ดุสิตโพล เปิด 5 อันดับ "เมนูอาหารไทย" ปชช.ทำกินบ่อยสุด เชื่อต้านโควิดได้
วันนี้ (2 พ.ค.64) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,192 คน (สำรวจทางออนไลน์) ระหว่างวันที่ 26-29 เมษายน 2564 หัวข้อ “อาหารไทย” ในยุคโควิด-19 เพื่อสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีสถานการณ์โควิด -19 ที่มีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของคนไทยอย่างมาก หนึ่งในนั้น คือ เรื่องอาหารการกิน เนื่องจากประชาชนต้องอยู่บ้านมากขึ้น ระมัดระวังในการกินอยู่ ป้องกันตัวเองจากการแพร่กระจายของเชื้อโรค สรุปผลได้ ดังนี้
1. เปรียบเทียบระหว่างก่อนโควิด-19 ระบาดและเมื่อโควิด-19 ระบาด ประชาชนให้ความสำคัญกับเรื่องอาหารกินมากน้อยเพียงใด
ให้ความสำคัญมากขึ้น 70.94%
ให้ความสำคัญเท่าเดิม 26.00%
ให้ความสำคัญน้อยลง 3.06%
2. เมื่อมีโควิด-19 ระบาด พฤติกรรมการกินอาหารของประชาชนเปลี่ยนไป ดังนี้
อันดับ 1 ทำอาหารกินเองที่บ้านมากขึ้น 75.81%
อันดับ 2 คำนึงถึงความสะอาดของอาหาร 71.70%
อันดับ 3 เลือกอาหารที่มีผลดีต่อสุขภาพ 59.99%
อันดับ 4 พิจารณาบรรจุภัณฑ์ในการบรรจุอาหาร 56.22%
อันดับ 5 เลือกอาหารที่เชื่อว่าต้านโควิด-19 ได้ 49.86%
3. ประชาชนเชื่อหรือไม่ว่า “อาหารสามารถต้านโควิด -19” ได้
เชื่อ 47.53%
เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง 37.90%
ไม่เชื่อ 14.57%
4. อาหารที่ประชาชนเชื่อว่าน่าจะต้านโควิด -19 ได้
อันดับ 1 อาหารที่มีสมุนไพร 55.09%
อันดับ 2 ผัดกะเพรา 50.63%
อันดับ 3 อาหารที่มีส่วนผสมของขิง 48.95%
อันดับ 4 ต้มยำ 42.56%
อันดับ 5 แกงส้มมะรุม 32.30%
5. เมนูที่ประชาชนชื่นชอบ หรือ ทำกินเองบ่อยที่สุดในยุคโควิด-19 คือ
อันดับ 1 ผัดกะเพรา 32.23%
อันดับ 2 ต้มยำ 24.91%
อันดับ 3 ผัดผัก/ผัดคะน้า/ผัดขิง 21.60%
อันดับ 4 น้ำพริก-ผักต้ม/น้ำพริกตาแดง/น้ำพริกหนุ่ม 17.60%
อันดับ 5 เมนูไข่ เช่น ไข่เจียว ไข่ดาว ไข่ต้ม ไข่ตุ๋น ไข่ลูกเขย 12.89%
6. ในช่วงที่มีโควิด-19 ระบาด ทำให้ประชาชนใช้จ่ายค่าอาหาร ดังนี้
เพิ่มขึ้น 39.42%
เท่าเดิม 36.69%
ลดลง 23.89%
7. ค่าอาหารของประชาชนในช่วงที่มีโควิด-19 ระบาด ภาพรวมโดยเฉลี่ยวันละประมาณ 226.74 บาท /คน
กรุงเทพฯ โดยเฉลี่ยวันละประมาณ 268.04 บาท /คน
ต่างจังหวัด โดยเฉลี่ยวันละประมาณ 207.04 บาท/คน
นางสาวพรพรรณ บัวทอง นักวิจัย สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า การเลือกรับประทานอาหารที่คาดว่าน่าจะช่วยสร้างภูมิต้านทานโรคได้นั้น เป็นวิธีการหนึ่งที่ประชาชนเลือกที่จะปฏิบัติเพื่อเป็นการป้องกันตัวเองจากโควิด-19 ในระหว่างที่รอการดำเนินการฉีดวัคซีนจากทางภาครัฐ ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นตามมา สะท้อนให้เห็นภาพการกินเพื่ออยู่รอดของประชาชนในยุคโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ดร.ธนพัฒน์ แสงรุ่งเรือง คณบดีโรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เปิดเผยว่า ตามที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19 ที่ส่งผลกระทบไม่เพียงแต่ประชากรประเทศไทย ยังรวมถึงพลเมืองของโลกทุกคนที่จะต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตให้พร้อมต่อสู้วิกฤตครั้งนี้ สิ่งสำคัญ คือ ทุกคนต้องรับผิดชอบต่อสังคม รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ปฏิบัติตนตามมาตรการการป้องกันการแพร่ระบาดฯอย่างเคร่งครัด รับประทานอาหารที่มีคุณภาพ ปริมาณที่พอเหมาะและมีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย
ทั้งนี้ โรงเรียนการเรือน มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้นำองค์ความรู้ทางด้านวิชาการ บูรณาการผ่านศาสตร์แขนงต่างๆสู่การปฏิบัติจริงภายใต้การดำเนินธุรกิจของหน่วยงานในสังกัดมหาวิทยาลัย เช่น สวนดุสิตโฮมเบเกอรี่ ศูนย์ฝึกปฏิบัติการอาหารนานาชาติ ครัวสวนดุสิต ฯลฯ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับประชาชนทั่วไปให้สามารถใช้บริการอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีความสด สะอาด ปลอดภัยและราคาเหมาะสมในยุคการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด19