รีเซต

ร้านอาหารที่คุณรู้จัก ยังเปิดอยู่ไหม?

ร้านอาหารที่คุณรู้จัก ยังเปิดอยู่ไหม?
TeaC
30 มิถุนายน 2564 ( 12:53 )
119
1

รู้หรือไม่? ธุรกิจร้านอาหาร เป็นธุรกิจดาวรุ่งมาตลอดไม่ว่าเศรษฐกิจในช่วงนั้นจะขาขึ้นหรือขาลงก็ตาม ด้วยเพราะทุกคนยังต้องซื้ออาหารกิน เนื่องจากอาหารเป็น 1 ในปัจจัยสี่ของมนุษย์ในการดำรงชีวิต แต่ทว่าเมื่อทั่วโลกเกิดโรคระบาดโควิด-19 ขึ้นเมื่อปี 2563 เข้ามาปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตของทุกคน รวมทั้งภาคธุรกิจต่างต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในการรับมือโควิด เพื่อให้ชีวิตและธุรกิจอยู่รอดให้ได้

 

ด้วยสถานการณ์โรคระบาดทำให้ผู้คนปรับพฤติกรรมในการบริโภค หรือเข้าร้านอาหารลดลง เปลี่ยนมาสั่งซื้ออาหารออนไลน์ หรือที่เรียกว่า Food delivery ผ่านแอปพลิเคชั่น ด้วยสมาร์ทโฟน เทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในสังคมเมืองปัจจุบันที่ต้องใช้ชีวิตติดบ้าน หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเป็น Work From Home มากขึ้น

 

 

ย้อนยุคเฟื่องฟู คนไทยชอบ "กินข้าวนอกบ้านถี่มากขึ้น" 

 

ปี 2560 จากผลการวิจัยของบริษัท นีลเส็น ที่มีชื่อว่า "FoodTrips"  ซึ่งได้เก็บข้อมูลพฤติกรรมและความต้องการของผู้บริโภคต่อการทานข้าวนอกบ้าน ไม่ว่าจะเป็นความถี่ ลักษณะของการทานอาหาร และการจับจ่ายในแต่ละมื้อ รวมถึงช่องทางการ ซื้ออาหาร เหตุผลในการเลือก และเทรนด์ของตลาด พบว่า มีเทรนด์ การทานข้าวนอกบ้านที่น่าจับตามองอยู่ 4 เทรนด์ด้วยกัน คือ

 

1. ร้านสะดวกซื้อกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันในการทานข้าวนอกบ้าน

2. ผู้บริโภคคนไทยเน้นทานอาหารมื้อหลักมากขึ้น

3. การเติบโตและมนตร์เสน่ห์ของร้านคาเฟ่ (ชาและกาแฟ)

4. อาหารพร้อมทานจับใจผู้บริโภคต่างจังหวัด

 

และนี่จึงเป็นโอกาสทองของผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร พร้อมด้วยสังคมเมืองที่ผู้คนต้องใช้ชีวิตเร่งรีบ ไม่มีเวลาเข้าครัวทำอาหาร และลักษณะการใช้ชีวิตเป็นครอบครัวเดี่ยว นี่จึงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้คนไทยพึ่งพาร้านอาหารน้อยใหญ่ ตั้งแต่ร้านสะดวกซื้อ (7-11, Family mart)  หรือร้านขายอาหารที่เป็นแผงลอย (Food stall) และอาหารข้างทาง (Street food) 

 

ด้วยปัจจัยเหล่านี้เองจึงทำให้ธุรกิจอาหารได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการทั้งหน้าใหม่ หน้าเก่า บริษัทใหญ่ ๆ รวมถึงดารา นักแสดง ต่างเห็นโอกาสและมักตัดสิใจเปิดร้านอาหาร ซึ่งหากวิเคราะห์การลงทุนในการทำธุรกิจร้านอาหารเมื่อเปรียบเทียบกับธุรกิจอื่น ๆ ถือว่าเป็นการลงทุนที่ใช้เงินไม่มากนัก และมีโอกาสคืนทุนในเวลาไม่นาน รวมทั้ง การลงทุนเปิดร้านอาหารนั้นมีหลากหลายประเภท เรามักจะเห็นร้านอาหารตามหัวเมืองใหญ่ ๆ เมืองท่องเที่ยวต่าง ๆ จึงถือเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่ดึงดูดเม็ดเงินเข้าประเทศด้วยเช่นกัน 

 

 

ธุรกิจร้านอาหารในยุคโควิด

 

แต่เมื่อเข้าสู่ ปี 2563 ทั่วโลกเกิดโรคระบาดไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโควิด-19 ส่งผลในทุกมิติ ทุกด้าน หลายประเทศต่างต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์เลวร้ายที่ไม่มีท่าทีว่าจะสิ้นสุดจบลงเมื่อไหร่ ภาคธุรกิจร้านอาหารก็เช่นกันต้องรับมือโรคระบาด เทรนด์ของผู้คนเปลี่ยนแปลงด้วยเช่นกัน ผู้ประกอบการหลายรายปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ เพิ่มช่องทางการขายอาหารมากขึ้น เช่น ขายอาหารผ่านออนไลน์ สื่อสังคม Social ต่าง ๆ สมัครใช้บริการ Food delivery เพื่อเปลี่ยนการขายอาหารเป็นรูปแบบใหม่ที่ตรงกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

 

โควิดในช่วงแรกนั้นสร้างบทเรียนให้ผู้คนรวมทั้งผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารได้ปรับกลยุทธ์ บางรายอยู่รอด แต่บางรายปิดตัวลง เนื่องจากโรคระบาดไม่ได้สิ้นสุด ยังคงถล่มซ้ำแล้วซ้ำเล่า บวกกับมาตรการการการรับมือโควิดจากทางภาครัฐเอง มาตรการการเยียวยาที่ดูจะสร้างปัญหาซ้ำ ๆ ให้ผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารมากว่าจะช่วยผู้ประกอบการให้ทำธุรกิจให้อยู่รอด

 

อย่างการประกาศ "กึ่งล็อกดาวน์" เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564 ที่ผ่านมา เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงมาตรการให้ร้านอาหาร ห้ามนั่งกินที่ร้าน  30 วัน ซื้อรับกลับบ้านเท่านั้น ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างมาก เพราะไม่มีสัญญาณให้เตรียมตัว และนี่เองจึงเป็นหนึ่งสาเหตุที่หลายเสียงมองว่า รัฐบริหารล้มเหลว

 

จนรัฐต้องออกโรงแก้สถานการณ์ด้วยการออกมาตรการเยียวยาธุรกิจร้านอาหาร ผู้ประกอบการ ลูกจ้าง ด้วยงบ 7,500 ล้านบาท (นายจ้าง-ลูกจ้าง เช็ก! รัฐเยียวยาเงินเท่าไหร่? หลังประกาศ 'กึ่งล็อกดาวน์' ธุรกิจก่อสร้าง-ร้านอาหาร)

 

 

กูจะเปิดมึงจะทําไม อารยะขัดขืน เสียงสะท้อนถึงรัฐ

 

ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้สังคมออนไลน์ผุดแฮชแท็ก กูจะเปิดมึงจะทําไม พุ่งติดอับดับทวิตเตอร์ หลังผู้ประกอบการรายหนึ่งโพสต์เฟซบุ๊ก จัดแคมเปญ #กูจะเปิดมึงจะทำไม ชวนกรอกฟอร์มจัดกิจกรรมเปิดร้าน หลังมีคำสั่งไม่ให้นั่งกินที่ร้าน 30 วัน โดยเนื้อการายละเอียดมีแบ่งเป็น 3 กิจกรรม ดังนี้

 

1. กิจกรรมระยะแรก : Flashmob ดาวกระจาย

ช่วงแรกเราจะเป็นเด็กดีกันก่อนค่ะ เราจะชวนคุณเปิดขายอาหาร+เครื่องดื่มกลับบ้าน และจัด event เปิดเวทีปราศรัย เล่นดนตรี unplugged ในร้าน ให้เข้าฟังร้านละ 20 คน จัดทีละเขต (ถ้าดูในฟอร์มจะเห็นว่าเราให้ระบุพื้นที่ สน.ไว้) เขตละ 5-10 ร้านในวันเดียวกัน ใครใคร่ไปร้านไหนไป แล้วก็เปลี่ยนไปจัดเขตอื่นต่อ ไอเดียมาจากงานคืนกลางคืน ของศิลปิน ปชต. กับร้าน Junk House Music Bar 


2. กิจกรรมระยะสอง : Open!

