รีเซต

“ระบอบคอมมิวนิสต์” ทำให้ “ชีวิตรักเร่าร้อน” จริงหรือไม่?

“ระบอบคอมมิวนิสต์” ทำให้ “ชีวิตรักเร่าร้อน” จริงหรือไม่?
TNN ช่อง16
4 กรกฎาคม 2567 ( 17:10 )
49
“ระบอบคอมมิวนิสต์” ทำให้ “ชีวิตรักเร่าร้อน” จริงหรือไม่?

ความรักเป็นสิ่งที่สวยงาม แต่ความรักไม่ได้มีเพียงความรู้สึกอย่างเดียว ภาคปฏิบัติ อย่าง “การร่วมรักกัน (Sex)” ก็เป็นหนึ่งในเงื่อนไขสำคัญ หากปฏิบัติได้เหมาะสม ความรักก็อาจจะยืนยาวตราบธุลีดิน แต่หากปฏิบัติได้ไม่ตามเป้าหมาย ก็อาจจะทำให้เกิดความเบื่อหน่ายและเลิกรากันไปในบั้นปลาย


จริง ๆ แล้ว การร่วมรักกัน (Sex) อาจจะไม่ได้มีเงื่อนไขมาจาก “ภายใน” ว่าด้วยการฝึกฝน การเข้ากันได้ดีของท่าทาง หรือการมีอุปกรณ์ช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่เงื่อนไข “ภายนอก” ก็สำคัญไม่แพ้กัน และเงื่อนไขที่สำคัญที่สุด นั่นคือ “ระบอบการปกครอง (Regime)” ของประเทศ


และได้มีงานศึกษาที่หาญกล้าเสนอว่า ระบอบการปกครองที่เอื้อให้เกิด “ชีวิตรักเร่าร้อน” มากที่สุด นั่นคือ “คอมมิวนิสต์ (Communism)” อย่างไม่น่าเชื่อ!


ค้อนเคียว = สวาทซาตาน?


งานศึกษา Why Women Have Better Sex Under Socialism ตีพิมพ์ในสำนักพิมพ์วินเทจ เขียนโดย คริสเทน โกด์เซ (Kristen Rogheh Ghodsee) ปี 2018 ได้ศึกษามานุษยวิทยาเรื่องการร่วมรักในประเทศแถบยุโรปตะวันออกซึ่งเป็น คอมมิวนิสต์ (Communism)” แต่งานศึกษานี้เลือกใช้ศัพท์ว่า “สังคมนิยม (Socialism)” ตรงนี้ อาจจะเป็นการเลี่ยงบาลีของผู้เขียนเพื่อไม่ให้ Sense ของศัพท์รุนแรงเกินไป หรืออาจจะเป็นการ Mislead ของผู้เขียนเอง ณ ที่นี้ จึงขอใช้คอมมิวนิสต์เพื่อความสะดวก


โดยมีข้อเสนอที่น่าสนใจว่า “โลกทุนนิยม (Capitalism)” นั้น ทำให้การร่วมรักกันมีปัญหามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ “ผู้หญิง” ที่มักจะได้รับการเลือกปฏิบัติในโลกทุนนิยมมากกว่าผู้ชาย ทั้งในด้านการจ่ายเงินเดือน การเลื่อนตำแหน่ง หรือแม้แต่อาชีพที่เปิดให้ทำ


ดังนั้น ผู้หญิงจึงต้อง “พึ่งพิงทางการเงิน” ต่อผู้ชายอย่างมาก ทำให้ต้องตามใจผู้ชายทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องบนเตียง หรือก็คือ ในโลกทุนนิยมนั้น ผู้ชายสามารถควบคุม “Sex Position” ของผู้หญิงได้อย่างเบ็ดเสร็จ ผู้หญิงไม่มีที่ทางในการแสดงออกได้ว่าชอบการร่วมรักแบบใด ต้องเก็บไว้ในส่วนลึกของจิตใจทั้งหมด


ความสัมพันธ์สวาทระหว่างชายหญิงจึงเป็นแบบ “ฝ่ายชายได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว” แตกต่างจากในประเทศแถบยุโรปตะวันออก ที่ผู้หญิงไม่มีปัญหาทางด้านการเงิน เพราะรัฐบาลได้จัดหาและแบ่งทรัพยากรให้ “โดยเท่าเทียมตามหลักการ” ผู้หญิงจึงสามารถเรียกร้อง Sex Position ที่ตนนั้นรู้สึกชอบจากผู้ชายได้มากที่สุด รวมไปถึงสามารถที่จะ “คุมเกม” ในสัมพันธ์สวาทได้ 


ค้อนเคียว = เสื่อมสมรรถภาพ?


ในข้างต้น งานศึกษานี้วาง “หลักการอย่างกว้าง” เพื่อชี้ให้เห็นว่าต้องการวิพากษ์ “ทุนนิยม” ซึ่งจริง ๆ แล้ว มีปัญหาอย่างมากในการที่จะพิสูจน์ “ความสอดคล้อง (Casual Relation)” ว่าคอมมิวนิสต์ส่งผลอย่างมีนัยยะสำคัญต่อชีวิตรักที่เร่าร้อนจริงหรือไม่?


