รีเซต

ชวนรู้จัก 'อูบัง' หมู่บ้านที่ไม่เหมือนใคร เพราะชายหญิงพูดภาษาต่างกัน

ชวนรู้จัก 'อูบัง' หมู่บ้านที่ไม่เหมือนใคร เพราะชายหญิงพูดภาษาต่างกัน
ข่าวสด
2 กันยายน 2564 ( 12:50 )
56

เป็นเรื่องยากที่จะเชื่อว่า ผู้ชายและผู้หญิงที่เติบโตมาด้วยกัน อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน จะมีภาษาที่ใช้แตกต่างกัน แต่ในกรณีของชาวอูบังมันเป็นเรื่องจริง เพราะที่หมู่บ้านแห่งนี้ มีภาษาแยกสำหรับผู้ชายและผู้หญิง

 

 

ยังไม่มีการแบ่งแยกและรูปแบบที่ชัดเจนว่า ภาษาของผู้ชายและผู้หญิงแตกต่างกันอย่างไร แต่พอมีตัวอย่างคำที่แสดงให้เห็นถึงความต่างนี้ เช่น คำว่าเสื้อผ้า ผู้ชายใช้คำว่า "nki" ผู้หญิงใช้คำว่า "ariga" คำว่าต้นไม้ ผู้ชายใช้คำว่า "kitchi" ผู้หญิงใช้คำว่า "okweng" เห็นได้ชัดว่า มันไม่ใช่การผันคำหรือเสียงใด ๆ แต่ถือเป็นคนละคำไปเลย

 

"จิ จิ อันดี้" นักมานุษยวิทยาบอกกับบีบีซีว่า มีหลายคำที่ผู้ชายและผู้หญิงใช้เหมือนกัน แต่ก็มีคำอื่น ๆ ที่ใช้ต่างกันโดยขึ้นอยู่กับเพศ มันแตกต่างทั้งการออกเสียง ตัวอักษร ถือเป็นคำที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง

 

ที่น่าสนใจคือ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงต่างเข้าใจและสื่อสารกันได้อย่างสมบูรณ์ อาจเป็นเพราะเด็ก ๆ เติบโตมากับพ่อแม่ที่เรียนรู้ทั้งสองภาษา ทำให้ซึมซับและเข้าใจไปโดยปริยาย เมื่อเด็กผู้ชายมีอายุ 10 ขวบ พวกเขาก็จะเริ่มหันไปใช้ภาษาตามเพศ และเมื่อถึงอายุที่กำหนด หากเด็กคนใดไม่เปลี่ยนไปใช้ภาษาตามเพศ เด็กคนนั้นจะถูกมองว่า "ผิดปกติ"

 

 

 

สำหรับที่มาของการกำเนิดภาษา ยังไม่มีใครทราบแน่ขัด แต่ชาวอูบังมีความเชื่อทางศาสนาว่า เมื่อครั้งที่พระเจ้าสร้างโลก พระองค์ได้สร้างมนุษย์สองคนคือ อดัมกับอีฟ ให้เป็นตัวแทนของชาวอูบัง และกำหนดให้ใช้ภาษาแตกต่างกัน จากนั้นทรงวางแผนสร้างชาติพันธุ์กลุ่มอื่นต่อ โดยแต่ละชาติพันธุ์จะมีสองภาษา ต่อมาพระองค์ทรงตระหนักได้ว่าอาจมีภาษาไม่เพียงพอ จึงสร้างชาติพันธุ์กลุ่มอื่นทั่วโลกให้พูดภาษาเดียวกัน

 

 

 

จิ จิ อันดี้เชื่อว่า การกำเนิดภาษาของชาวอูบัง เป็นผลมาจากการที่ผู้ชายและผู้หญิงในหมู่บ้านมีขอบเขตการใช้ชีวิตและการทำงานตามเพศของตน ที่แตกต่างและแยกออกจากกันโดยสิ้นเชิง แต่เธอก็ยอมรับว่าทฤษฎีนี้อาจเป็นไปได้ยาก เพราะหลายพื้นที่ในแอฟริกาก็เป็นเช่นนี้ ไม่ใช่แค่เพียงในหมู่บ้านอูบัง

 

 

ปัจจุบัน ภาษาอังกฤษเข้ามามีบทบาทในไนจีเรียมากขึ้น ทำให้ผู้คนต่างกังวลว่า ภาษาของชาวอูบังจะเสี่ยงต่อการตายของภาษา อีกทั้งภาษาของชาวอูบังไม่มีการจดบันทึกไว้ชัดเจน พวกเขาจึงได้แต่หวังให้คนหนุ่มสาวถ่ายทอดดภาษาจากรุ่นสู่รุ่นสืบไป

ขอบคุณที่มา odditycentral

ข่าวที่เกี่ยวข้อง