“อาบป่า” คืออะไร? แนวคิดธรรมชาติบำบัด ดร.สนธิชี้ ดีต่อกาย ใจ และสิ่งแวดล้อม

ดร.สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวให้ความรู้เรื่อง “การอาบป่า” หลังจากได้ประชุมกับคณะกรรมการป่าชุมชน ในพื้นที่ป่าชุมชน ต.ทาเหนือ อ. แม่ออน จ.เชียงใหม่ เรียนรู้วิธีการอาบป่าสามารถช่วยผ่อนคลายได้ทั้งทางร่างกายและจิตใจ โดยระบุว่า รู้หรือไม่การอาบป่าจะช่วยให้อายุยืนยาวขึ้น
การอาบป่า (Forest bathing)คืออะไร?
1.การอาบป่าเป็นการบำบัดร่าง กายและจิตใจด้วยศาสตร์ ดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่เรียกกว่า ชินรินโยกุ (Shinrin-Yoku) มีมาตั้งแต่ปี ศ.ศ.1980 จะช่วยเยียวยารักษาร่างกายและจิตใจด้วยการซึมซับธรรมชาติให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายผ่านประสาทสัมผัสทั้งห้า...จากการวิจัยโดยมหาวิทยาลัยชิบะ ประเทศญี่ปุ่นได้ให้ผู้ทดสอบมองดูกลุ่มต้นไม้เป็นเวลา 1 ชม.พบว่าระดับฮีโมโกลบินในเยื่อหุ้มสมองส่วนหน้าของผู้ทด สอบมีระดับสูงขึ้นมากกว่าตอนที่มองดูไม่มีต้นไม้ แสดงว่า การมีอยู่ของต้นไม้ ในบริเวณรอบตัวจะมีผลต่อสุขภาพสมองของมนุษย์
2.ทันทีที่เราเข้าไปในพื้นที่ป่าธรรมชาติ การบำบัดแบบชินรินโยกุก็จะเริ่มขึ้นทันที โดยมีขั้นตอนคือต้องปิดเครื่องมือสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด เดินให้ช้าลงเพื่อจะให้เห็นและได้สัมผัสกับธรรมชาติมากขึ้น หยุดเดินและยืนหรือนั่งดมกลิ่นรอบตัวด้วยการหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกยาว ๆ และพยายามหลีกเลี่ยงการคิดถึงสิ่งที่ต้องทำ ใช้สายตามองสีของธรรมชาติ สูดดมกลิ่นหอมในป่าสัมผัสกับธรรมชาติให้นานที่สุด ระยะเวลาที่อยู่ในป่าคืออย่างน้อย 2 ชั่วโมง
3.ศาสตร์นี้ได้รับการทดลองและวิจัยในญี่ปุ่นพบว่า จะช่วยฟื้นฟูกลไกของร่างกาย ช่วยลดความเครียด สามารถบรรเทาอาการซึมเศร้าและยังช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์ ที่สำคัญคือการได้สูดก๊าซออกซิเจนจากธรรมชาติให้เต็มปอด ยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานและเพิ่ม NK Cells (Natural killer cells) หรือเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อและเซลล์มะเร็ง
4.ในป่าจะมีสารทอนไซด์ (Phytoncide) คือน้ำมันธรรมชาติที่อยู่ภายในต้นไม้ที่ระเหยออกมา ช่วยในการฆ่าเชื้อแบคทีเรีย เชื้อราและแมลงต่าง ๆ ที่จะมากัดกินต้นไม้นั่นเอง สารตัวนี้มีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างมากเพราะนอกจากจะช่วยให้รู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าแล้ว ยังมีฤทธิ์ช่วยในการผ่อนคลายความเครียดด้วย ช่วยลดความเครียด ความเหนื่อยล้าและอาการซึมเศร้า ช่วยฟื้นฟูร่างกายและเยียวยาจิตใจ ส่งผลในระดับฮอร์โมนที่ทำให้อารมณ์ดีเพิ่มขึ้นและลดความเครียดได้อย่างเห็นผลรวมทั้งเพิ่มระดับภูมิต้านทานในร่างกายด้วย
5. การอาบป่าเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการซึมเศร้า ผู้ที่มีอาการเหนื่อยล้า อาการอ่อนเพลีย และมีความเครียดจะช่วยให้ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
นอกจากนี้การอาบป่ายังช่วยส่งเสริมให้ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของป่าไม้ ได้เห็นความสวยงามของธรรมชาติ ช่วยให้เกิดแรงบันดาลใจในการอนุรักษ์และปกป้องผืนป่า ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ป่าทั่วโลกรวมถึงในประเทศไทยกำลังลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งมีสาเหตุจากการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อการเกษตร อุตสาหกรรม และการขยายเมือง คุกคามที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งพืชและสัตว์ และยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง และภัยธรรมชาติอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายให้กับชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย