รีเซต

วิกฤตประชากรไทย อีก 60 ปี ลดเหลือ 33 ล้านคน

วิกฤตประชากรไทย อีก 60 ปี ลดเหลือ 33 ล้านคน
TNN ช่อง16
4 พฤศจิกายน 2566 ( 10:23 )
136

กลายเป็นหนึ่งใน “วาระแห่งชาติ” ที่ต้องเร่งแก้ไขปัญหา เมื่อกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาเปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทย กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤตประชากรขาดแคลน อัตราการเกิดน้อย จากเดิมที่ประเทศไทยมีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคนในช่วงปี พ.ศ. 2506-2526 แต่ใน พ.ศ.2564 ลดลงเหลือเพียง  485,085 คนเท่านั้น ในขณะที่มีจำนวนการตายมีจำนวน 550,042 คน ซึ่งมากกว่าจำนวนการเกิดถึง 64,957 คน 



ขณะที่ ศาสตราจารย์ ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน ศาสตราจารย์เชี่ยวชาญด้านประชากรศาสตร์ ระบุว่า ใน 60 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรไทยจะลดลงจาก 66 ล้านคน เหลือเพียง 33 ล้านคน ในปี 2626 โดยจำนวนประชากรวัยแรงงาน ช่วงอายุ 15-64 ปี จะลดลงจาก 46 ล้านคน เหลือเพียง 14 ล้านคน ส่วนจำนวนประชากรวัยเด็ก อายุ 0-14 ปี จะลดลงจาก 10 ล้านคน เหลือเพียง 1 ล้านคน 



ส่วนกลุ่มผู้สูงวัย ที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคน ไปเป็น 18 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ  หากประชากรลดลงมากขนาดนี้ คนในวัยทำงานลดลงมากขนาดนี้ ภาครัฐก็จะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ 


ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าว สอดคล้องกับสถิติของกรมกิจการเพื่อผู้สูงอายุ 

ที่รายงานว่า ในปี 2565 ประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ โดยมีประชากรผู้สูงอายุที่มากถึงร้อยละ 18.3 ของประชากรทั้งหมด



เมื่อเห็นปัญหาอยู่ข้างหน้า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ไม่รอช้า เดินหน้าผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็นวาระแห่งชาติ โดยเรียกหน่ายงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ และได้ข้อสรุปในเบื้องต้น โดยจะออกมาตรการสร้างความสมดุลการทำงาน กับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตร การช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก 


นอกจากนี้ จะยังมีการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ในกลุ่มที่ใช้ชีวิตคู่ไม่อยากจดทะเบียนสมรส กลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศ กลุ่มหนุ่มโสด สาวโสดที่อยากมีลูกแต่ไม่อยากมีคู่ครอง ให้มีโอกาสมีลูกได้ โดยบูรณาการร่วมกับภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง 



หากจะมองลึกลงไปถึงสาเหตุที่คนรุ่นใหม่ ที่ไม่อยากมีลูก ดร.นพ.บุญฤทธิ์ สุขรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย ระบุว่า มีหลายปัจจัย เช่น ทัศนคติแนวคิดการมีครอบครัวและการมีลูก ที่เปลี่ยนไปต่างจากอดีต 


โดยจากที่เคยมีความคิดว่า เมื่อทำงานแล้ว และแต่งงาน  ก็จะมีลูกเลย แต่ปัจจุบันการมีลูกอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นเสมอไป โดยคนรุ่นใหม่กลับมีแนวคิดว่า ทำงานเก็บเงินเที่ยว และดูแลตัวเอง ขณะที่หญิงไทยส่วนใหญ่มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานสูง การมีลูกอาจจะไม่ตอบโจทย์ในชีวิต จึงตัดสินใจไม่มีลูก 



นอกจากนี้ ดร.นพ.บุญฤทธิ์ ยังมองว่า ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้คนตัดสินใจไม่มีลูก เนื่องจากการเลี้ยงลูกหนึ่งคน  มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง รวมถึงความกังวลในการที่จะหาบุคคลมาช่วยเลี้ยงลูก เนื่องจากหลายครอบครัวในปัจจุบัน พ่อแม่ยังต้องออกไปทำงาน



จากเหตุผลข้างต้น ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของกระทรวงสาธารณสุข ว่า มาตรการดังกล่าวที่ออกมา จะเพียงพอ ที่จะทำให้กลุ่มคนที่เป็นเป้าหมายของนโยบายดังกล่าว จะคล้อยตามหรือไม่ เพราะการจะส่งเสริมให้คนหันมามีลูกนั้น มันไม่ใช่เรื่องง่าย 


ทั้งนี้หากประเทศไทย มีประชากรลดอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลกระทบโดยตรง ในหลายด้าน โดยเฉพาะเรื่องการจัดเก็บภาษี เพราะเมื่อคนวัยทำงานลดลง ภาครัฐก็จะไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้เพียงพอต่อการพัฒนาประเทศ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม ระบบหมุนเวียนเศรษฐกิจของประเทศ จะชะลอ

ตัวลง ทำให้อาจเกิดภาวะถดถอย



นอกจากนี้ ยังเกิดขาดแคลนแรงงาน  เพราะเมื่ออัตราการเกิดน้อยลง ก็จะเกิดช่องว่างระหว่างจำนวนประชากรเข้าและออกจากวัยแรงงานจะกว้างมากขึ้น ซึ่งหมายถึงอาจต้องพึ่งพิงคนสูงวัย และเมื่อมีผู้สูงวัยเพิ่มขึ้น ภาครัฐต้องมีการจัดสรรงบประมาณในส่วนนี้มากกว่าเดิม แต่รายได้ที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเท่าเดิม


และที่สำคัญ จะทำให้ประเทศไทย สูญเสียความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ เพราะหากมีประชากรเกิดใหม่น้อย แรงงานรุ่นใหม่ก็จะน้อยตาม ซึ่งก็จะส่งผลให้กำลังการผลิตมีแนวโน้มลดลงทำให้ธุรกิจขยายตัวช้านั่นเอง



การผลักดันให้วิกฤตนี้เป็น “วาระแห่งชาติ” จะประสบความสำเร็จหรือไม่ คงต้องเอาใจช่วย เพราะหากวิกฤตนี้เกิดขึ้นจริง ก็จะผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในอนาคตอย่างแน่นอน.


มนตรี ขัดเรือง : เรียบเรียง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง