รีเซต

ทรัมป์ถึงจุดต่ำสุด ? แค่ 100 วันแรก คะแนนนิยมดิ่ง เศรษฐกิจติดลบ

ทรัมป์ถึงจุดต่ำสุด ?  แค่ 100 วันแรก  คะแนนนิยมดิ่ง เศรษฐกิจติดลบ
TNN ช่อง16
7 พฤษภาคม 2568 ( 08:00 )
10

ผิดที่ใคร ผิดที่ไบเดน 

นี่เป็นคำการโยนความผิดไปยัง โจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐคนก่อน

จากกล่าวของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ หลังจากพบว่าจีดีพี หรือ 

เศรษฐกิจสหรัฐไตรมาสแรกของปีนี้ เจอกับตัวเลขติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

โดยโยนให้ความผิดเป็นของรัฐบาลชุดก่อน 

แต่ประชาชนอเมริกันอาจจะไม่ได้คิดแบบนั้น เพราะผลสำรวจพบว่าคะแนนนิยมของทรัมป์ตกต่ำที่สุด

จากผู้นำทั้งหมดที่เคยมีในรอบ 80 ปี


เศรษฐกิจสหรัฐจะเป็นอย่างไรภายใต้เงาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

การกลับมาบริหารประเทศสมัยที่ 2  หรือยุคทรัมป์ 2.0 

วันนี้ทรัมป์ทำงานครบ 100 วัน ทุกผลงาน ทุกการกระทำโลกรับรู้ แต่ในทางบวกหรือลบค่อยว่ากัน 

โดยเฉพาะการทำงานด้านเศรษฐกิจ ที่ทรัมป์หวังจะให้อเมริกากลับเข้าสู่ยุคทอง

ให้คนอเมริกันได้มีงานทำ มีกินมีใช้ ข้าวของราคาถูกลง แต่ทุกอย่างที่พูดมาเวลานี้สวนทางทั้งสิ้น 


ล่าสุดตัวเลขจีดีพีสหรัฐ หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบครั้งแรกในรอบสามปี 

กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพี (GDP) 

ซึ่งวัดมูลค่าสินค้าและบริการทั้งหมดที่ผลิตในประเทศ หดตัวลง 0.3% ในไตรมาสแรก

หรือนับตั้งแต่มกราคมถึงมีนาคมที่ผ่าน ช่วงต้นปีที่ทุกชาติทั่วโลกเร่งส่งออกหนีตายภาษีทรัมป์


ตัวเลขดังกล่าวยังนับว่าชะลอลงอย่างมากจากไตรมาสที่ 4 ของปีที่แล้ว 

ที่ขยายตัว 2.4% และแย่กว่าคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดว่าจะขยายตัว 0.8%


เนื่องจากรัฐบาลทรัมป์ได้เดินหน้ามาตรการภาษีตอบโต้ ขึ้นภาษีนำเข้าไปยังคู่ค้า 

ซึ่งสร้างความปั่นป่วนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา 

ที่สำคัญ คือ กลายเป็นสงครามการค้า ระหว่างสหรัฐ กับ จีน 

เกิดความตึงเครียดทางการค้ากับจีนอย่างหนัก และสุดท้ายแล้วผลทั้งหมดจะกลับวกมาที่คนอเมริกัน 

และทำให้ตอนนี้ผู้คนต่างใช้ชีวิตกันด้วยความปั่นปวนกังวลใจอย่างหนัก

นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่พูดตรงกันว่า ภาษีทรัมป์ สร้างผลทางลบต่อเศรษฐกิจ 

ทรัมป์กำลังพยายามเปลี่ยนระบบการค้าโลก จนทำให้ราคาสินค้าพุ่งสูงขึ้น

ไปกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯให้พุ่งตาม 

และอาจจะไปจุดชนวนให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ 


เศรษฐกิจแย่ เพราะคนก่อนทำไว้ไม่ดี

ทรัมป์ โทษว่าจีดีพีที่ติดลบ มาจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำคนก่อน

ทั้งหมดนี้ไม่เกี่ยวกับนโยบายภาษีของเขา และให้อดทนรออนาคตอันรุ่งเรือง


หลังจากมีรายงานเศรษฐกิจติดลบ 

ประธานาธิบดีทรัมป์ออกมาปฏิเสธทันทีว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอไม่ได้มีต้นเหตุจากตัวเขา 

ทรัมป์ได้โพสต์บน Truth Social ว่า สหรัฐอเมริกาหรือประเทศของเราจะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง 

แต่เราต้องกำจัด ภาระที่ตกค้างจากไบเดน ออกไปเสียก่อน ซึ่งจะใช้เวลาสักพัก 

และไม่ได้มีอะไรเกี่ยวกับภาษีเลย เป็นเพียงตัวเลขแย่ๆ ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนทิ้งไว้ให้ 

แต่เมื่อช่วงที่รุ่งเรื่องเริ่มขึ้น มันจะไม่เหมือนกับครั้งไหนๆ ขอให้อดทนไว้


หลังจากนั้น ทรัมป์ก็ได้ย้ำอีกครั้งว่าเขาไม่ผิด ในระหว่างประชุมคณะรัฐมนตรี 

โดยบอกว่าจีดีพีไตรมาสที่หดตัวเป็นผลงานของไบเดนไม่ใช่ของทรัมป์ 

เพราะทรัมป์เพิ่งรับตำแหน่งในเดือนมกราคม แต่นี่คือตัวเลขรายไตรมาส 

ซึ่งทรัมป์ได้คัดค้านทุกอย่างที่ไบเดนทำเกี่ยวกับเศรษฐกิจอย่างหนัก 

เพราะมันกำลังทำลายสหรัฐอเมริกา และยังได้ย้ำว่าเขารับไม้ต่อเมื่อวันที่ 20 มกราคม 

ตอนนั้นภาษีทรัมป์ยังไม่มีผลอะไรเลย 


อย่างไรก็ตามส่องจากรายงานของกระทรวงพาณิชย์พบว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ 

