จีนวางแผนดึงดูดผู้เชี่ยวชาญ สู่การเป็นคลังสมองแห่งแดนมังกร สานต่อความก้าวหน้าพลิกโฉมโลก
จีนมุ่งมั่นดึงดูดยอดฝีมือจากต่างแดน
ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง กล่าวว่า “จีนมีความกระตือรือร้นมากกว่ายุคใด ๆ ในประวัติศาสตร์” เรื่องการดึงดูดนักวิชาการแถวหน้า โดยกล่าวในการประชุม ซึ่งมีผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าร่วมด้วย
รายงานของสำนักข่าว Xinhua ระบุว่า สีจิ้นผิง ย้ำว่า “ต้องยึดมั่นในการบริหารจัดการของรัฐบาล เพื่อเผชิญหน้ากับพรมแดนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งสมรภูมิเศรษฐกิจโลก”
“ความสามารถในการแข่งขันของจีน มาจากบุคลากรที่มีทักษะชั้นเยี่ยม แต่ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหรือการฟื้นฟูประเทศ ต่างขึ้นอยู่กับความสามารถของคนในชาติ” สี จิ้นผิง กล่าว ขณะที่อธิบายว่า จีนจะคว้าชัยท่ามกลางการแข่งขันจากทั่วโลกได้อย่างไร
ศักยภาพต้องมาพร้อมกับจุดยืนที่เหมาะสม
นอกจากการเน้นว่า นักวิทยาศาสตร์และปัญญาชนในจีน ต้องมี "แนวโน้มเอียงทางการเมืองที่ถูกต้อง" แล้ว ปธน.สี จิ้นผิง ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการดึงศักยภาพของผู้เชี่ยวชาญอย่างเต็มที่ และจัดเตรียมสภาพแวดล้อมที่ดีที่สุดสำหรับการพัฒนาให้บุคคลเหล่านี้
“เราต้องยืนหยัดในความโน้มเอียงทางการเมืองที่ถูกต้อง พัฒนาศักยภาพของปัญญาชนอย่างต่อเนื่อง สร้างแรงบันดาลใจให้คนที่มีความสามารถให้รู้สึกถึงความรักชาติอย่างลึกซึ้ง และนำพาประเทศก้าวไปข้างหน้า” ผู้นำจีน กล่าว
เขายังเจาะจงว่า ภายในสองทศวรรษนี้ จีนจะต้องเป็นผู้นำระดับโลก ทั้งในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ตั้งเป้าหมายและไปให้ถึง
“เป้าหมายของจีน คือ การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาจะต้องเพิ่มขึ้นภายในปี 2025 และต้องประสบความสำเร็จในการระดมพลนักวิทยาศาสตร์ระดับแนวหน้า”
“ส่วนปี 2030 ระบบที่ปรับให้เข้ากับการพัฒนาศักยภาพเป็นพื้นฐานสำคัญ ส่วนการฝึกอบรมเชิงนวัตกรรม จะได้รับการพัฒนาอย่างมีนัยสำคัญ และพัฒนาไปพร้อม ๆ กับการดึงดูดผู้เชี่ยวชาญระดับโลก”
เขากล่าวต่อว่า "ภายในปี 2035 จีนควรเป็นต่อในการแข่งขันด้านทักษะในหลายสาขา และควรติดอันดับประเทศชั้นนำของโลก ในแง่ของความแข็งแกร่งทางยุทธศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงกองทัพที่มีศักยภาพสูง”
สี จิ้นผิง เลือกปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ และเขตเศรษฐกิจอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า ให้เป็นพื้นที่หลักที่มุ่งเน้นดึงดูดผู้มีความสามารถสูง และผู้นำสี ยังเรียกร้องให้มีการพัฒนาห้องวิจัยและห้องปฏิบัติการระดับโลก รวมถึงแพลตฟอร์มนวัตกรรม ทั่วประเทศจีน
แก้ปัญหาเรื้อรังจีน-สหรัฐฯ
การประชุมครั้งนี้ มีขึ้นเนื่องจากความสัมพันธ์ระหว่างจีนและสหรัฐฯ ยังคงตึงเครียดจากปัญหาด้านเทคโนโลยีและการค้า รวมถึงประเด็นละเมิดสิทธิมนุษยชน
ตอกย้ำความสำคัญ ด้วยการปรากฏตัวของคณะกรรมการประจำกรมการเมือง (Politburo Standing Committee) ซึ่งมีสมาชิก 7 คน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานรัฐบาลกลาง และเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากทุกจังหวัดและทุกภูมิภาค รวมถึงผู้นำของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่สำคัญที่สุดของจีน
จีนกล่าวโทษสหรัฐฯ ในเรื่องข้อจำกัดวีซ่าที่ไม่เป็นธรรมต่อนักเรียนจีน, การจำกัดการส่งออกเทคโนโลยี และภาษีการค้าที่กำหนดโดยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ขณะที่รัฐบาลปัจจุบัน ภายใต้ประธานาธิบดี โจ ไบเดน ก็ยังไม่มีการผ่อนปรนภาษีและการส่งออกแต่อย่างใด