รีเซต

“หุ่นยนต์ขนส่งสินค้า” ติดขา ติดล้อ เดินข้ามสิ่งกีดขวาง ส่งของคล่องตัว

“หุ่นยนต์ขนส่งสินค้า” ติดขา ติดล้อ เดินข้ามสิ่งกีดขวาง ส่งของคล่องตัว
TNN ช่อง16
13 พฤษภาคม 2568 ( 21:00 )
11

ในโลกปัจจุบันที่เทคโนโลยีหุ่นยนต์เข้ามามีบทบาทในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขนส่งสินค้าทางบก ทว่าหุ่นยนต์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ยังคงเผชิญกับข้อจำกัดบางประการ เช่น ความไม่คล่องตัวในการเคลื่อนที่ข้ามสิ่งกีดขวาง หรือต้องมีบุคลากรมาช่วยเคลื่อนย้ายสินค้า

เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัดเหล่านี้ ทีมวิศวกรและนักออกแบบจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งสหพันธ์สวิสซูริก (ETH Zurich) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้สร้างสรรค์นวัตกรรมหุ่นยนต์ขนส่งสินค้าภายใต้ชื่อ "ลีวา" (LEVA) โดยมีความโดดเด่นด้วยการติดตั้งขาทั้ง 4 ข้าง ที่ผสานรวมกับระบบขับเคลื่อนล้อด้วยมอเตอร์ ทำให้สามารถเคลื่อนที่ข้ามสิ่งกีดขวางได้อย่างอิสระ และยังสามารถขนถ่ายกล่องสินค้าหนักสูงสุดถึง 85 กิโลกรัมได้อัตโนมัติ


การออกแบบขาหุ่นยนต์ติดล้อในลักษณะนี้ ทำให้หุ่นยนต์สามารถเคลื่อนที่บนพื้นผิวเรียบ เช่น ทางเท้า ได้อย่างรวดเร็วและประหยัดพลังงาน โดยใช้การทำงานของล้อคล้ายกับล้อรถยนต์ นอกจากนี้ตัวหุ่นยนต์ยังติดตั้งเซนเซอร์วัดระยะ ไลดาร์ (LiDAR) ระบบบอกตำแหน่งผ่านดาวเทียม GPS และกล้อง เพื่อนำทางบนถนนในเมืองและหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวางได้ด้วยตนเอง


เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ต้องขึ้นบันไดหรือก้าวข้ามขอบถนน LEVA จะทำการล็อกล้อ และปรับเปลี่ยนเป็นการเดินหรือปีนป่ายข้ามสิ่งกีดขวางได้อย่างคล่องแคล่ว เช่นเดียวกับการเคลื่อนที่ของสุนัขหรือสัตว์สี่เท้าอื่น ๆ นอกจากนี้ ความสามารถในการเดินยังช่วยให้หุ่นยนต์สามารถเดินทางผ่านพื้นผิวที่ไม่ราบเรียบ และไม่เอื้อต่อการใช้ล้อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


ส่วนความแม่นยำในการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางของ LEVA มาจากการทำงานประสานกันของระบบภายในที่ซับซ้อน ร่วมกับกล้องจำนวน 5 ตัว และด้วยความสามารถในการบังคับทิศทางของล้อแต่ละล้ออย่างอิสระ ทำให้หุ่นยนต์สามารถหมุนรอบตัวเองได้ เคลื่อนที่ไปยังเป้าหมายได้รอบทิศทาง

โดยเมื่อ LEVA เคลื่อนที่ไปอยู่เหนือกล่องสินค้าเป้าหมาย มันจะย่อตัวลงโดยการงอขา จากนั้นตะขอพลังงานภายในจะทำการล็อกเข้ากับส่วนบนของกล่องพัสดุ เพื่อยึดกล่องไว้ใต้ลำตัว เมื่อยึดสินค้ามั่นคงแล้ว หุ่นยนต์จะยกตัวขึ้นและออกเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางที่กำหนด


อย่างไรก็ตามตอนนี้ทีมนักวิจัยยังต้องใช้เวลาในการพัฒนาหุ่นยนต์ต่อไปอีกสักระยะ ก่อนที่เราจะได้เห็นการใช้งานจริง แต่ก็นับเป็นอีกก้าวสำคัญแห่งนวัตกรรมหุ่นยนต์ ที่จะเข้ามาพลิกโฉมวงการโลจิสติกส์และขนส่งสินค้าในอนาคตอันใกล้ เปิดประตูสู่ความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในการใช้งานหุ่นยนต์ในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายยิ่งขึ้น


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง