รีเซต

สกสว.ติดอาวุธให้บุคลากรกรมชลประทาน สานพลังกับทุกภาคส่วน-พร้อมรับมือภัยแล้ง

สกสว.ติดอาวุธให้บุคลากรกรมชลประทาน สานพลังกับทุกภาคส่วน-พร้อมรับมือภัยแล้ง
TNN ช่อง16
9 พฤษภาคม 2566 ( 12:53 )
77
สกสว.ติดอาวุธให้บุคลากรกรมชลประทาน สานพลังกับทุกภาคส่วน-พร้อมรับมือภัยแล้ง

    วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) พร้อมผู้บริหารและเจ้าหน้าที่เยี่ยมชมพื้นที่และติดตามหนุนเสริมการดำเนินงานของหน่วยรับงบประมาณในระบบ ววน. ณ กรมชลประทาน สามเสน เพื่อรับฟังการนำเสนอภาพรวมการบริหารงานวิจัยของกรมชลประทาน รวมถึงร่วมหารือนโยบายและทิศทางการสนับสนุนงบประมาณของทุนสนับสนุนงานมูลฐานภายใต้การสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนส่งเสริม ววน.

     ผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวว่า การจัดสรรงบประมาณเป็นเครื่องมือสนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานตามพันธกิจ โดยใช้ ววน.เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้กรมชลประทานเป็นกรมใหญ่ที่สุดในเชิงงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากน้ำเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาประเทศ จึงต้องทำให้ศักยภาพของบุคลากรได้รับการยอมรับ และยกระดับติดอาวุธให้ทีมวิชาการซึ่งเป็นมันสมองของหน่วยงานแข็งแกร่งขึ้นและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายที่ต้องอาศัยข้อมูลและชุดความรู้ รวมทั้งมีนวัตกรรมเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงและสนับสนุนการทำงานตามแผนแม่บทด้านการจัดการน้ำ

    “กรมชลประทานควรบูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อร่วมกันจัดคลัสเตอร์ด้านการจัดการน้ำ รวมถึงการทำงานร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำที่สำคัญคือ ชาวบ้าน ประชาชน และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งพลังจากทุกภาคส่วนจะทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน พร้อมกับช่วยกันดูแลรักษาทรัพยากรน้ำ ทั้งนี้โครงการวิจัยที่ดีอาจยกระดับเป็นโครงการต่อเนื่อง multi-year หรือขอรับทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ และแผนงานวิจัยในภาวะวิกฤต เช่น น้ำท่วมน้ำแล้งได้ แต่ต้องมีภาพที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาด้วย ววน. พร้อมกันนี้อยากให้กรมชลประทานส่งมอบผลผลิต ผลลัพธ์ และผลกระทบอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเสริมสร้างแต้มต่อเพื่อความเข้มแข็งโดยการรับทุนสนับสนุนจากแหล่งทุนอื่น เพื่อสะท้อนความสำเร็จของหน่วยงานด้วย”

    ขณะที่ ดร.แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ สกสว. กล่าวถึงนโยบายขับเคลื่อนเรื่องน้ำของ สกสว. ว่ามีทั้งนโยบายสาธารณะการบริหารจัดการน้ำร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย ซึ่งยังมีช่องว่างต่าง ๆ เช่น การผลักดันนโยบายจากข้างล่างขึ้นบน การจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำไม่มีระบบการบริหารจัดการน้ำเชิงพื้นที่อย่างแท้จริง จึงควรเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำเพื่อลดความเหลื่อมล้ำสร้างความเป็นธรรมกับสุขภาพ/สุขภาวะ พื้นที่ และกลไกการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะควรลงไปถึงชุมชน นอกจากนี้ สกสว.ยังจัดประชุมหารือการจัดการทรัพยากรน้ำในประเทศไทย ซึ่งมีโจทย์สำคัญ อาทิ การประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยีการบริหารจัดการน้ำ การปฏิรูปองค์กรและระบบการบริหารจัดการน้ำของประเทศ การวางแผนระยะ 5 ปี และเตรียมการระบบข้อมูล เทคโนโลยี ความร่วมมือกับต่างประเทศ เพื่อรับมือภัยพิบัติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงแซนด์บ๊อกซ์วางแผนโรดแมปทำแผนปฏิบัติการ 10 ปี เพื่อให้มีกลไกร่วมกันขับเคลื่อน ววน. และทำงานร่วมกับสังคม-สช.

     ด้าน ดร.ปริญญา กมลสินธุ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมชลประทาน ด้านวิศวกรรมชลศาสตร์ กรมชลประทาน เผยว่า กรมชลประทานได้รับงบประมาณจาก สกสว.อย่างต่อเนื่อง ทำให้สามารถพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานและบุคลากร นำไปสู่การบริหารงานน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กรมชลประทานพร้อมรับคำแนะนำจาก สกสว. และจะนำข้อมูลไปถ่ายทอดแก่บุคลากร เพื่อนำไปปรับปรุงการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติต่อไป ซึ่งกรมชลประทานมีข้อได้เปรียบเรื่องพื้นที่ในการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากงานวิจัย โดยจะป้อนองค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อใช้ในพันธกิจที่ได้รับมอบหมาย

     สำหรับการรับมือกับภัยแล้งรุนแรงในระยะ 4-5 ปีนี้ กรมชลประทานจะนำผลงานวิจัยไปใช้ในการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝน ใช้น้ำอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพให้เกิดการสูญเสียน้ำน้อยที่สุด เช่น ป้องกันการรั่วซึม ลดวัชพืชในแหล่งน้ำ ควบคุมการส่งน้ำในปริมาณที่ต้องการของพื้นที่อย่างแม่นยำ การปลูกพืชที่เหมาะสม การใช้เครื่องสูบน้ำ เก็บน้ำไว้ได้มากที่สุด หาแหล่งน้ำเพิ่มเติม รวมถึงแก้ปัญหาน้ำเสีย โดยในปีนี้คาดการณ์ว่าเอลนีโญจะส่งผลให้แล้งยาวนาน สำนักทรัพยากรน้ำแห่งชาติจึงกรอบการบริหารจัดการน้ำร่วมกับ 38 หน่วยงาน เพื่อออกมาตรการการบริหารจัดการน้ำฝน 12 มาตการ เช่น กักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำ จัดลำดับความสำคัญในการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคเป็นหลัก การวิเคราะห์และคาดการณ์ปริมาณน้ำทุกสัปดาห์เพื่อให้สอคดล้องกับน้ำต้นทุน การสำรองน้ำในอ่างเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด และประชาสัมพันธ์สร้างการเรียนรู้แก่ประชาชน

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง