สหรัฐฯ ชี้ Twitter ต้องยกเครื่องความปลอดภัยทางไซเบอร์ใหม่
(แฟ้มภาพซินหัว : แจ็ค ดอร์ซีย์ ซีอีโอทวิตเตอร์ เบิกความต่อหน้าคณะกรรมการข่าวกรองของวุฒิสภาสหรัฐฯ ที่อาคารรัฐสภา ในกรุงวอชิงตันดี.ซี. ของสหรัฐฯ วันที่ 5 ก.ย. 2018)
นิวยอร์ก, 15 ต.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันพุธ (14 ต.ค.) ทวิตเตอร์ได้รับการแนะนำให้สร้างกรอบการกำกับดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ใหม่ หลังจากทางการสหรัฐฯ ตรวจสอบพบว่าทวิตเตอร์ไม่มีการป้องกันความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพียงพอ ทั้งยังไม่มีหัวหน้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของข้อมูลในกรณีบัญชีผู้ใช้งานของบริษัทระบบเงินตราเข้ารหัส (cryptocurrency) หลายแห่งและบุคคลสาธารณะที่มีชื่อเสียงหลายรายถูกแฮ็กเมื่อวันที่ 15 ก.ค. ปีนี้"แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียกลายมาเป็นแหล่งข่าวและแหล่งข้อมูลชั้นนำอย่างรวดเร็ว แต่กลับยังไม่มีผู้ควบคุมดูแลความปลอดภัยทางไซเบอร์ของทวิตเตอร์อย่างเพียงพอ ข้อเท็จจริงที่ว่าทวิตเตอร์สุ่มเสี่ยงต่อการถูกโจมตีที่ไม่ทันสมัยและซับซ้อนแสดงให้เห็นว่าการกำกับดูแลด้วยตัวเองไม่ใช่คำตอบ" คำกล่าวของลินดา เอ. เลซเวลล์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการทางการเงิน ที่ถูกอ้างถึงในรายงานการสอบสวน
โดยกระทรวงบริการทางการเงินแห่งรัฐนิวยอร์ก (DFS)รายงานระบุว่าแฮกเกอร์หลายรายเข้าถึงระบบของทวิตเตอร์ด้วยการโทรศัพท์หาพนักงานของบริษัทและอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่จากแผนกไอทีของทวิตเตอร์หลังจากแฮกเกอร์หลอกพนักงาน 4 คน ให้แจ้งข้อมูลเพื่อเข้าสู่ระบบแก่พวกเขา พวกเขาได้ขโมยบัญชีทวิตเตอร์ของนักการเมือง คนดัง และผู้ประกอบการหลายราย รวมถึงบารัก โอบามา คิม คาร์แดเชียน เวสต์ เจฟฟ์ เบโซส อีลอน มัสก์ และบริษัทระบบเงินตราเข้ารหัสหลายแห่ง ซึ่งบัญชีเหล่านี้มีผู้ติดตามหลายล้านคน"การเลือกตั้งกำลังใกล้เข้ามาในอีกไม่ถึง 30 วัน เราต้องมุ่งมั่นกำกับดูแลบริษัทโซเชียลมีเดียขนาดใหญ่ให้มากขึ้น เพราะความสมบูรณ์ของการเลือกตั้งและตลาดของเรายึดโยงอยู่กับสิ่งนี้ จะเห็นได้ว่าการตอบสนองที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพของบริษัทระบบเงินตราเข้ารหัสที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงฯ มีการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพซึ่งสามารถส่งเสริมนวัตกรรมและการเติบโต และปกป้องผู้บริโภคไปพร้อมกันได้มากเพียงใด" เลซเวลล์กล่าวกระทรวงฯ กำลังออกรายงานฉบับนี้เพื่อ "แจ้งเตือนผู้บริโภคและผู้มีสิทธิเลือกตั้งระหว่างที่พวกเขาตระเตรียมจะใช้สิทธิขั้นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยแบบอเมริกัน ในการเลือกตั้งที่จะมีผลสืบเนื่องมากที่สุดครั้งหนึ่งในหลายชั่วอายุคน"รายงานของกระทรวงฯ เน้นย้ำว่ากลุ่มบริษัทโซเชียลมีเดียยักษ์ใหญ่ที่สุด
ซึ่งมีแพลตฟอร์มเข้าถึงผู้คนนับล้านทั่วโลก ควรได้รับการกำหนดให้เป็นสถาบันที่มีความสำคัญเชิงระบบ ด้วยการตั้งกฎระเบียบที่รอบคอบเพื่อจัดการกับความเสี่ยงด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ที่เพิ่มสูงขึ้นปี 2019 ทวิตเตอร์มีผู้ใช้งานเฉลี่ยมากกว่า 330 ล้านคนต่อเดือน โดยข้อมูลของศูนย์วิจัยพิวระบุว่าร้อยละ 71 ของชาวอเมริกันบนทวิตเตอร์ใช้แพลตฟอร์มนี้ติดตามข่าวสาร และร้อยละ 42 ของชาวอเมริกันใช้ทวิตเตอร์เพื่อพูดคุยเรื่องการเมือง