ท่องอวกาศด้วยบอลลูน บริษัทญี่ปุ่นเริ่มเที่ยวบินแรกธันวาคม 2023 นี้
บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นชื่ออิวายา กิเก็น (Iwaya Giken) เตรียมเริ่มเที่ยวบินท่องอวกาศด้วยบอลลูนในเดือนธันวาคม 2023 นี้ ภายใต้โครงการโอเพน ยูนิเวิร์ส (Open Universe) ของทางบริษัท ซึ่งมีจุดประสงค์ที่ทำให้อวกาศเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ง่ายมากยิ่งขึ้น ไม่ถูกจำกัดไว้เฉพาะผู้ที่มีฐานะร่ำรวยเท่านั้น เพราะราคาตั๋วท่องอวกาศด้วยบอลลูนถูกกว่าราคาตั๋วท่องอวกาศด้วยยานอวกาศถึง 1 ใน 3
อย่างไรก็ตาม ความสูงที่บอลลูนสามารถเดินทางไปถึงได้ไม่นับเป็นอวกาศเนื่องจากยังอยู่ในชั้นบรรยากาศของโลกคือระดับความสูงประมาณ 15 ไมล์ หรือ 25 กิโลเมตร แต่ก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าเครื่องบินพาณิชย์ทั่วไปที่ระดับ 18,000 - 51,000 ฟุต หรือ 5.4 - 15.5 กิโลเมตร ทำให้ผู้โดยสารในห้องโดยสารสามารถมองเห็นอวกาศได้โดยไม่มีอะไรมากีดขวาง อีกทั้งยังสามารถเห็นความโค้งของโลกได้ด้วย
ห้องโดยสารสูญญากาศ
โดยห้องโดยสารของบอลลูนเป็นห้องโดยสารสุญญากาศมีที่นั่งโดยสาร 2 ที่นั่ง กว้างประมาณ 5 ฟุต หรือ 1.5 เมตร และมีหน้าต่างหลายบานให้ผู้โดยสารสามารถมองเห็นรอบ ๆ ได้ นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีที่เป็นความลับและได้รับการจดสิทธิบัตรเป็นของบริษัทมาใช้ในการออกแบบห้องโดยสารเพื่อให้ปลอดภัยต่อผู้โดยสารมากที่สุด เช่น การทำให้อุณหภูมิภายในห้องโดยสารเปลี่ยนไปน้อยมากที่สุด, การลดแรงสั่นสะเทือนภายในห้องโดยสาร เป็นต้น
ตัวบอลลูนทำจากพลาสติกพิเศษ
ในส่วนของตัวบอลลูนรูปทรงกลมทำจากพลาสติกพิเศษที่ได้รับการจดสิทธิบัตรเฉพาะเป็นของบริษัท โดยจะใช้ฮีเลียมเป็นเชื้อเพลิงในการอัดเข้าไปในตัวบอลลูน ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้อีก
แน่นอนว่าเที่ยวบินท่องอวกาศด้วยบอลลูนเป็นที่สนใจของบริษัทอื่น ๆ ด้วยเช่นกันเพราะมีต้นทุนที่ต่ำกว่ามากและสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายมากกว่า ซึ่งหลายบริษัทจะเริ่มให้บริการครั้งแรกในปี 2024 - 2025 เช่น บอลลูนทัวร์อวกาศของบริษัท สเปซ เปอร์สเปคทีฟ (Space Perspective) โดยอิวายา กิเก็นจะเป็นบริษัทแรกที่ให้บริการเที่ยวบินท่องอวกาศด้วยบอลลูนเนื่องจากทางบริษัทจะเริ่มให้บริการเที่ยวบินแรกในเดือนธันวาคม ปี 2023 นี้
ข้อมูลและภาพจาก Open Universe Project