นักวิจัยเผย “สุนัข” เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างคำกับสิ่งของ
ทีมวิจัยในฮังการีทำการศึกษาเกี่ยวกับสุนัข โดยศึกษาคลื่นสมองของมันขณะฟังเสียงเรียกชื่อสิ่งของต่าง ๆ และพบว่าพวกมันสามารถเข้าใจได้ว่าคำนั้น ๆ หมายถึงสิ่งของแบบใด ซึ่งการค้นพบนี้ ช่วยทำให้ทีมวิจัยได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการทำงานของสมองสุนัขมากขึ้น
ปกติแล้ว การที่เพื่อนซี้สี่ขาของเรา จะสามารถจดจำคำศัพท์หรือคำสั่งที่กระตุ้นการกระทำ เช่น “นั่งลง” หรือ “หมอบ” ได้ ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่งานวิจัยนี้ได้ลงลึกไปกว่านั้น ด้วยการวิเคราะห์การทำงานของสมองในสุนัข 18 ตัว ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสุนัขสามารถเข้าใจภาษาได้ ในระดับที่ได้ยินเสียงคำ ๆ นั้นแล้วนึกออกว่าเป็นสิ่งของแบบไหน
โดยในระหว่างการทดลอง ทีมวิจัยใช้การติดตั้งอิเล็กโทรดกับหัวของสุนัข เพื่อวัดการทำงานของสมองและบันทึกคลื่นสมอง จากนั้นทีมวิจัยจะเปิดคลิปเสียงของเจ้าของสุนัขที่พูดชื่อสิ่งของที่สัตว์เลี้ยงของตนรู้จัก เมื่อเปิดคลิปเสียงเสร็จแล้ว พวกเขาก็จะโชว์สิ่งของที่ตรงกับคำในคลิปเสียง ให้สุนัขเห็นผ่านช่องเล็ก ๆ โดยมีทั้งของที่ตรงกับเสียงที่ได้ยินไป และของที่ไม่ตรงกับเสียงที่ได้ยินไปเลย จากนั้นนักวิจัยจะวัดการทำงานของสมองของสุนัข เมื่อพวกมันมองเห็นของที่ตรงกับเสียงที่ได้ยิน และเมื่อพวกมันมองเห็นของที่ไม่ตรงกับเสียงที่ได้ยิน
ผลผลการวิจัยพบว่า รูปแบบของคลื่นสมองของสุนัข เมื่อคำที่ได้ยิน ตรงกับของที่มองเห็น จะมีความแตกต่างกัน เมื่อเทียบกับกรณีที่พวกมันมองเห็นของที่ไม่ตรงกับสิ่งที่ได้ยินไป ซึ่งทีมวิจัยระบุว่าเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงความสามารถในการเข้าใจภาษาที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น คล้ายกับที่มนุษย์มี
สำหรับการศึกษานี้ดำเนินการที่มหาวิทยาลัย ออตวอส โลแรนด์ (Eotvos Lorand) ในเมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี และได้ตีพิมพ์ในวารสาร เคอร์เรนท์ ไบโอโลจี (Current Biology) เมื่อวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา
โดย มาเรียนนา โบรอส (Marianna Boros) นักประสาทวิทยาด้านการรับรู้และหนึ่งในทีมวิจัยกล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ได้มีการถกเถียงกันมานานแล้ว เกี่ยวกับความสามารถของสัตว์ในการเข้าใจคำศัพท์ที่อ้างอิงไปถึงวัตถุอื่น ๆ และยังระบุว่า การศึกษาของพวกเขา ถือเป็นครั้งแรกที่ระบุว่า ความสามารถนี้เป็นความสามารถทั่วทั้งสายพันธุ์สุนัข
อย่างไรก็ตาม ทีมวิจัยยังต้องการที่จะศึกษาต่อไป โดยวางแผนที่จะตรวจสอบว่าความสามารถในการเข้าใจภาษานี้ มีความเฉพาะเจาะจงกับสุนัข หรืออาจจะมีอยู่ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นด้วยหรือไม่
ข้อมูลจาก reuters, reutersconnect, phys.org/news