ที่หดตัวในช่วงต้นปีมีสาเหตุหลักจากการขาดดุลการค้าที่เพิ่มขึ้น

เพราะทั่วโลกต่างเร่งส่งออกก่อนผลกระทบจากภาษีทรัมป์ 

และยังเกิดปรากฎการณ์ที่ธุรกิจและชาวอเมริกันเร่งซื้อสินค้าก่อนที่ภาษีของทรัมป์จะมีผล 

และยังมีแผนการลดการใช้จ่ายภาครัฐอีกด้วย


การนำเข้าสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมากจากที่ติดลบปลายปี -1.9% ในไตรมาส 4 ของปีที่แล้ว 

กลายเป็นบวกพุ่ง  41.3% ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ 

ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ขณะที่การส่งออกขยายตัว 1.8%


การนำเข้าที่สูงกว่าการส่งออก จะส่งผลลบต่อ GDP โดยเฉพาะในไตรมาสแรกนี้นั่นเอง 

กลายเป็นปัจจัยฉุดการเติบโตมากที่สุด  ที่สำคัญส่วนต่างระหว่างการนำเข้าและส่งออกที่หักออกจาก GDP นั้น

ถือเป็นระดับที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ปี 1947

ทรัมป์ ทำงานครบ 100 วันแรกแล้ว

และได้ปราศรัยประกาศยกย่องผลงาน 100 วันของตนเองว่า 

เป็น "ชัยชนะทางเศรษฐกิจ"

สวนทางกับโพลสำรวจที่พบว่าประชาชนชาวอเมริกันไม่รัก ไม่ชื่นชอบผลงาน

และเป็นคะแนนที่ตกต่ำที่สุดในบรรดาผู้นำที่เคยมีมาในรอบ 80 ปี 


30 เมษายนที่ผ่านมาเป็นวันครบรอบ 100 วันแรกที่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่สอง 

และมีผลสำรวจพบว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ไม่พอใจผลงานของเขา 

ทั้งไม่เห็นด้วยกับหลายนโยบาย ไม่พอใจสภาพเศรษฐกิจของประเทศ 

และกังวลเกี่ยวกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย


การสำรวจดังกล่าวจัดทำขึ้นในระหว่างวันที่ 18-22 เมษายน 2568 

โดยเอบีซี นิวส์ (ABC News) เดอะ วอชิงตัน โพสต์ (The Washington Post) และอิปซอสส์ (Ipsos) 

พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเกินครึ่ง คือ  55% ไม่ชอบผลงานของทรัมป์ 

ซึ่งถือเป็นสถิติที่แย่ที่สุดในบรรดาประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในรอบแปดทศวรรษที่ผ่านมา

ส่วนคนที่เห็นชอบผลงานของทรัมป์มีเพียงแค่ 39% ซึ่งลดลง 6% จากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา  


ผลสำรวจยังบ่งชี้ด้วยว่า นโยบายหลัก ๆ ของทรัมป์ไม่ถูกใจชาวอเมริกันส่วนใหญ่ 

เช่น ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของทรัมป์ในการเก็บภาษีนำเข้า

และเชื่อว่านโยบายภาษีของเขาจะทำให้เงินเฟ้อรุนแรงขึ้น


นอกจากนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามมากว่า 70 % เชื่อว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ย่ำแย่ 

และกังวลว่านโยบายเศรษฐกิจของทรัมป์อาจทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย


ที่น่าสนใจอีกประเด็น คือ ผลสำรวจพบว่าคนอเมริกันรักทรัมป์น้อยลง แต่กลับมองจีนในแง่ดีมากขึ้น 

ทั้งๆที่ตอนนี้อยู่ในบรรยากาศของสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน 


ผลสำรวจล่าสุดโดยศูนย์วิจัยพิว (Pew Research Center) ในสหรัฐฯ ระบุว่า 

ทัศนคติของชาวอเมริกันที่มีต่อจีนกำลังเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น 

ท่ามกลางความตึงเครียดทางการค้าทวิภาคีที่ยังคงดำเนินอยู่

ผลสำรวจที่เผยแพร่เมื่อ18 เมษายน 2568 พบว่า 

นับเป็นครั้งแรกในรอบห้าปีที่สัดส่วนของชาวอเมริกันที่มองจีนในแง่ลบลดลงจากปีก่อน

จาก 81 % เหลือที่ 77% 


ทั้งนี้แม้ผู้ตอบแบบสอบถามจะยังมองว่าจีนเป็น “ศัตรู” ของสหรัฐฯ

และถูกมองว่าเป็นประเทศที่เป็นภัยคุกคามต่อสหรัฐฯ มากที่สุด

แต่ก็ลดลงอย่างมากจากปีก่อน 


นักวิจัยจากศูนย์วิจัยพิวกล่าวว่า ชาวอเมริกันส่วนใหญ่ยังคงมีมุมมองในแง่ลบต่อจีน 

แต่อย่างไรก็ตาม ทัศนคติต่อจีนมีความเป็นมิตรขึ้นในระดับหนึ่ง 

โดยการเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่รัฐบาล

ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังเผชิญหน้ากับจีนอย่างเข้มข้นในเรื่องการค้า 

เมื่อทั้งสองฝ่ายต่างเพิ่มมาตรการตอบโต้กันไปมา 

ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการค้าระหว่างสองประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก 

ขณะที่ทางการจีนยืนยันว่าจะไม่เข้าร่วมเจรจา เว้นแต่สหรัฐฯ จะปฏิบัติต่อจีนด้วยความเคารพ

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง