รีเซต

ราคาที่ต้องจ่าย เปิดเส้นทาง กว่าจะเป็น 'ไอดอลเกาหลี' วงการนี้ไม่มีคำว่า 'บังเอิญ'

ราคาที่ต้องจ่าย เปิดเส้นทาง กว่าจะเป็น 'ไอดอลเกาหลี' วงการนี้ไม่มีคำว่า 'บังเอิญ'
มติชน
20 กันยายน 2564 ( 11:21 )
80

กระแสความนิยมของ ลิซ่า ลลิษา มโนบาล ไอดอลเกาหลีเลือดไทย ได้เข้ามายึดเกาะกระแสโลกออนไลน์ ในประเทศไทยในทุกพื้นที่ ที่เรียกความสนใจจากสื่อจนหลายคนต้องผ่านตา กระทั่ง นายกรัฐมนตรีของไทย ยังได้ออกมาชื่นชมลิซ่า ที่สร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทย นำเอาศิลปวัฒนธรรมไทยสร้างสรรค์เป็น soft power เป็นที่รู้จักทั่วโลก

 

 

โลกของศิลปินไอดอลเกาหลีนั้น เรียกว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ในไทย เป็นคลื่นกระแสความนิยมที่เข้ามานับสิบปี หลายวงไอดอลสร้างความนิยมในระดับโลก ซึ่งล่าสุด BTS บอยแบนด์ชื่อดัง ก็เป็นตัวแทนประธานาธิบดี ที่จะกล่าวสุนทรพจน์ในเวทียูเอ็น เป็นครั้งที่ 2 หรือจะเป็น ลิซ่า Blackpink ที่ทำสถิติศิลปินหญิงเดี่ยว ทำยอดวิวสูงสุดบนยูทูบใน 24 ชั่วโมง หรือบอยแบนด์ NCT127 ที่ทำลายสถิติยอดพรีอัลบั้มกว่า 2.1 ล้าน

 

 

และทั้งหมด ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เกิดจากการผลักดันและนโยบายที่ชัดเจนของรัฐบาล

 

จุดเริ่มต้น Korean wave

การเกิดขึ้นของกระแสคลื่นเกาหลี ใช่ว่าจะเกิดขึ้นด้วยความบังเอิญไม่ แต่เป็นความพยายามผลักดันอย่างจริงจังของรัฐบาล

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปลายทศวรรษที่ 1980 เกาหลี มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น และมีการยกเลิกนโยบายเซ็นเซอร์ต่างๆ และเริ่มกระจายวัฒนธรรมไปทั่วโลก ในปี 1997 เกาหลีก็ประสบกับปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ ทำให้ต้องกู้เงินจาก IMF คิม แด จอง ประธานาธิบดีเกาหลี ผู้เรียกตัวเองว่า “ประธานาธิบดีแห่งวัฒนธรรม” จึงวางเป้าหมายที่จะส่งออกสื่อทางวัฒนธรรม หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจ และวางเป้าหมายให้เป็นแหล่งรายได้หลักของประเทศ

 

 

รัฐบาลของปธน.คิมแดจอง ได้ผ่อนคลายการแบนการนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่น ซึ่งเป็นผลมาจากการล่าอาณานิคมของญี่ปุ่นในเกาหลีก่อนหน้านั้น เริ่มต้นจากมังงะเล่มแรก ที่ได้รับอนุญาตให้วางขายอีกครั้ง และในปีต่อมา รัฐบาลเกาหลีก็ได้ร่างกฎหมายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมขึ้น มีการจัดทำแผน 5 ปี และ 10 ปี เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง ทั้งมีการจัดสรรเงินราว 148.4 ล้านเหรียญเพื่อนโยบายนี้ (ที่มา BBC)

 

 

ตั้ง KOCCA ขับเคลื่อนซอฟท์พาวเวอร์

ในปี 2001 เกาหลีใต้ยังได้จัดตั้งองค์กรด้านวัฒนธรรมอย่างเป็นระบบ คือ “องค์กรวัฒนธรรมและสารัตถะเกาหลีใต้” หรือ Korea Culture and Content Agency – KOCCA มีหน้าที่เผยแพร่วัฒนธรรมไปในกลุ่มประเทศเอเชียและตะวันตกผ่านสื่อต่างๆ ทั้ง ภาพยนตร์ ซีรีส์ เพลง การ์ตูน เกมออนไลน์ เพื่อเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ส่งออกอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม และยังมีองค์กรแตกย่อยอีกจำนวนมาก

 

 

ซึ่ง โจเซฟ ไน ผู้คิดค้นเรื่องซอฟท์ พาวเวอร์ วิเคราะห์ว่าเหตุผลสำคัญที่เกาหลีต้องเพิ่มยุทธศาสตร์ด้านนี้ มีเหตุผล 3 ข้อคือ 1. ข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์ ที่รายล้อมด้วย จีน ญี่ปุ่น และรัสเซีย ซึ่งเกาหลีไม่มีฮาร์ดพาวเวอร์พอจะต่อกร 2.การพึ่งพิงอำนาจทางการทหารกับสหรัฐ ที่ไม่แน่นอนสูง และ 3. เกาหลีมีกำลังคนน้อย ซึ่งเป็นข้อจำกัดของฮาร์ดพาวเวอร์ แต่กับซอฟท์พาวเวอร์นั้น นี่ไม่ใช่ข้อจำกัดเลย

 

 

ยุคใหม่ของ โมเดิร์น K-pop

ก่อนหน้านี้ วัยรุ่นเกาหลีส่วนใหญ่มักจะฟังเพลงตะวันตก เพลงเกาหลีเรียกได้ว่าเป็นเพลงรุ่นแม่ กระทั่งการมาของ “ซอ แท จี แอนด์ บอย” ในปี 1992 ที่มาสร้างยุคใหม่ของวงการเพลง ด้วยเนื้อร้องภาษาอังกฤษ ความเป็นฮิบฮอพ และการเต้น แสดงความสามารถให้คนนับล้านในทีวีได้เห็น วางรากฐานให้กับวงการเพลง

 

 

กระทั่งปี 1995 อีซูมัน อดีตนักร้อง และโปรดิวเซอร์เพลง ได้เปิดศักราชใหม่ให้กับวงการดนตรีเกาหลี ก่อตั้ง SM Entertainment ที่มีวงดังอย่าง H.O.T. ซึ่งเป็นการเปิดศักราชของ เจเนอเรชั่นแรก วงการเพลง K-pop ต่อมาจึงมีค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ตามมาอย่าง DSP Media , JYP Entertainment และบริษัท YG Entertainment ซึ่งบริษัทเหล่านี้ มีช่องทางการสื่อสารที่ทันสมัย มีช่องยูทูบของตัวเอง และมีเพลงที่ตรงกับความต้องการของตลาดเกาหลี

 

 

Bernie Cho จาก MTV ได้บอกกับบีบีซีว่า ช่วงทศวรรษที่ 1990 นั้น ศิลปินเกาหลีส่วนใหญ่มักจะเหมือนจีน หรือไต้หวัน ซึ่งตอนนั้นตลาดหลักอยู่ที่ญี่ปุ่น กระทั่งปี 2002 ที่เกาหลีและญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโกลร่วมกัน โบอา ราชินีเพลงป๊อป สามารถไต่ไปติดอันดับชาร์ตเพลงญี่ปุ่นอยู่ตลอด เป็นแรงบันดาลใจให้กับอุตสาหกรรมเกาหลี ว่าถ้าเธอทำได้ คนอื่นก็ทำได้

 

 

ซึ่งแฟนเพลงเกาหลี ก็ได้เห็นภาพความสำเร็จของวงดังๆอย่าง TVXQ , Super Junior , Bigbang ,2PM หรือ Girl Generation ที่โด่งดัง และเข้าไปตีชาร์ตเพลงญี่ปุ่น ที่มีเจ้าที่อยู่อย่างรัวๆ

 

 

เปิดเจเนอเรชั่น ไอดอล K-pop

แม้จะเปิดบทใหม่ของวงการเพลงเกาหลีสมัยใหม่ตั้งแต่ปี 1992 แต่ปัจจุบันเพลงเกาหลี ก็ได้พัฒนามาไกลถึงเจเนอเรชั่นที่ 4 แล้ว ซึ่งแม้ว่าจะมีเส้นแบ่งที่อาจจะไม่ชัดเจนนัก แต่ก็พอจะทำให้เห็นภาพได้คร่าวๆ

 

 

เจเนอเรชั่นแรกของวงการเพลงเกาหลี ( 1997-2002) เริ่มตั้งแต่ SM เดบิวต์วงบอยแบนด์ H.O.T. ในคอนเซ็ปต์ อเมริกันบอยแบนด์ และ เจแปนนีส ไอดอล ก่อนที่ค่าย DSP จะปล่อยวง Sechs Kies และยังมีวงเกิร์ลกรุ๊ป อย่าง S.E.S. Fin.K.L แต่ก่อนจะเข้าสู่เจนที่ 2 นั้น ยังมีเจน 1.5 ที่มี Shinhwa, Click-B, god, Chakra, Jewelry และ BoA ซึ่งเริ่มได้รับความนิยมในจีน ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออก เป็นช่วงที่ได้รับการเรียกขานในสื่อต่างประเทศว่า ฮันรยู เพิ่มมากขึ้น

 

 

เจเนอเรชั่นที่ 2 ของเกาหลี (2007-2011) เป็นช่วงที่อุตสาหกรรมเพลงของเกาหลีเติบโต สร้างรายได้ให้กับประเทศมหาศาล เป็นยุคที่วงต่างๆ ออกไปเวิลด์ทัวร์ ทำตลาดนอกเกาหลี ซึ่งไอดอลรุ่นนี้ มีภาพลักษณ์เป็นคนมีชื่อเสียงที่แตกต้องไม่ได้ ศิลปินได้ออกรายการเรียลลิตี้โชว์ รายการทีวี รวมถึงมีบทบาทในซีรีส์เกาหลี ศิลปิน ในรุ่นนี้ มี TVXQ, SS501, BIGBANG, Super Junior, Girls Generation, KARA และ Wonder Girls

 

 

ส่วนเจน 2.5 เป็นวงไอดอลที่ขับเคลื่อนด้วยความดังของศิลปินกลุ่มเจน 2 ที่มีศิลปินเดบิวท์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ถูกคาดหวังว่าจะต้องทำได้มากกว่า ร้องและเต้น อาทิ SHINee, 2PM, INFINITE, f(x), 2NE1, Miss A และSISTAR ซึ่งเป็นยุคที่ยูทูบ เริ่มเข้ามามีบทบาทอย่างมากในการเผยแพร่ผลงานสู่แฟนอินเตอร์ คนที่ไม่เคยรู้จักก็จะได้รู้จักเคป๊อปมากขึ้น ซึ่ง Gangnam Style ของ PSY ก็ได้มาเปลี่ยนภาพการรับรู้นี้ไป

 

 

ทลายเส้นแบ่ง สู่ระดับเวิลด์ไวด์

เจนเนอเรชั่น 3 (2012–2017) ยุคที่การทลายเส้นแบ่งของการเสพเคป๊อป ก็มาถึง บอยแบนด์และเกิร์ลกรุ๊ปยุคนี้ จึงมีเป้าหมายของกลุ่มผู้บริโภคที่ชัดเจน มีการใช้โซเชียลมีเดีย ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม และสตรีมมิ่งต่างๆ อย่าง เนเวอร์ จะเรียกว่ายุคของ โลกาภิวัตน์ก็ไม่ผิดนัก ช่วงนี้วงต่างๆที่เดบิวต์ ต้องมีคอนเซปต์ชัด และดึงดูดแฟนๆมากกว่าแค่เพลง เช่นว่า ไม่ใช่แค่เอ็มวี แต่ก็ยังต้องมีคอนเทนต์ต่างๆ รุ่นนี้ก็มี EXO, NU’EST, VIXX, BTS, GOT7, Red Velvet, TWICE, BLACKPINK และ GFRIEND

 

 

รุ่น 3.5 ยังเป็นการมาของการรายการเซอร์ไวเวอร์เพลง อย่าง PRODUCE 101 ที่นำเอาเด็กฝึกจากค่ายต่างๆ มาแข่งขันกันเพื่อเดบิวท์เป็นวงใหม่ในช่วงหนึ่ง ก่อนจะแยกกันกลับค่าย รายการฮิตข้ามเกาหลีและประเทศอื่นๆ ที่เปลี่ยนโลกของวงการเพลงเกาหลีอีกครั้ง เป็นยุคที่เสียงของแฟนคลับมีพลังมากจากพลังการโหวตต่างๆ ยุคนี้ศิลปินดังๆก็ได้แก่ SEVENTEEN, MONSTA X, NCT, Wanna One และ I.O.I

 

 

และก็เป็นการก้าวเข้าสู่ยุคปัจจุบัน ของวงการเพลง เจน 4 (2018 ถึงปัจจุบัน) ที่ซึ่งขอบเขตต่างๆของเพลง ไม่ได้มีพื้นฐานจากเกาหลีอีกต่อไปแล้ว วงในยุคนี้ ก็ได้แก่ TXT, ITZY, Stray Kids, ATEEZ และ Aespa นั่นเอง (ที่มา Koreaboo)

 

 

ออดิชั่น ก้าวแรกสู่ เด็กฝึก

ก่อนที่จะเป็นวงไอดอลชื่อดังอย่าง BTS หรือ BLACKPINK ที่ประสบความสำเร็จ เด็กแต่ละคนต้องผ่านการฝึกกันมาแล้วอย่างเข้มข้น

 

 

จะเข้าไปเป็นเด็กฝึกได้อย่างเต็มตัวได้นั้น เหล่าเด็กๆจะต้องเข้าไปออดิชั่นผ่านค่ายเพลงต่างๆ บางรายอาจจะไปเตะตาใครสักคนเข้า และถูกชวนให้ไปออดิชั่น ส่วนใหญ่จะเข้าไปออดิชั่นกันตั้งแต่ช่วงอายุ 10 ปี ต้นๆ ซึ่งเท่ากับว่าเด็กเหล่านี้ก็ต้องเรียนร้อง และเต้น มาก่อนหน้านี้นาน

 

 

ยูทูบเบอร์รายหนึ่ง ลูกครึ่งอังกฤษ เกาหลี จีน ซึ่งเคยเป็นเด็กฝึกในค่ายหนึ่ง บอกกับ บีบีซี ว่า เธอเริ่มคัดตัวตั้งแต่ 10 ขวบ ซึ่งมีคนไปร่วมแข่งกว่า 2,000 คน ซึ่งกรรมการให้ร้องเพลง และเต้น ก่อนจะถูกถ่ายภาพหลายๆมุมเพื่อดูว่าขึ้นกล้องหรือไม่ และเรียกกลับไปเจรจาเรื่องสัญญา ที่ต้องออกจากครอบครัว ย้ายไปฝึกที่เกาหลี ซึ่งหากว่าลาออกก่อนเวลาในสัญญา ก็ต้องชำระค่าเรียนหลายพันดอลลาร์ ซึ่งเวลาที่สั้นที่สุดในการเซ็นสัญญาของเธอก็คือ 2 ปี

 

 

ตารางการซ้อมสุดโหด

ผ่านออดิชั่นมาแล้ว ก็ยังไม่ใช่การรับประกันว่าจะมีโอกาสได้เดบิวท์เป็นศิลปินง่ายๆอย่างตั้งใจ แต่ละค่ายมีเด็กฝึกหลายร้อยคน แต่กว่าค่ายจะเดบิวท์ศิลปินสักวง ก็ต้องเลือกเฟ้นคนที่ฉายแววไปต่อ และมีความสามารถจริงๆ เพียงไม่กี่คน ซึ่งการการันตีว่าคุณจะดัง ก็ต้องเซ็นสัญญากับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่อย่าง SM , YG, JYP และล่าสุดกับ HYBE หรือ Bighit เดิม

 

 

เด็กฝึกต้องเรียนทั้งร้อง เต้น แรพ การแสดง และเรียนภาษา เพื่อจะเป็นซุปเปอร์สตาร์ระดับโลก เด็กส่วนใหญ่ยังได้ไปเรียนในโรงเรียนเหมือนเด็กทั่วไป ซึ่งทำให้พวกเขาต้องตื่นมาซ้อมเต้นตั้งแต่ตี 5 ก่อนไปเรียนตอน 8 โมง และกลับมาซ้อมต่อจนกระทั่งตี 1 ซึ่งแต่ละบริษัทก็จะมีการประเมินผลในรอบเดือน ทำให้พวกเขาต้องซ้อมกันอย่างเข้มข้น โดยไม่มีวันหยุดพัก (ที่มา rojakdaily)

 

 

ทุกคนต้องพักอาศัยอยู่ในหอพัก ซึ่งจะออกไปข้างนอกได้ก็เฉพาะเวลาเรียน ผู้ปกครองจะมาหาก็ต้องขออนุญาตก่อน ทั้งยังมีกฎห้ามเดท ซึ่งต้องแอบทำกันอย่างลับๆ บางบริษัท จะแบ่งเด็กฝึกออกเป็น 2 ทีม ซึ่งทีมเอ คือเด็กที่มีโอกาสจะได้เดบิวท์ ขณะที่ทีมบี มีสมาชิกหลายร้อยคนและไม่มีแม้กระทั่งหอพักของตนเอง ต้องนอนในห้องซ้อม และจ่ายเงินเพื่อให้ได้ฝึก

 

 

ต้องลดน้ำหนักอย่างบ้าคลั่ง

ภาพลักษณ์ ถือเป็นเรื่องสำคัญของศิลปินคนหนึ่ง บางคนก็จำเป็นที่จะต้องศัลยกรรม แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนต้องเจอเหมือนกัน ก็คือการลดน้ำหนัก และถูกจำกัดด้านอาหาร โดยเฉพาะก่อนการแสดง ในการประเมินประจำเดือน ทุกคนต้องชั่งน้ำหนัก และ วัดเปอร์เซนต์ความอ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับวงเกิร์ลกรุ๊ป เช่น Nine Muses ที่มีแก้วกระดาษสำหรับไดเอต เพื่อควบคุมปริมาณอาหารในแต่ละมื้อ

 

 

โซยู สมาชิกวง Sistar เคยออกมาบอกว่าเธอต้องลดน้ำหนัก 8 กิโลกรัมในหนึ่งเดือน ห้ามกินคาร์โบไฮเดรตและเกลือ กินได้เพียงไข่นกกะทา 4 ฟองที่ไม่มีไข่แดง และนมไขมันต่ำ กับสลัดที่ไม่มีน้ำสลัด จะกินแตงโมก็ไม่ได้ เพราะมีผลต่อการลดน้ำหนัก ส่วนเพื่อนร่วมวงอย่าง ดาซอม ก็ต้องลดน้ำหนัก 10 กิโลกรัมใน 3 สัปดาห์ โดยกินเพียงแตงกวาอย่างเดียว

 

 

แต่เมมเบอร์ของเกิร์ลกรุ๊ปหลายคน ก็รักษารูปร่าง เพราะต้องฝึกซ้อมเต้นอย่างหนักหลายชั่วโมงต่อวัน และแม้ว่าจะเดบิวท์ออกมาแล้ว ก็ยังถูกวิจารณ์เรื่องรูปร่างอยู่ตลอด อย่างเช่น ปาร์คบอม 2ne1 และ ชินดง Super Junior ที่ถูกวิจารณ์เรื่องรูปร่าง

 

 

ฝึกเป็นสิบปี กว่าจะเป็นไอดอล

การฝึกอย่างหนัก ใช่จะเป็นการการันตีถึงโอกาสที่จะได้เดบิวท์ ไอดอลหลายคน ต้องใช้เวลาฝึกหลายปี กว่าจะได้มีผลงานออกมาให้เห็น

 

 

คิม นัมจุน หรือ RM (Rap Monster) ลีดเดอร์แห่ง BTS ใช้เวลาฝึกกว่า 4 ปี กว่าจะได้เดบิวท์ ขณะที่ ซึลกิ วง Red Velvet ใช้เวลาฝึกถึง 7 ปี ส่วนลีดเดอร์ของวงอย่าง ไอรีน กว่าจะได้เดบิวท์เป็นศิลปิน ก็ตอนที่อายุได้ 24 ปี ซึ่งต้องฝึกนานถึง 5 ปีด้วยกัน เพื่อนร่วมค่าย SM อย่างลีดเดอร์ของวง EXO ซูโฮ ก็ใช้เวลาถึง 6 ปี ขณะที่ จอห์นนี่ NCT ใช้เวลาถึง 9 ปี หลังบินจากชิคาโก สหรัฐ มาเป็นเด็กฝึกที่เกาหลี

 

 

ฝั่งค่ายใหญ่อีกค่ายาอย่าง YG นั้น เจนนี่ BLACKPINK ใช้เวลาฝึกอยู่กว่า 6 ปี โดยเริ่มเข้าค่ายปี 2010 ก่อนค่ายจะเปิดตัวว่าเธอจะเป็นเมมเบอร์ของเกิร์ลกรุ๊ปวงใหม่ในปี 2012 จีดราก้อน แห่ง Bigbang นับเป็นอีกหนึ่งคนที่มีช่วงของการเป็นเด็กฝึกค่อนข้างนาน ใช้เวลาฝึกถึง 11 ปี โดยอยู่ที่ SM 5 ปี และ YG อีก 6 ปี (ที่มา koreaboo)

 

 

ซึ่งก่อนจะเดบิวท์วงหนึ่งมานั้น ก็ต้องวงตำแหน่งของเหล่าเมมเบอร์ ทั้ง เมนโวคอล หรือ ร้องนำ , เมนแดนซ์ ซึ่งมักจะได้เต้นเป็นเซนเตอร์, เมนแรพ รวมไปถึง วิชวล ของวง หรือความงามของวง และตำแหน่งสำคัญอย่าง ลีดเดอร์ หัวหน้าวง ทั้งยังมี มักเน่ ศัพท์ที่หลายคนมักคุ้นหู กับน้องเล็กของวงนั่นเอง (ที่มา scmp)

 

 

ค่ายทุ่มเท่าใด ก่อนได้เดบิวท์ศิลปิน

การจะเดบิวท์ศิลปินออกมาหนึ่งคน ใช่ว่าจะทำได้ง่ายๆ นอกจากดูว่าเด็กเหล่านั้นมีพรสวรรค์ที่ซ่อนอยู่ไหม ยังต้องดูว่าเขาเหล่านี้ อยู่ร่วมกับสังคมได้ไหม ถ้าไม่ระมัดระวังพอ อาจจะส่งผลเสียใจอนาคต เช่นเรื่องของภาพลักษณ์ในที่สาธารณะ เรื่องทางเพศ เมาแล้วขับ เรื่องยาเสพติด พฤติกรรมการบูลลี่ในโรงเรียนก็ได้

 

 

ค่ายเพลงของเกาหลี เซ็นสัญญากัน 5 หรือ 10 ปี กว่าที่พวกเขาจะได้เดบิวท์ จากเด็กฝึกกว่า 300 กรุ๊ปที่จะเดบิวท์ในแต่ละปี มีเพียง 50 วงที่ได้เดบิวท์ และ 1-2 วงที่จะประสบความสำเร็จ ซึ่ง กว่าจะได้เดบิวท์นั้น ค่ายต้องใช้เงินรวม 2,000 ล้านวอน ในการทำอัลบั้ม การตลาด และการฝึกฝนของเด็ก ค่ายต้องจ่ายค่าอยู่ การกิน และเรียน ราว 30 ล้านวอนต่อเดือน และยังต้องใช้เงินกว่า 100 ล้านวอน ในการดันศิลปินขึ้นรายการเพลง อย่าง Music Bank (ที่มา sbs)

 

 

นั่นเป็นที่มา ให้ค่ายต่างๆเซ็นสัญญาทาส มีส่วนแบ่งให้กับศิลปินน้อย เพื่อเรียกทุนคืน

 

 

‘แทกุก ไลน์’ ไอดอลเลือดไทย

คนไทยหลายคน ที่อาจจะไม่ได้ติดตามวงการเพลงเกาหลีมาก่อนหน้านี้มากนัก ก็อาจจะได้เห็นข่าวคราวของ ลิซ่า ลลิษา มโนบาล หรือ นิชคุณ ที่ไปสร้างชื่อเสียงในระดับนานาชาติ แต่แท้จริงแล้ว มีไอดอลเลือดไทยหลายคน ที่เดบิวต์เป็นศิลปินเกาหลี

 

 

นิชคุณ หรเวชกุล วง 2PM เรียกได้ว่าเป็นผู้เปิดประตูให้กับไอดอลชาวไทยโดยแท้จริง นิชคุณ เตะตาเข้ากับค่ายใหญ่อย่าง JYP ที่มีศิลปินดังอย่างเรน เมื่อไปเที่ยวเทศกาลดนตรีเกาหลี ขณะเรียนอยู่ที่อเมริกา กระทั่งได้ไปออดิชั่น และเป็นคนไทยคนแรก ที่ออดิชั่นผ่าน

 

 

แบมแบม กันต์พิมุกต์ ภูวกุล หรือแบมแบม GOT7 ค่าย JYP ใช้เวลาร่วมฝึกกว่า 3 ปีครึ่ง ก่อนจะได้เดบิวต์ในเพลง Girls Girls Girls ล่าสุดแบมแบม ออกมามีผลงานเดี่ยว ปล่อยเพลง ‘riBBon’ มากระชากใจแฟนเพลง หลังจากทั้งวง GOT7 ไม่ต่อสัญญากับค่าย

 

 

ลิซ่า ลลิษา มโนบาล แรพเปอร์สาว แห่งวง BLACKPINK ผ่านการออดิชั่นที่ประเทศไทยกับค่าย YG ร่วมฝึกอยู่กว่า 5 ปี กระทั่งได้เดบิวต์ และมีเพลงโซโล่เพลงแรก LALISA ลิซ่าเป็นไอดอลเกาหลีที่มีผู้ติดตามอินสตาแกรมมากที่สุด และยังมีเพลงที่มียอดวิวแตะพันล้านหลายเพลงด้วยกัน อาทิ DDU-DU DDU-DU , Kill This Love และ Boombayah

 

 

เตนล์ ชิตพล ลี้พรชัยกุล อีกหนึ่งศิลปินชาวไทยในค่าย SM สมาชิกวง NCT , WayV และ Super M เตนล์เปิดตัวด้วยการเป็นสมาชิกกลุ่มเด็กฝึกหัด SM Rookie ก่อนจะเดบิวท์ในกรุ๊ป NCT U และเปิดตัวกับวง WayV บอยแบนด์ที่ค่ายตีตลาดจีน ด้วยเพลงภาษาจีน รวมทั้งเดบิวท์ในนามวง Super M ที่ค่ายได้ร่วมมือกับ Capitol Music Group เพื่อตีตลาดสหรัฐ ทั้งยังเพิ่งมีผลงานเดี่ยวล่าสุดในเพลง Paint Me Naked

 

 

สร ชลนสร สัจจกุล สมาชิกวง CLC ค่าย CUBE เข้าวงการด้วยการชนะการแข่งขัน KPOP Star Hunt Season มีเพลงล่าสุดคือ “HELICOPTER”

 

 

และ มินนี่ ณิชา ยนตรรักษ์ วง G-idle จากค่าย CUBE เช่นกัน เริ่มออดิชั่นเข้าไปฝึกที่เกาหลีตั้งแต่ปี 2015 ก่อนได้เดบิวท์ในปี 2018 มีเพลงดังๆอย่าง LATATA และ Lion

 

 

เปิดรายได้ ค่ายใหญ่เกาหลี

วงการเพลงเกาหลีนั้น เหล่าไอดอลไม่เพียงจะทำรายได้จากการขายซีดีเพลงธรรมดา หรือ การเล่นคอนเสิร์ตเท่านั้น ในอัลบั้มของเหล่าไอดอล มักจะมีการ์ดของเมมเบอร์แต่ละคน แฟนคลับต้องซื้อบั้มหลายชุดกว่าจะได้การ์ดของเมนตัวเอง และยิ่งซื้อมากยิ่งได้สิทธิที่จะเข้าแฟนไซน์ หรือคอลล์ ไซน์ ในช่วงโควิด นอกจากนี้ ยังมีแอพพลิเคชั่นอย่าง Lysn ที่ต้องจ่ายเงินเป็นรายเดือนเพื่อรับข้อความจากศิลปิน

 

 

ถึงแม้ว่าจะประสบปัญหากับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้จัดคอนเสิร์ตไม่ได้ แต่ก็ยังมีคอนเสิร์ตออนไลน์ ที่หลายวงมีผู้เข้าชมพร้อมกันหลายแสนคน อย่างเช่น Bang Bang Con: The Live ของวง BTS ที่มีผู้เข้าชมกว่า 756,000 คน จาก 107 ประเทศ

 

 

และนี่คือรายได้ของค่ายใหญ่ 4 ค่ายเพลงของเกาหลี ในปีนี้

 

 

เริ่มต้นด้วย YG ซึ่งเป็นค่ายเดียวใน Big4 ที่ล้มเหลวในการทำกำไรในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ขาดทุน 1.5 พันล้านวอน มีกำไร 10.4พันล้านวอน สร้างยอดขายได้ประมาณ 83.6 พันล้านวอน

 

 

JYP มีรายได้ 4.8 พันล้านวอน ในช่วงไตรมาสที่ 2 กำไรจากการดำเนินการ 9.6 พันล้านวอน ทำยอดขายได้ราว 40.6 พันล้านวอน

 

 

SM ทำรายได้สุทธิ 16.3 พันล้านวอน ในไตรมาสที่ 2 ได้กำไร 27.5 พันล้านวอน หลังทำยอดขายได้ราว 186 พันล้านวอน ซึ่งในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ มีศิลปินที่มีผลงานคัมแบ็กจำนวนมาก ทำให้ค่ายมีรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า

 

 

HYBE ถือเป็นค่ายที่มีรายได้สูงสุดในไตรมาสที่สองของปีนี้ ที่ 20.2 พันล้านวอน มีกำไร 28 พันล้าน และ มียอดขาย 279 พันล้านวอน

 

 

ซึ่ง นี่เป็นเพียงการเปิดเผยรายได้จากทางค่ายเพลงเกาหลี ยังไม่รวมอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ได้รับอิทธิพลของศิลปินเกาหลี ก็เรียกได้ว่าสร้างรายได้ให้กับเกาหลี มหาศาล

ข่าวที่เกี่ยวข้อง