ประการแรก งานศึกษานี้ “ทื่อ ๆ (Naive)” อย่างมากในเรื่องของ “ความแตกต่างทางชนชั้น” ทั้ง ๆ ที่เป็นแก่นแกนหลักของคอมมิวนิสต์ที่พยายามจะทำลายให้สิ้นไป ทุนนิยมเปิดโอกาสให้มีการสะสมทุน ใครดีใครได้ อ่อนแอก็แพ้ไป แต่คอมมิวนิสต์ในเชิงปฏิบัติเอง ก็ไม่ได้สร้าง “ความเท่าเทียม” อย่างแท้จริง บรรดาผู้นำและผู้มีอำนาจที่กุมการกระจายทรัพยากรแบบเบ็ดเสร็จ พวกนี้มีฐานะกว่าประชาชนอย่างมาก 


หากเป็นเช่นนั้น ความรักของ “นาเดซดา อัลลิลูเยวา (Nadezhda Alliluyeva)” ภรรยาของ “โยเซฟ สตาลิน” ยอดผู้นำคอมมิวนิสต์โซเวียต ที่มีพร้อมทุกอย่าง จะไปเร่าร้อนเทียบเท่ากับประชาชนทั่วไปจริงหรือไม่?


ประการต่อมา สืบเนื่องจากประการแรก หากว่าความเท่าเทียมในเชิงปฏิบัติของคอมมิวนิสต์แทบจะไม่ได้เป็นไปตามหลักการ นั่นหมายความว่า คอมมิวนิสต์ก็แทบจะไม่แตกต่างจากทุนนิยมที่งานศึกษานี้วิพากษ์มาตั้งแต่ต้น หรือก็คือ เป็นการเขียนงานที่ “ไร้ค่าไร้ความหมาย” 


ผนวกกับการที่งานศึกษานี้ “หลักฐานอ่อน” อย่างมาก เพราะไม่มีการชี้ให้เห็นในเชิงประจักษ์ว่า ชีวิตรักเร่าร้อนในคอมมิวนิสต์นั้น “วัดจากอะไร” วัดจากการถึงจุดสุดยอดของผู้หญิง วัดจากจำนวนการหลั่งอสุจิของผู้ชาย หรือวัดจากจำนวนการร่วมรักกี่ครั้งต่อสัปดาห์


แตกต่างจากอีกงานศึกษาหนึ่ง ที่ชื่อว่า Love in the Time of Communism ตีพิมพ์ในสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เขียนโดย โยซี แม็คเรญาน ในปี 2011 ได้ชี้ให้เห็นว่า ประเทศคอมมิวนิสต์นั้น รัฐบาลรู้ทุกซอกทุกมุมของประชาชน ทั้งยังบังคับประชาชนได้แบบง่าย ๆ โดยที่ประชาชนไม่อาจขัดขืน อีกอย่าง เรื่องที่ส่งเสริมให้เกิดอารมณ์เร่าร้อนในความรัก อาทิ สื่อลามก หรือถุงยางอนามัย เป็นเรื่องที่ไม่สมควร โดนแบนทั้งสิ้น และแบบนี้ ใครจะไปมีอารมณ์ทางเพศที่จะมากขึ้นได้


อีกทั้ง สถิติยังบ่งบอกว่า การทำงานของแรงงานในประเทศที่จะได้รับค่าตอบแทนที่เท่าเดิมตลอด ด้วยเชื่อเรื่องความเท่ากันถ้วนหน้า ยังส่งผลให้ผู้ชายนั้น “ตายด้าน” เพราะไม่เกิดแรงจูงใจที่จะพัฒนาตนเองเพื่อคนที่รัก และรัฐบาลสั่งให้เพิ่มจำนวนประชากรก็จำต้องทำ จึงทำให้เกิดการ “ทำไปให้จบ ๆ” ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีแก่ความรักใด ๆ 


และประการสุดท้าย “ความเท่าเทียมในความสัมพันธ์” เป็นคนละเรื่องกับ “ความเท่าเทียมทางการเมืองและเศรษฐกิจ” ในงานศึกษา Is Equality the Answer to Better Sex? ตีพิมพ์ใน Family Perspectives เขียนโดย เดรสเดน กราฟ ในปี 2020 ได้เสนอว่า ความเท่าเทียมในความสัมพันธ์คือการที่ทั้งสองฝ่ายรู้สึกว่า “เติมเต็ม” ให้กันและกันได้อย่างลงตัว ซึ่งเป็นเรื่องของความรู้สึกมากกว่าเรื่องทางการเงิน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะจนกว่าหรือรวยกว่า ย่อมไม่เป็นปัญหา และเมื่อเท่าเทียมในความสัมพันธ์ ความรักก็จะเร่าร้อนขึ้นไปโดยธรรมชาติ


หรือก็คือ ความเร่าร้อนในการเริงรักนั้น ทั้งหมดอยู่ที่ “ภายใน” เป็นที่ตั้ง ส่วนภายนอกนั้น เป็นเรื่องของ “ตัวแปรตาม” หากไม่คิดอะไรมาก สองฝ่ายรักกัน อย่างอื่นไม่เกี่ยว ก็ไม่ได้มีปัญหาแต่ประการใด


และท้ายที่สุดนั้น ความพยายามในการสร้างความเท่าเทียม หรือเพิ่มความสตรีนิยม (Feminism) ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่การมุ่งดันทุรังจะทำ โดยที่อ่านหนังสือไม่แตกหรือไม่ได้สร้างการให้เหตุผลที่ดีมากพอ ย่อมเป็นความเสื่อมในการสร้าง “องค์ความรู้” จากที่กลายเป็นช่วยเหลือ ก็จะเป็น “ของปลอม” ไปเสียสิ้น


แหล่งอ้างอิง




ข่าวที่เกี่ยวข้อง