ส่งเสียงขนาดนี้แล้วไม่ฟัง เราก็อย่าฟังมัน เปิดร้านค่ะ เปิดให้นั่ง ขายเหล้าเบียร์ เล่นดนตรีสด แบบมีมาตรการรักษาระยะห่าง ไม่ต้องประชาสัมพันธ์ ไม่ต้องเอิกเกริก แต่เปิดโอกาสให้ลูกค้าประจำและเพื่อนฝูงได้มาสนับสนุนคุณ ถ้ามีการมาจับกุม เราก็รวมพลังกันด่าและสู้ ถึงตอนนั้นเครือข่ายเราก็จะแข็งแรงแล้ว


3. กิจกรรมระยะสาม : Market Place + Mob


ถ้าทำขนาดนี้แล้วยังไม่เกิดอะไร ลงถนนกันเถอะ ออกร้านขายอาหารบนถนนกันค่ะ เปิดลานเบียร์ ตั้งเวทีเล่นดนตรี แล้วก็ปราศรัยใหญ่ด่าพวกมัน เชื่อว่าคนเอาแน่ ลูกค้าคุณจะตามมาซื้อ มวลชนจะมากินมา support แน่ ๆ เริ่มต้นจากการกรอกฟอร์มค่ะ ย้ำอีกที


โดยผู้ใช้เฟซบุ๊กรายนี้ ยังบอกอีกว่า ข้อมูลนี้จะไม่เปิดเผยที่ไหน เราจะเก็บไว้ติดต่อส่วนตัวและสร้างเครือข่ายแนวร่วมสำหรับการทำงานระยะต่าง ๆ ตอนนี้เท่าที่ศึกษามา ถ้าฝ่าฝืน พ.ร.ก. แล้วโดนจับ อาจจะโดนค่าปรับ 40,000 บาท (เจ้าหน้าที่ปรับเองไม่ได้ ต้องขึ้นศาล) หรือให้ตำรวจช่วยก็จ่ายน้อยกว่า ร้ายแรงสุดคืออาจโดนสั่งปิดได้ อย่างไรก็ตาม เรามีทนายคอยช่วย มีทีมเจรจาเจ้าหน้าที่ มีคนรอสนับสนุนร้านที่จะเปิด และมีคนรอร่วมด่ามากมาย เพราะฉะนั้นอย่ากลัวเลย ทั้งหมดนี้เป็นไอเดียเบื้องต้นจากการปรึกษาหลาย ๆ คนนะคะ ซึ่งเราเข้าใจค่ะว่ามันมีความเสี่ยงหลายอย่าง แต่จุดนี้ถ้าจะสร้างเครือข่ายและเกราะป้องกันช่วยเหลือกัน คุณต้องแสดงความกล้าหาญและประกาศตัวแล้วล่ะ นั่นแหละเริ่มจากการกรอกฟอร์ม หรือไปชวนร้านโปรดของคุณให้มาลงชื่อกัน

 

และเมื่อเกิดกระแสดังกล่าวชาวเน็ตต่างรีทวิตแล้วกว่า 74.5K Tweets พร้อมมเสียงวิพากา์วิจารณ์ในการออกมาตรการสั่งไม่ให้นั่งกินที่ร้าน ส่งผลกระทบต่อร้านอาหารอย่างมาก กระทั่งล่าสุด พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. วอนผู้ประกอบการร้านค้าอย่าใช้แนวทาง “อารยะขัดขืน” ฝ่าฝืนเปิด อยากให้เข้าใจ 

 

 

อย่าใช้แนวทาง "อารยะขัดขืน" ฝ่าฝืนเปิด

 

“ขอความร่วมมือและเห็นใจก่อน เพราะหากยิ่งใช้มาตรการทางกฎหมายในทันที อาจจะทำให้เกิดความตึงเครียด จึงย้ำแนวทางพูดคุย ทั้งนี้จากการสอบสวนโรค พบการติดเชื้อจากการรวมกลุ่มรับประทานอาหาร รัฐบาลขอเวลา 15 วัน ที่จะพิจารณาผ่อนคลายมาตรการดังกล่าว ตามข้อเสนอจากทีมแพทย์ ที่ห่วงสถานการณ์การแพร่ระบาด ก่อนหน้านี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ ที่ยื่นข้อเสนอ ก็ไม่ได้ยื่นกรณีอารยะขัดขืนมาต่อรอง ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการเยียวยาดูแลประชาชนทุกกลุ่ม รวมถึงกลุ่มคนทำงานกลางคืน สถานบันเทิงต่าง ๆ ” ผอ.ศปก.ศบค. กล่าว

 

 

อย่างไรก็ตาม ภาครัฐควรเร่งดำเนินการและออกมาตรการให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เตรียมตัว หรือปรับเปลี่ยนกลยุทธ์รับมือโควิด รับมือมาตรการที่รัฐจะดำเนินการตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่าบอกแบบปุ๊ปปั๊ป เพราะร้านอาหารที่คุณชอบนั่งกินอาจจะอยู่ไม่รอด เพราะรับมือโควิดว่าหนักแล้ว ยังต้องรับมือกับความไม่ชัดเจนของรัฐอีกด้วย

 

ข้อมูล : กรมประชาสัมพันธ์, ข่าวสด

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง