นักวิทย์จีนใช้ 'ดวงตาจักรวาล' ศึกษา 'ลมสุริยะ' คืบหน้า
ปักกิ่ง, 2 มิ.ย. (ซินหัว) -- คณะนักวิทยาศาสตร์จีนสร้างความคืบหน้าของการสังเกตปรากฏการณ์แสงเรืองวาบระหว่างดาวเคราะห์หรือไอพีเอส (IPS) ที่สามารถนำไปใช้ศึกษาสภาพอากาศในอวกาศ โดยอาศัยความช่วยเหลือจากฟาสต์ (FAST) กล้องโทรทรรศน์วิทยุจานรับสัญญาณเดี่ยวขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 500 เมตรของจีน
เนื่องจากสัญญาณวิทยุจากแหล่งกำเนิดสัญญาณวิทยุขนาดกะทัดรัดระยะไกลกระจัดกระจายตามลมสุริยะ ทำให้การสังเกตการณ์จากพื้นโลกเห็นการเลี้ยวเบนอย่างไม่เจาะจง ดังนั้นการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ไอพีเอสจากพื้นโลก จึงสามารถช่วยอนุมานคุณสมบัติทางกายภาพของลมสุริยะได้
คณะนักวิจัยจากหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์แห่งชาติ (NAO) สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) ทำการวิเคราะห์ลมสุริยะผ่านการสังเกตการณ์ไอพีเอสด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์
เมื่อวันอังคาร (1 มิ.ย.) คณะนักวิจัยเผยว่าเนื่องจากความไวต่อแสงสูงพิเศษของฟาสต์ ทำให้ฟาสต์ใช้เวลาเพียง 20 วินาที สามารถทราบข้อมูลความเร็วของลมสุริยะ ซึ่งน้อยกว่าเวลาที่กล้องโทรทรรศน์วิทยุทั่วไปใช้อย่างมาก
"ฟาสต์มีแนวโน้มมีบทบาทเฉพาะในการศึกษาไอพีเอส" เผิงโป๋ ผู้เขียนร่วมของงานวิจัย ซึ่งเผยแพร่ทางออนไลน์ในประกาศรายเดือนของราชสมาคมดาราศาสตร์ (Royal Astronomical Society) กล่าว
คณะกรรมการกลางที่ไม่เปิดเผยนามแสดงความเห็นว่าการศึกษานี้เป็น "ความแปลกใหม่และเป็นประโยชน์ต่อชุมชนดาราศาสตร์ในวงกว้าง"
ปัจจุบันการเฝ้าติดตามปรากฏการณ์บนดวงอาทิตย์และการพยากรณ์อากาศในอวกาศมีความสำคัญมากขึ้น ทำให้การค้นพบจากการสังเกตการณ์ไอพีเอสเป็นความหวังของเหล่านักวิทยาศาสตร์
การศึกษาพบว่าแม้ลมสุริยะจะสามารถสังเกตได้โดยตรงด้วยดาวเทียมหรือยานอวกาศที่มีความแม่นยำค่อนข้างสูง แต่การสังเกตการณ์ไอพีเอสจากพื้นดินเป็นวิธีที่ประหยัดกว่าในการทราบข้อมูลเกี่ยวกับลมสุริยะ เช่น ความเร็วของลมสุริยะ
ปรากฏการณ์ไอพีเอสถูกค้นพบในทศวรรษ 1960 และนับแต่นั้นมาหลายประเทศ อาทิ สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และอินเดีย ทำการศึกษาเกี่ยวกับไอพีเอส โดยจีนเริ่มทำการศึกษาไอพีเอสตั้งแต่ทศวรรษ 1990
ทั้งนี้ ฟาสต์เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุจานเดี่ยวขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีพื้นที่รับสัญญาณเท่ากับสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน 30 สนาม ตั้งอยู่ในแอ่งคาสต์ทรงกลมลึกตามธรรมชาติในมณฑลกุ้ยโจวทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยจีนเริ่มใช้งานฟาสต์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2020