส่งดาวเทียม 


ที่ผ่านมา GISTDA ได้ส่งเสริมผ่านกิจกรรมสำคัญ เช่น Thailand Space Week 2023 ที่เชิญผู้ประกอบการทั้งในและต่างประเทศร่วมทำการจับคู่ทางธุรกิจ (Business matching) รวมทั้ง ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น มุมมองด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศร่วมกัน หลังจากนี้ประเทศไทยจะดำเนินการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศที่จะเกิดขึ้นตลอดจนส่งเสริมการประยุกต์การใช้งานจากเทคโนโลยีอวกาศเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างยั่งยืนให้กับภาคเกษตร การจัดการด้านชลประทาน การจัดการทะเลและชายฝั่ง รวมทั้งการติดตามการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งจะสนับสนุนการพัฒนาประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ต่อไป



ผลลัพธ์จากการจัดงานประชุม CEOS 2023

ดร.ปกรณ์ กล่าวเสริมว่า "การที่ GISTDA เป็นประธานฯ ในครั้งนี้เราได้ทำงานร่วมกับผู้บริหาร วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์ชั้นนำจากองค์กรอวกาศทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในด้านเทคโนโลยีอวกาศมากยิ่งขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ดียิ่งสำหรับ GISTDA ที่จะยกระดับและสร้างมาตรฐานการดำเนินงานของ GISTDA สู่ระดับนานาชาติ และนำประโยชน์จากโครงการต่าง ๆ ภายใต้ CEOS มาปรับและยกระดับภารกิจของประเทศให้ก้าวหน้าและเทียบเท่ากับระดับสากล"  ทั้งนี้ วาระในการดำรงตำแหน่งประธาน CEOS ของ GISTDA จะหมดลงในสิ้นปีนี้  15-16 พฤศจิกายน 2566 ประเทศไทย โดย จึงมีการส่งมอบตำแหน่งนี้ให้กับ Canadian Space Agency (CSA) ประเทศแคนาดา ที่จะดำรงตำแหน่งประธานของการประชุม CEOS 2024 ต่อไป


ที่มาข้อมูล GISTDA

ข่าวที่เกี่ยวข้อง