ผลสำรวจทางจิตวิทยาเผย คนเชื่อถ้อยคำที่อ้างว่านักวิทยาศาสตร์พูด ยิ่งกว่าคำเทศนาของ "กูรู" ทางจิตวิญญาณ
เรามักได้ยินหรือเคยได้เห็นประโยคที่ว่า "ไอน์สไตน์ไม่ได้กล่าวไว้" เวลาที่มีผู้ล้อเลียนถ้อยคำของคนดังซึ่งถูกยกมาอวดอ้างอย่างผิด ๆ อยู่เสมอ หลายคนก็อาจสงสัยว่าทำไมถึงต้องมีการอ้างชื่อนักวิทยาศาสตร์ แม้ข้อความนั้นจะเกี่ยวข้องกับเรื่องทางจิตวิญญาณหรือศาสนาและปรัชญาเสียมากกว่าก็ตาม
ล่าสุดทีมนักจิตวิทยานานาชาติ ได้เผยถึงผลสำรวจล่าสุดจากกลุ่มตัวอย่าง 10,195 คน ที่อาศัยอยู่ใน 24 ประเทศทั่วโลก ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร จีน ญี่ปุ่น อินเดีย สิงคโปร์ และอีกหลายประเทศในยุโรปและลาตินอเมริกา โดยผลปรากฏว่าผู้คนยุคใหม่ส่วนใหญ่ให้การยอมรับนับถือถ้อยคำของนักวิทยาศาสตร์ มากกว่าคำเทศนาของ "กูรู" (Guru) หรือผู้นำทางจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะอยู่ในศาสนาหรือลัทธิความเชื่อแบบใดหรือไม่ก็ตาม
มีการสอบถามถึงความศรัทธาและระดับความเคร่งศาสนาของผู้เข้าร่วมการสำรวจ จากนั้นพวกเขาจะได้เห็นข้อความ พร้อมทั้งภาพและชื่อของนักวิทยาศาสตร์หรือกูรูที่ถูกอ้างว่าเป็นผู้พูด โดยผู้เข้าร่วมการสำรวจจะต้องให้คะแนนความน่าเชื่อถือของข้อความดังกล่าวด้วย
อันที่จริงแล้ว ข้อความและตัวตนของผู้พูดในการสำรวจครั้งนี้ไม่ใช่ของจริง แต่เป็นข้อมูลที่สร้างขึ้นโดยอัลกอริทึมที่มีชื่อว่า "เครื่องสร้างคำพูดหลอกลวงไร้สาระแบบลัทธินิวเอจ" (New Age Bullshit Generator) ซึ่งสามารถนำถ้อยคำเชิงจิตวิญญาณของลัทธิความเชื่อแนวนี้ มาผสมผสานกับคำศัพท์วิทยาศาสตร์ชั้นสูง เพื่อสร้างข้อความที่ฟังดูฉลาดลึกซึ้งขึ้นมาได้ แม้จะอ่านแล้วงุนงงหรือฟังกี่รอบก็ไม่เข้าใจเสียทีก็ตาม
สำหรับผลการให้คะแนนความน่าเชื่อถือโดยทั่วไปนั้น ปรากฏว่าผู้เข้าร่วมการสำรวจ 76% ให้คะแนนข้อความที่ไร้เหตุผลจากปากนักวิทยาศาสตร์ปลอมเกินครึ่งของคะแนนเต็ม ในขณะที่ผู้เข้าร่วมการสำรวจ 55% ให้คะแนนข้อความเท็จจากปากกูรูตัวปลอมมากกว่าหรือให้คะแนนสูงไล่เลี่ยกันทั้งสองฝ่าย
ที่น่าประหลาดใจก็คือ แม้แต่ผู้เข้าร่วมการสำรวจที่บอกว่า ตนเองมีความเคร่งศาสนาในระดับสูง ก็ยังเทคะแนนความน่าเชื่อถือให้กับคำพูดของนักวิทยาศาสตร์มากกว่า แม้จะยังคงให้คะแนนที่ค่อนข้างสูงกับกูรูทางจิตวิญญาณด้วยก็ตาม
ทีมผู้วิจัยตีพิมพ์รายงานข้างต้นในวารสาร Nature Human Behavior โดยได้ตั้งชื่อปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า "ปรากฏการณ์ไอน์สไตน์" (The Einstein Effect) หมายถึงการที่ผู้คนให้ความเชื่อถือกับแหล่งข้อมูล ซึ่งพวกเขาเชื่อว่า มีที่มาทางวิทยาศาสตร์มากที่สุด
ความเชื่อในวิทยาศาสตร์นี้อยู่เหนือสิ่งอื่นใด แม้แต่โลกทัศน์ส่วนบุคคลในเรื่องจิตวิญญาณและกรอบทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ทำให้ผู้คนทั่วโลกในยุคปัจจุบันไม่ตั้งคำถามกับข้อมูลที่อ้างอิงนักวิทยาศาสตร์ แม้ตนเองจะไม่เข้าใจเนื้อหาดังกล่าวเลยก็ตาม
"จากมุมมองทางวิวัฒนาการแล้ว การอ้างอิงผู้ที่มีความน่าเชื่อถือเช่นครู หมอ หรือนักวิทยาศาสตร์ เป็นกลยุทธ์การปรับตัวเพื่อความอยู่รอดที่ค่อนข้างได้ผลสำหรับคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเรียนรู้เชิงวัฒนธรรมและการถ่ายทอดส่งต่อความรู้ " ทีมผู้วิจัยกล่าวสรุป