“สินดูร์” ปฏิบัติการณ์สะเทือนโลก อินเดีย-ปากีสถาน ปมขัดแย้งสู่จุดเดือดนิวเคลียร์?

“สินดูร์” สะเทือนโลก: อินเดีย-ปากีสถาน สู่จุดเดือดนิวเคลียร์?
"แคชเมียร์" ดินแดนที่ถูกเรียกว่าสวิตเซอร์แลนด์แห่งเอเชียใต วันนี้อาจกลายเป็นชนวนสงครามครั้งใหญ่ระหว่างสองชาติมหาอำนาจนิวเคลียร์
การปะทะล่าสุดที่โลกต้องจับตาเริ่มจาก “ปฏิบัติการซินดูร์” การตอบโต้ของอินเดียที่แข็งกร้าวที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ด้วยการยิงขีปนาวุธเข้าใส่ 9 จุดยุทธศาสตร์ ในเขตปกครองของปากีสถานและแคว้นแคชเมียร์
ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ให้สัมภาษณ์กับ TNN ONLINE ถึงท่าทีแข็งกร้าวของอินเดียที่มีต่อปากีสถานในปฏิบัติการณ์ "สินดูร์" ครั้งนี้ไม่ได้เกิดจากอารมณ์ชั่ววูบ แต่มาจากความมั่นใจในสถานะของอินเดียในเวทีการเมืองโลก ที่อินเดียกลายเป็นประเทศเนื้อหอมท่ามกลางความขัดแย้งของ 2 ขั้วอำนาจ คือ สหรัฐ-จีน ที่ต่างอยากดึงอินเดียเป็นพันธมิตร รวมไปถึงระเบียบโลกยุคใหม่ที่ล่มสลายจากสงครามที่ปะทุขึ้นในหลายภูมิภาค ทำให้การใช้กำลังสู้รบกลายเป็นเรื่องปกติ
"ความห่วงใยของประชาคมโลก ในความขัดแย้งของอินเดีย-ปากีสถาน ไม่ใช่เพียงปัญหา “เพื่อนบ้านทะเลาะกัน” ระหว่างสองประเทศในเอเชียใต้ แต่คือความขัดแย้งระหว่างสองผู้ครอบครอง อาวุธนิวเคลียร์ ซึ่งจำนวนหัวรบที่แต่ละฝ่ายถือไว้ใกล้เคียงกันอย่างน่าหวั่นใจ” ผศ.ดร.มาโนชญ์ กล่าว
แม้จะมีความพยายามจาก สหรัฐฯ และจีน ที่ต้องการให้ปากีสถาน-อินเดีย คลี่คลายปัญหาผ่านโต๊ะเจรจา แต่แรงกดดันภายนอกประเทศอาจไม่สำคัญเท่ากับแรงกดดันในประเทศที่ผลักให้ทั้งอินเดีย และ ปากีสถานต้องใช้ความแข็งกร้าวในการตอบโต้ไปมา โดยเฉพาะในส่วนของปากีสถานที่ปฏิกิริยาในการตอบโต้อาจมีผลต่อเสถียรภาพทางการเมืง
“อินเดีย-ปากีสถาน ต่างมีแรงกดดันภายในประเทศสูงมาก แนวคิดชาตินิยมทำให้รัฐบาลทั้งสองฝ่ายไม่อาจถอยหลังได้ โดยเฉพาะปากีสถาน ซึ่งในอดีตเคยถูกกองทัพเข้าแทรกแซงการบริหารประเทศ เพราะไม่ตอบโต้การรุกรานของอินเดียอย่างเด็ดขาด ครั้งนี้จึงยิ่งทำให้สถานการณ์เข้มข้น" ผศ.ดร.มาโนชญ์ อารีย์ วิเคราะห์
นักวิชาการ เชื่อว่าสุดท้ายแล้วความตึงเครียดในภูมิภาคเอเชียใต้จะไม่นำไปสู่สงครามนิวเคลียร์อย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะอินเดียยึดนโยบายไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน (No First Use Policy) รวมถึงต้องประเมินการตอบโต้จากฝั่งปากีสถานซึ่งมีหัวรบนิวเคลียร์ในจำนวนที่ทัดเทียมกัน แต่ก็เชื่อว่าสถานการณ์จะไม่คลายความตึงเครียดในเร็ววันนี้ และจะมีการขยายแนวรบเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะทางภาคพื้นดิน และ การเพิ่มการโจมตีทางอากาศเข้าไปในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่ใกล้เคียงกับพื้นที่แคชเมียร์ และ อาจมีการรุกคืบเข้าไปในการครอบครองของฝ่ายตรงข้าม
โดยเฉพาะในส่วนของปากีสถานที่แสดงท่าทีต้องการยกเลิกข้อตกลงชิมลา ซึ่งเป็นสนธิสัญญายุติข้อขัดแย้งและกำหนดเส้นแบ่งเขตหยุดยิง แบ่งพื้นที่พรมแดนแคชเมียร์ จึงเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าอาจจะนำมาซึ่งการขยายการบุกภาคพื้นดินมากขึ้น
อย่างไรก็ตามยังมองว่าการจบปัญหาด้วยความสันติบนโต๊ะเจรจายังเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับ 2 ฝ่าย เพราะแม้ปากีสถานจะมีขุมกำลัง และ ยุทโธปกรณ์ ไปจนถึงเครื่องบินรบน้อยกว่าอินเดีย แต่กลับมีศักยภาพในการรบไม่แพ้กัน