รีเซต

วัคซีนต้านโควิด สปุตนิก-วี เนื้อหอม แต้มต่อ ‘ปูติน’ ในเวทีโลก

วัคซีนต้านโควิด สปุตนิก-วี เนื้อหอม แต้มต่อ ‘ปูติน’ ในเวทีโลก
TNN ช่อง16
8 กุมภาพันธ์ 2564 ( 11:51 )
257
วัคซีนต้านโควิด สปุตนิก-วี เนื้อหอม แต้มต่อ ‘ปูติน’ ในเวทีโลก

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซีย ประกาศเริ่มใช้วัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ชื่อว่า สปุตนิก-วี เป็นชาติแรกของโลกตั้งแต่เดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ก่อนที่จะเสร็จสิ้นการทดสอบในวงกว้างด้วยซ้ำ จึงทำให้เกิดความคลางแคลงใจไปทั่วโลกถึงประสิทธิภาพของวัคซีนดังกล่าว


ในขณะนี้ วัคซีนสปุตนิก-วี กลับทำให้รัสเซียกลับมาประสบความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ครั้งใหญ่ นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสหภาพโซเวียต



 

สปุตนิก-วี เนื้อหอม นานาชาติแห่จอง

 

หลังวารสารการแพทย์ที่น่าเชื่อถืออย่าง เดอะ แลนเซ็ต ได้เผยผลการศึกษาเบื้องต้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าวัคซีนสปุตนิก-วี มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด 19 ได้ถึง 91.% ในการทดลองในวงกว้างกับประชากรราวสองหมื่นคนซึ่งอยู่ในระดับเกียวกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่พัฒนาโดยสหรัฐฯและยุโรป แถมยังมีประสิทธิภาพมากกว่าวัคซีนที่พัฒนาโดยจีน

 


ขณะนี้ มีอย่างน้อย 19 ชาติแล้วที่อนุมัติการใช้วัคซีนสปุตนิก-วี ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ฮังการี สมาชิกของสหภาพยุโรป ในขณะที่ประเทศใหญ่อย่างบราซิลและอินเดีย กำลังพิจารณาจะอนุมัติการใช้ฉุกเฉินเช่นกัน

 

ขณะเดียวกัน รัสเซียคาดการณ์ว่าวัคซีนของตนจะเจาะตลาดอียูได้ เนื่องจากอียูกำลังประสบปัญหาวัคซีนขาดแคลน

 

วัคซีน อำนาจพิเศษในภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลก

 

ขณะนี้ มีผู้เสียชีวิตจากโควิด 19 ราว 2.3 ล้านคนแล้วทั่วโลก ในช่วงเวลาเพียงหนึ่งปี การเร่งแข่งขันพัฒนาและผลิตวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าว จึงมีความสำคัญในแง่ของภูมิรัฐศาสตร์การเมืองโลกด้วย เพราะรัฐบาลชาติต่างๆ ต่างมองหาวัคซีนเพื่อให้ช่วยให้ฟื้นตัวจากความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจ ที่สืบเนื่องมาจากการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมโรคระบาด

 

ความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนสปุตนิก-วี จึงทำให้รัสเซียอยู่ในแถวหน้าของชาติที่มีนักวิทยาศาสตร์ที่สามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคได้

 


การตั้งชื่อของวัคซีน ก็ตั้งตามดาวเทียมสปุตนิก ซึ่งเป็นดาวเทียมดวงแรกของโลก ที่รัสเซียปล่อยขึ้นสู่วงโคจรโลกในปี 1957 ซึ่งถือเป็นความสำเร็จครั้งใหญ่ของรัสเซียในการเอาชนะอเมริกาในการแข่งขันด้านอวกาศ

 

นายคิริล ดมิทเทรียฟ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกองทุนเพื่อการลงทุนโดยตรงของรัสเซียซึ่งดูแลโครงการพัฒนาวัคซีนสปุตนิก-วี กล่าวว่า นี่คือช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงสำหรับเรา  


แม้จะเร็วเกินไปที่จะประเมินข้อได้เปรียบทางการเมืองสำหรับปูติน แต่ความสำเร็จจากการพัฒนาวัคซีน ก็ทำให้รัสเซียได้ภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นในแง่อำนาจอ่อน หรือ soft power หลังถูกประชาคมโลกประณามมาหลายปี เรื่องการแทรกแซงการเลือกตั้งต่างๆ รวมถึงการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองทั้งในและนอกประเทศ

 


ขณะที่ตอนนี้โทรทัศน์ทางการของรัสเซียยังรายการข่าวการส่งมอบวัคซีนของรัสเซียให้ชาติต่างๆอย่างหนักหน่วงด้วย

 

ออคซานา แอนโทเนนโก นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ปรึกษา Control Risks กล่าวว่า ความสำเร็จของวัคซีนสปุตนิก-วี ไม่เพียงแค่เปลี่ยนท่าทีปฏิปักษ์ของชาติตะวันตกที่มีต่อปูติน แต่มันยังเสริมความเข้มแข็งรัสเซียในภูมิรัฐศาสตร์การเมืองในหลายภูมิภาค รวมถึงลาตินอเมริกาด้วย

 

ทั้งนี้ รัสเซียประกาศแจกวัคซีนฟรีให้ประชากร 146 ล้านคน และเริ่มแจกจ่ายวัคซีนตั้งแต่ปีที่แล้ว ในขณะที่ตอนนี้ วัคซีนของรัสเซียกำลังมีการผลิตในหลายพื้นที่ของโลก ไม่ว่าจะเป็น อินเดีย เกาหลีใต้ และบราซิล

 


เมื่อไม่กี่วันที่ผ่าน ประธานาธิบดีเรเซ็ป เทย์ยิป เออร์โกกันของตุรกี พันธมิตรสำคัญของรัสเซีย ได้ลงนามข้อตกลงร่วมผลิตวัคซีนสปุตนิก-วีในตุรกี แม้ตุรกีสั่งซื้อวัคซีนของซิโนแวค ไบโอเทคจากจีนไปแล้ว 50 ล้านโดส และวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค อีก 4.5 ล้านโดสไปแล้วก็ตาม

 

ด้าน ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ของเม็กซิโก เพิ่งประกาศปลายเดือนที่แล้ว ว่าขอขอบคุณประธานาธิบดีปูตินจากใจ ที่ให้คำมั่นว่าจะส่งวัคซีนมาให้เม็กซิโก 24 ล้านโดสภายในสองเดือนข้างหน้านี้ 

 

หลังจากนั้นไม่กี่วัน ประธานาธิบดีลูอิส อาร์เค แห่งโบลิเวีย ได้ไปรับวัคซีนของรัสเซียที่สนามบินด้วยตัวเอง

 

ลาตินอเมริกา ถือเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่น่าสนใจ เช่น อาร์เจนตินา ซึ่งประสบปัญหาในการจัดหาวัคซีน ได้เริ่มโครงการฉีดวัคซีนแล้วหลังรัสเซียส่งวัคซีนมากกว่าห้าแสนโดสมาให้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา และยังส่งไปให้นิการากัว ปารากวัย และเวเนซูเอลาด้วย

 

ในขณะที่บราซิล เพิ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ยกเลิกข้อจำกัดในการทดลองวัคซีนระยะที่สาม เพื่อเร่งให้มีการอนุมัติเร็วขึ้นสำหรับการใช้ฉุกเฉิน

 

ส่วนกินี กลายเป็นชาตแอฟริกาชาติแรกที่เริ่มใช้วัคซีนสปุตนิก-วีในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยประธานาธิบดีอัลฟา คอนเด และรัฐมนตรีหลายคนได้ร่วมเข้ารับากรฉีดวัคซีนด้วย และกินีคาดการณ์ว่า ภายในปีนี้จะได้รับวัคซีนจากรัสเซีย 1.6 ล้านโดส รวมไปถึงวัคซีนจากจีน และจากแอสตราเซเนกา

 

ขณะที่ซิมบับเว สาธารณรัฐแอฟริกากลาง และไอวอรี่ โคสต์ ก็เตรียมสั่งวัคซีนจากรัสเซียเช่นกัน

 

