นักวิทย์จีนพัฒนา 'ชุดตรวจโควิด-19' แบบแม่นยำ ไม่ถึง 4 นาทีรู้ผล
ปักกิ่ง, 10 ก.พ. (ซินหัว) -- งานวิจัยในวารสารเนเจอร์ ไบโอเมดิคัล เอ็นจิเนียริง (Nature Biomedical Engineering) ระบุว่าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟู่ตั้น ในเทศบาลนครเซี่ยงไฮ้ทางตะวันออกของจีน พัฒนาระบบโมเลกุลที่สามารถให้ผลการตรวจโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ได้ในเวลาน้อยกว่า 4 นาที
งานวิจัยระบุว่าต้นแบบของอุปกรณ์ซึ่งพกพาได้ข้างต้น สามารถตรวจจับร่องรอยของสารพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยอุปกรณ์นี้มีลักษณะเป็นไบโอเซนเซอร์ (ตัวตรวจวัดทางชีวภาพ) ที่ใช้ระบบเครื่องกลไฟฟ้า อันประกอบด้วยตัวตรวจจับ (probe) ที่ยึดติดอยู่กับคานยื่น (cantilever) ดีเอ็นเอสายเดี่ยวที่มีความยืดหยุ่น ซึ่งเชื่อมโยงกับโครงสร้างดีเอ็นเอเกลียวคู่แบบแข็งที่สามารถจัดวางโมเลกุลอย่างเป็นระเบียบได้ด้วยตนเอง (self-assembly)
อุปกรณ์สามารถตรวจจับกรดนิวคลีอิกในของเหลวชีวภาพได้อย่างรวดเร็วและละเอียดอ่อน รวมทั้งการตรวจจับไอออน โมเลกุล และโปรตีนขนาดเล็ก โดยอุปกรณ์นี้แตกต่างจากชุดทดสอบคิวอาร์ที-พีซีอาร์ (qRT-PCR) หรือปฏิกิริยาลูกโซ่โพลีเมอเรสแบบย้อนกลับเชิงปริมาณ เพราะไม่จำเป็นต้องมีขั้นตอนการสกัดและการขยายกรดนิวคลีอิก ส่งผลให้เวลาการทดสอบสั้นลงอย่างมาก
คณะนักวิจัยใช้อุปกรณ์ดังกล่าว ทดสอบตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ได้รับการยืนยันผลตรวจโดยการทดสอบแบบคิวอาร์ที-พีซีอาร์ จำนวน 33 ราย ตัวอย่างจากผู้ป่วยที่มีไข้แต่มีผลตรวจจากการทดสอบแบบคิวอาร์ที-พีซีอาร์เป็นลบ 23 รายการ ตัวอย่างจากผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอหรือสายพันธุ์บี 6 รายการ และตัวอย่างจากอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี 25 รายการ
จากการทดสอบ พวกเขาพบว่าอุปกรณ์นี้สามารถตรวจจับอาร์เอ็นเอของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (Sars-CoV-2) ในผู้ป่วยทั้งหมด 33 ราย โดยใช้เวลาเพียง 0.1-4 นาที และแสดงผลตรวจเป็นลบในกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ทั้งหมด 54 ราย