รีเซต

"นฤมล" ชูเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ เสริมแกร่งการเกษตรไทย

"นฤมล" ชูเกษตรกรรมคาร์บอนต่ำ เสริมแกร่งการเกษตรไทย
TNN ช่อง16
28 พฤษภาคม 2568 ( 12:50 )
10

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมระดับภูมิภาคของกลุ่มพันธมิตรผู้บุกเบิกด้านระบบอาหาร “First Movers Coalition: Regional Meeting on Aggregated Global Market Demand for Low-Emission Agricultural Commodities” โดยมี นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ณ โรงแรมริทซ์-คาร์ลตัน กรุงเทพฯ ว่า ประเทศไทยในฐานะประเทศเกษตรกรรม มีบทบาทหน้าที่สำคัญในการปรับเปลี่ยนระบบอาหารไปสู่ระบบอัจฉริยะด้านภูมิอากาศ (climate-smart food system) ซึ่งถือเป็นทั้งความจำเป็นด้านสิ่งแวดล้อมและโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงแสดงความพร้อมในการร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก เพื่อผลักดันสินค้าเกษตรที่ยั่งยืน พร้อมสร้างมาตรฐานร่วมระบบติดตามย้อนกลับ และกลไกการเงินที่เหมาะสม โดยมุ่งหวังให้ระบบอาหารแห่งอนาคตมีความทนทาน ครอบคลุม เป็นธรรม และปล่อยคาร์บอนต่ำ

โดย ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับเวที First Movers Coalition for Food (FMC for Food) เป็นความริเริ่มที่เปิดตัวเมื่อเดือนธันวาคม 2566 โดยเวทีเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) มีเป้าหมายเพื่อใช้พลังของการรวมอุปสงค์ (aggregated demand) ในการเร่งปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตสินค้าเกษตรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลง โดยเน้นในกลุ่มสินค้าเกษตร 6 ชนิดที่คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากระบบอาหารโลก ได้แก่ ข้าว พืชไร่ เนื้อวัว นม ถั่วเหลือง และน้ำมันปาล์มโดยภายหลังการเปิดตัวในงาน COP28 เครือข่าย FMC for Food ได้เติบโตจนมีพันธมิตรมากกว่า 50 ราย ครอบคลุมสินค้า 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ เนื้อวัว นม ข้าว และพืชไร่ (รวมถึงข้าวสาลี ถั่วเหลือง และข้าวโพด) โดยมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีและแนวทางการผลิตที่ยั่งยืน ตลอดจนสร้างผลร่วมด้านอื่นๆ เช่น เพิ่มผลผลิต ประหยัดน้ำ และยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร

นอกจากนี้ ประเทศไทยมีประสบการณ์จากโครงการ Thai Rice NAMA ที่แสดงให้เห็นว่าการปลูกข้าวแบบปล่อยคาร์บอนต่ำสามารถสร้าง “ผลประโยชน์สามด้าน” ได้แก่ เพิ่มรายได้เกษตรกร ประหยัดน้ำ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ด้วยวิธีการ เช่น การปลูกแบบเปียกสลับแห้ง (AWD) ซึ่งเข้าถึงเกษตรกรกว่า 25,000 รายใน 6 จังหวัดภาคกลาง ซึ่งทำให้ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ระยะใหม่ด้วยโครงการ “Thai Rice: Strengthening Climate-Smart Rice Farming Project” มูลค่า 118 ล้านยูโร โดยได้รับการสนับสนุนจาก กองทุน Green Climate Fund, กระทรวงความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนาแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี , และพันธมิตรภาคเอกชนชั้นนำ เช่น Mars, Olam Agri, PepsiCo และ Ebro Foods เพื่อสนับสนุนเกษตรกรกว่า 250,000 รายให้ใช้เทคโนโลยีเกษตรอัจฉริยะด้านภูมิอากาศ อีกด้วย

“ประเทศไทยยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายเชิงรุก นวัตกรรมทางเทคโนโลยี และการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เกษตรกร และภาคธุรกิจ เพื่อพัฒนาระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยให้สามารถเติบโตได้ในเศรษฐกิจสีเขียว ขอให้การประชุมในวันนี้เป็นสัญลักษณ์ของเจตจำนงร่วมกันในการเปลี่ยนแปลงระบบอาหารสู่ความยั่งยืนเพื่อคนรุ่นต่อไป” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวทิ้งท้าย

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง