รีเซต

อาจารย์เจษฎ์ ไขข้อข้องใจ "จุดดำบนเนื้อหมูติดมัน" เกิดจากอะไร กินได้ไหม?

อาจารย์เจษฎ์ ไขข้อข้องใจ "จุดดำบนเนื้อหมูติดมัน" เกิดจากอะไร กินได้ไหม?
TNN ช่อง16
14 กรกฎาคม 2566 ( 13:53 )
171

อาจารย์เจษฎ์ ไขข้อสงสัย "จุดดำบนเนื้อหมูติดมัน" อันตรายหรือไม่ เกิดจากอะไร บริโภคได้ไหม?

เพจ “อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์” หรือ ผศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความให้ความรู้เกี่ยวกับ จุดดำบนเนื้อหมูติดมัน


โดยระบุว่า  "จุดดำบนเนื้อหมูติดมัน เป็นเรื่องเกิดขึ้นได้ ไม่อันตรายครับ" มีคำถามหลังไมค์มาจากโพสต์บนกลุ่มเฟซบุ้ค "พวกเราคือผู้บริโภค" ที่ตั้งคำถามว่า "สอบถามผู้รู้นะคะ ว่าที่ดำๆในเนื้อหมูนี่อะไร จะได้สบายใจในการทำกับข้าวต่อไป "(ดู https://www.facebook.com/groups/167395380606699/posts/1272249826787910/)


คำตอบคือ มันเป็นจุดดำ ที่เกิดขึ้นจากความผิดปรกติของการสร้างเม็ดสีขึ้นบนเนื้อเยื่อไขมันของหมู แต่ไม่ได้อันตราย บริโภคได้ และพบอยู่เรื่อยๆ


ในช่วงปี พ.ศ. 2557 ก็เคยมีการเผยแพร่ภาพทำนองนี้ ในโลกออนไลน์ โดยบอกว่า พบ "สิ่งปนเปื้อนในเนื้อสุกรชำแหละ มีลักษณะเป็นจุดดำๆ ในชั้นไขมันใต้ผิวหนัง" จนทำให้ผู้บริโภคตื่นตระหนกกัน บางคนก็บอกว่าเป็นหมูเน่า-ขึ้นรา บางคนก็บอกว่าเป็นขนคุดอุดตันอยู่ใต้ชั้นผิวหนัง !?


ซึ่งทาง คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ออกมาให้ข้อมูลเรื่อง “ไขข้อข้องใจ จุดดำในเนื้อสุกรชำแหละ” โดยชี้แจงว่า เนื้อหมูที่มีลักษณะจุดสีดำเป็นหย่อมๆ นั้น เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการสะสมเม็ดสี ชนิดเมลานิน (melanin) โดยผู้บริโภคมั่นใจได้ว่า ไม่เป็นอันตรายอย่างแน่นอน เพียงแค่อาจจะทำให้เนื้อสุกรไม่น่ารับประทานเท่านั้นเอง


- จุดสีดำๆ ที่พบที่เนื้อหมู จะมีลักษณะเป็นหย่อมๆ หรือเป็นวงพื้นที่ (ปริมาตร) ประมาณ 0.5 x 2.0 x 5.0 หรือประมาณ10 ตารางเซนติเมตร ซึ่งกระจายห่างๆ กัน อาจจะมีตั้งแต่ 2-30 แห่ง พบเฉพาะในชั้นไขมันใต้หนังหน้าท้องบริเวณราวนม รวมทั้งผนังอก ซึ่งไม่ได้พบทุกๆ ตัว


- จุดดำเหล่านั้น เป็นความผิดปกติที่เกิดจาการสะสมเม็ดสีชนิดเมลานิน (melanin) ซึ่งมีสีดำ คล้าย ผ้าหรือกระ พบได้ในเนื้อเยื่อไขมันบริเวณหน้าท้อง เนื้อเยื่อเต้านม เนื้อเยื่อไขมันหรือเนื้อเยื่อเกี่ยวพันบริเวณท้องใกล้เคียงกับบริเวณเต้านมของหมูเพศเมีย


- เป็นความผิดปกติที่พบได้ตั้งแต่กำเนิด ในช่วงการพัฒนาเป็นตัวอ่อนระยะแรก และมักพบในหมูสายพันธุ์สีดำ หรือลูกผสมที่มีสายพันธุ์สีดำร่วม ที่นิยมรับประทานกันตามท้องตลาด พบได้น้อยในหมูสีขาว


- ความผิดปกติชนิดนี้เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า seedy belly หรือ seedy cut หมูเพศผู้มีโอกาสพบได้น้อย สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้


- เนื้อหมูชำแหละที่พบจุดดำในเนื้อเยื่อไขมันนี้ ยืนยันว่า ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค แต่อาจจะทำให้ดูลักษณะเนื้อหมูดูไม่สวย ไม่น่ารับประทานเท่านั้นเอง ไม่ต้องตกใจ


- หากมีข้อสงสัย สามารถสอบถามได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์และเสริมสร้างภาพลักษณ์องค์กร คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โทร 02-218-9719 www.vet.chula.ac.th


- ขณะที่ทางผู้ประกอบการเจ้าของฟาร์มหมู ก็ออกมาแสดงความเห็นว่า มีความมั่นใจในการขายเนื้อหมูมากขึ้น จากการแถลงข่าว และต้องทำความเข้าใจให้กับผู้บริโภคต่อไป ว่าเนื้อหมูลักษณะดังกล่าวไม่มีอันตรายแต่อย่างใด สามารถบริโภคได้ตามปกติ


ข้อแนะนำในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์ที่ควรบริโภค

1. เนื้อควรจะสด โดยดูจากสีของเนื้อ ซึ่งสีของเนื้อวัวจะแดงมากกว่าเนื้อสุกรและเนื้อไก่ และไม่มีสีเขียวแทรกอยู่ตาม กล้ามเนื้อหรือขอบๆ ก้อน ฯลฯ เมื่อ”กด”ดูไม่มีน้ำไหลออกมาหรือบุ๋มลงอย่างชัดเจน เนื้อที่สดจะหยุ่นและแข็งเล็กน้อย ไม่มีน้ำแฉะ ๆ แทรกอยู่ตามกล้ามเนื้อ ไม่พบก้อน หรือถุงน้ำของพยาธิแทรกอยู่ตามกล้ามเนื้อและไม่มีกลิ่นเหม็นเน่า


2. แหล่งผลิต ควรเลือกซื้อจากร้านที่สะอาด เชื่อถือได้ เนื้อสัตว์มีการเก็บรักษาคุณภาพเนื้อสัตว์อย่างถูกวิธี


 3. ราคา ราคาของเนื้อต้องเหมาะกับการบริโภค และคุณภาพของเนื้อ ให้เหมาะสมการปรุงอาหาร





ที่มา อ๋อ มันเป็นอย่างนี้นี่เอง by อาจารย์เจษฎ์ 

ภาพจาก JoopJoop Time Smile / TNN Online

ข่าวที่เกี่ยวข้อง