อิหร่าน ได้รับวัคซีนล็อตแรกจากรัสเซียไปแล้วสองล้านโดสเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะที่สำหรับจีน มีรายงานว่า กำลังเดินหน้าพัฒนาของแคนซิโน ไบออลอจิกส์ของจีน ร่วมกับสปุตนิก-วี เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วย

 

วัคซีนสปุตนิก-วี นั้นแตกต่างจากวัคซีนของไฟเซอร์-ไบออนเทค ตรงที่ สามารถจัดเก็บได้ในตู้เย็น ไม่จำเป็นต้องเป็นตู้แช่แข็ง ซึ่งทำให้ง่ายต่อการขนส่งและแจกจ่ายสำหรับประเทศยากจน และประเทศที่มีอากาศร้อน

 

นอกจากนี้ยังมีราคาเพียง 20 ดอลลาร์ สำหรับสองโดส ซึ่งถูกกว่าวัคซีนของชาติตะวันตกอื่นๆ ซึ่งวัคซีนของรัสเซียยังมีราคาถูกกว่าวัคซีนของแอสตราเซเนกาจากอังกฤษที่มีราคาแพงกว่าด้วย

 

วัคซีนอาจทำชาติตะวันตกต้องง้อปูติน?

 

สิ่งที่จะเป็นปรากฏการณ์ใหญ่สุดสำหรับรัสเซีย คือการที่คณะผู้กำกับดูแลเรื่องยาและวัคซีนของอียู กำลังเริ่มตรวจสอบการอนุญาติใช้วัคซีนสปุตนิก-วี 

 

ความเคลื่อนไหวมีขึ้นหลังอียูประสบปัญหาในการจัดหาวัคซีนให้กับชาติสมาชิก และนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนีกล่าวว่า ชาติอียูสามารถใช้วัคซีนของรัสเซียได้หากองค์กรการแพทย์แห่งยุโรปอนุมัติการใช้งาน

 


ด้านฮังการี ไม่รอการอนุมัติของอียูแล้ว และได้อนุมัติการใช้ฉุกเฉินไปแล้ว โดยลงนามซื่อวัคซีนของรัสเซียสองล้านโดส และเพิ่งได้รับสี่หมื่นโดสแรกไปเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา

 

นายกรัฐมนตรี วิเตอร์ ออร์แบน ของฮังการี หล่าวว่า วัคซีนไม่ควรเป็นคำถามทางการเมือง เพราะเราจะสามารถเลือกได้ว่าจะใช้วัคซีนของตะวันตกหรือตะวันออก ก็ต่อเมื่อเรามีวัคซีนเพียงพอ

 

ขณะที่กระบวนการพิจารณาของหน่วยงานอียูนั้นอาจใช้เวลาหลายเดือน เพราะต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด แต่บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดว่า อียูจะใช้วัคซีนของรัสเซียแน่นอน เพียงแค่ไม่ใช่เร็วๆนี้

 

อย่างไรก็ตาม ความท้าทายของรัสเซียคือ กำลังการผลิต รัสเซียต้องเป้าผลิตวัคซีน 700 ล้านโดสภายในปีนี้ และคาดว่า ไม่น่าจะสามารถจัดส่งวัคซีนให้กับยุโรปได้ก่อนเดือนพฤษภาคม ยกเว้นเพียงฮังการีชาติเดียวที่สั่งซื้อไปก่อน


ถามว่าสปุตนิก-วี สร้างแต้มต่อให้ปูตินได้ขนาดไหน อาจสะท้อนได้ว่า เมื่อโจเซฟ บอร์เรลล์  หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสหภาพยุโรป เยือนรัสเซีย เพื่อพบกับนายเซอร์เกย์ ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว เพื่อกดดันเรื่องการคุมขังนายอเล็กเซ นาวาลนี ผู้นำฝ่ายค้าน ปรากฎว่า นายบอร์เรลล์ ก็อดไม่ได้ที่จะแสดงความยินดีกับรัสเซียเรื่องวัคซีนสปุตนิก-วี โดยเขากล่าวว่า นี่คือข่าวดีของมวลมนุษยชาติ ซึ่งหมายความว่า เรากำลังมีเครื่องมือมากขึ้นในการเผชิญหน้ากับโรคระบาด


เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง