‘รู้จัก World Economic Forum’ การประชุมที่กำหนดชะตาโลก นำบุคคลสำคัญโลกรวมตัวอยู่ในที่เดียว
เพราะอะไร WEF ถึงได้มีความสำคัญ และสามารถส่งผลต่อโลกได้มากขนาดนี้ วันนี้ TNN Explains จะพาไปทำความรู้จัก World Economic Forum การประชุมที่กำหนดชะตาโลก
---ก่อตั้ง World Economic Forum---
ย้อนกลับไปในปี 1971 World Economic Forum จัดตั้งขึ้นมาในวันที่ 24 มกราคม โดย ศ.ดร.เคล้าส์ ชวอบ ศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน จากมหาวิทยาลัยเจนีวา ในตอนแรกใช้ชื่อว่า European Management Forum ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้เป็นชื่อ World Economic Forum ในปี 1987 และพยายามขยายขอบเขตในการรวบรวมการมีส่วนร่วมจากทั่วทุกมุมโลก เพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น
พันธกิจของ WEF คือ การมุ่งมั่นปรับปรุงสถานะของโลก ผ่านการมีส่วนร่วมของผู้นำธุรกิจ, นักการเมือง, นักวิชาการ และผู้นำอื่น ๆ ในสังคม เพื่อหารือกำหนดทิศทางนโยบายระดับโลก, ระดับภูมิภาค และระดับอุตสาหกรรม
เป้าหมายในช่วงเริ่มแรกของการประชุมคือ การเชิญผู้นำธุรกิจจากบริษัทต่าง ๆ ในยุโรปตะวัน ตกมาร่วมประชุมหารือเกี่ยวกับแนวทางการจัดการและแบ่งปันข้อมูลเชิงลึก เพื่อเป็นการส่งเสริมให้เหล่าผู้นำธุรกิจมีความรับผิดต่อทุกคน ไม่ใช่กับแค่ผู้ถือหุ้นเท่านั้น หลังจากนั้น กลุ่มผู้เข้าร่วมก็ได้ขยายตัวไปยังกลุ่มต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งนักการเมือง, NGO, นักวิทยาศาสตร์ รวมถึงผู้นำทางศาสนาด้วย จากเดิมในปีแรกมีผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นเพียงกลุ่มผู้นำธุรกิจ 450 คนเท่านั้น แต่ในปี 2023 มีผู้เข้าร่วมการประชุมมากกว่า 2,700 คน จากหลากหลายสาขาอาชีพ
การประชุมประจำปีของ WEF จะจัดขึ้นที่เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์เป็นประจำทุกปี ถือเป็นเวทีที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางในระดับระหว่างประเทศ โดยที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งระดับผู้นำ ผู้บริหารระดับสูงจากภาคธุรกิจ องค์การระหว่างประเทศ และนักวิชาการจากทั่วโลก
---WEF สำคัญอย่างไร---
WEF เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ไม่แสวงหาผลกำไร ได้รับความมือจากทั้งภาครัฐ และเอกชน โดยที่ผ่านมา มักจะมีบุคคลที่มีชื่อเสียงและทรงอิทธิพลระดับโลกเข้าร่วมการประชุมนี้ด้วย ไม่ว่าจะเป็น พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 แห่งราชวงศ์อังกฤษ, ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งจีน, โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ , บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้ง Microsoft, เอลตัน จอห์น ศิลปินชาวอังกฤษ, เกรตา ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวสวีเดน เป็นต้น ซึ่งนับได้ว่าเป็นหนึ่งในเอกลักษณ์มากสุดของการประชุม WEF
ด้วยความที่บรรดาผู้นำระดับโลกทั้งภาครัฐและเอกชนต่างมารวมตัวกันในที่เดียวกัน ทำให้สามารถกำหนดทิศทางโลก ระดมความคิด และร่วมมือแก้ไขปัญหาและวิกฤตต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นบนโลก
ขณะเดียวกัน การประชุมนี้มักจะถูกมองว่า เป็นการประชุมสำหรับกลุ่มบุคคลผู้มีเอกสิทธิ์ 1% ของโลก และยังเป็นสถานที่ที่ผู้คนพยายามมาล็อบบี้ และใช้อิทธิพล เพื่อพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก
---เหตุการณ์สำคัญใน WEF---
ตลอดระยะเวลา 53 ปี ที่มีจัดประชุมมา WEF มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นที่นี่และส่งผลต่อโลก ยกตัวอย่างเช่น
ปี 1988 มีการลงนามสนธิสัญญา Davos Declaration ดีเคเรชัน ในการประชุมครั้งนั้น โดยเป็นสนธิสัญญาที่ช่วยยุติความขัดแย้งระหว่างตุรกีและกรีซ
ปี 1992 เนลสัน แมนดาลา และเฟรเดอริก วิลเลิม เดอ แกลร์ก ประธานาธิบดีแอฟริกาใต้ในขณะนั้น ได้ปรากฎตัวร่วมกันเป็นครั้งแรกบนเวทีดาวอส เป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นถึงก้าวสำคัญในการหยุดแบ่งแยกสีผิว และทั้งคู่ก็ได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพในปีถัดมา
ปี 2000 มีการเปิดตัวองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน หรือ Gavi และปรับปรุงการเข้าถึงวัคซีนให้แก่ประชาชนหลายล้านคน นับตั้งแต่นั้นมา Gavi ได้มีส่วนช่วยในการส่งมอบวัคซีนให้แก่เด็ก 760 ล้านคนทั่วโลก
ปี 2020 ได้มีการออก Davos Manifesto เพื่อแสดงเจตนารมณ์ในการมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาทางสังคม พร้อมกับหารือเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากขึ้น
---นายกฯ ไทยเข้าร่วม WEF ในรอบ 12 ปี---
สำหรับประเทศไทยมีการเข้าร่วมประชุม WEF ครั้งแรกในปี 2009 ในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยปีนี้ เศรษฐา ทวีสิน ได้เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งนับได้ว่าเป็นการเข้าร่วมการประชุมในระดับผู้นำครั้งแรกของไทยในรอบ 12 ปี
นอกจากนี้ ยังเป็นการเดินทางเยือนภูมิภาคยุโรปครั้งแรกของนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีฯ จึงเป็นโอกาสดียิ่งที่จะได้พบกับผู้นำจากทั่วโลก เพื่อแสดงความพร้อมของไทย ที่จะร่วมมือกับทุกฝ่ายเพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกัน
นายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรี จะเข้าร่วมและร่วมเป็นผู้เสวนาในการประชุมและเวทีเสวนาต่าง ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ศักยภาพทางเศรษฐกิจของไทยและเชิญชวนต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยโดยเฉพาะโครงการ Landbridge ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็น อาทิ แนวโน้มเศรษฐกิจ ภูมิรัฐศาสตร์โลก ความยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านสีเขียว นอกจากนั้น ยังมีกำหนดการพบกับผู้นำรัฐบาล องค์การระหว่างประเทศ และภาคธุรกิจ เพื่อหารือประเด็นความร่วมมือในอนาคต
---ประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงใน WEF 2024---
การประชุม WEF ปีนี้ จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “Rebuilding Trust” หรือ “ฟื้นฟูความเชื่อมั่น” ประกอบด้วย 4 ประเด็นหลัก ได้แก่
การบรรลุความร่วมมือและความมั่นคงในโลกที่แตกแยก
การสร้างการเติบโตและสร้างงานสำหรับยุคใหม่
ปัญญาประดิษฐ์ในฐานะพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคม
ยุทธศาสตร์ระยะยาวสำหรับสภาพภูมิอากาศ ธรรมชาติ และพลังงาน
—————
แปล-เรียบเรียง: พรวษา ภักตร์ดวงจันทร์
ภาพ: Reuters
ข้อมูลอ้างอิง: