ถอดรหัส 25 กลโกง "แชร์ลูกโซ่" จะหลอกเราอย่างไรบ้าง?
เช็กเลยที่นี่! DSI ถอดรหัส 25 "กลโกงแชร์ลูกโซ่" รวมมุกเด็ด รู้เท่าทันโจรไว้ ไม่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่แน่นอน
เพจเฟซบุ๊ก DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้โพสต์ข้อความระบุว่า นโยบาย พันตำรวจตรีสุริยา สิงหกมล อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ด้านการป้องกันภัยแชร์ลูกโซ่เชิงรุก ได้มอบหมายให้ ร้อยตำรวจเอกวิษณุ ฉิมตระกูล รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ สั่งการกองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ตามนโยบายเชิงรุก ด้านการป้องกันภัยแชร์ลูกโซ่ เพื่อเป็นการป้องกันประชาชนไว้ก่อนที่จะเป็นคดีพิเศษแชร์ลูกโซ่นั้น
กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ นำโดย นายนิติกร เวชภูมิ รอง ผอ. กคธ. พันตรีอรรคริน ลัทธศักดิ์ศิริ รอง ผอ.กคธ. นางนันท์นภัส เกยุราพันธุ์ ผอ.คธ. 1 นางสาวปริมณ์ สาริยา ผอ.คธ. 2 ร้อยตำรวจโทเสฎฐวุฒิ สายป้อง ผอ.คธ. 3 นายกฤษฎิ์นิธิ อุดมศักดิ์พศิน นางสาวนัดดรียา พิรวินิจ ในฐานะทีมนักวิจัย กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ กรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) การป้องกันภัยแชร์ลูกโซ่ออนไลน์ ภายใต้โครงการวิจัย DSI นวัตกรรมการป้องกัน แชร์ลูกโซ่ออนไลน์ และแอปพลิเคชันไลน์ชื่อ @ checkdidsi ได้ทำการวิจัยและถอดรหัส 25 กลโกง แชร์ลูกโซ่
โดยมีการแจ้งเตือนประชาชนให้รับทราบถึงพฤติกรรมการหลอกลวงของเหล่ามิจฉาชีพแชร์ลูกโซ่แบบเบ็ดเสร็จ เพื่อให้ประชาชนได้รู้เท่าทันโจร รู้เท่าทันกลโกงของมิจฉาชีพ ซึ่งเป็นภัยใกล้ตัวประชาชน ให้รู้ก่อน รู้ไว้ รู้ทัน ไม่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่แน่นอน
DSI ถอดรหัส 25 กลโกงแชร์ลูกโซ่ รวมมุกเด็ดโจร รู้เท่าทันโจรไว้ ไม่ตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่แน่นอน
กลโกงที่ 1 เขาจะหลอกให้เกิดความอยากได้ โดยการใช้ผลตอบแทนเป็นเครื่องจูงใจ/ล่อใจ ว่ามีการให้ ผลตอบแทน กำไร การปันผล ในจำนวนเงินที่สูงเกินความเป็นจริง
กลโกงที่ 2 เขาจะเชิญชวนโดยทำให้เรารู้สึกว่า ชีวิตนี้โคตรโชคดีเหลือเกินที่ได้มาพบเจอบริษัทหรือกิจการนั้นๆ
กลโกงที่ 3 เขาจะใช้วิธีโชว์สร้างภาพความรวย โชว์การใช้ชีวิตหรูหรา (กินหรูอยู่สบาย) ใช้รถหรูบ้านหรู โชว์เงินสดจำนวนมากเป็นปึกๆ
กลโกงที่ 4 เขาจะสร้างภาพให้เห็นว่า บริษัทหรือกิจการนั้นๆ มีความน่าเชื่อถือ เป็นอย่างมาก ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานในเวลาอันรวดเร็ว แบบก้าวกระโดดหรือแบบฉับพลัน
กลโกงที่ 5 เขาจะทำให้เรารู้สึก/เข้าใจว่า เป็นการลงทุนกับบริษัทหรือกิจการที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก อายุน้อยพันล้าน เป็นต้น
กลโกงที่ 6 เขาจะมีการเชิญชวนให้เข้าร่วมงานสัมมนา เขาจะแสดงว่ามีแผนธุรกิจ ที่สามารถทำให้ลงทุนแล้วเติบโตอย่างรวดเร็วได้กำไรงาม
กลโกงที่ 7 เขาจะมีการสร้างภาพว่าเป็นกิจการที่ช่วยเหลือสังคม ได้รับรางวัลมากมาย
กลโกงที่ 8 เขาจะมีการรับประกัน หรือการันตี (guarantee) ว่าเมื่อลงทุนแล้วจะได้รับผลตอบแทน 100% ไม่มีเสียโอกาส หรือไม่มีการขาดทุนเด็ดขาด
กลโกงที่ 9 เขาจะมีการเชิญชวน ว่าหากชอบทำงานสบาย งานง่ายๆ ไม่ลำบาก ไม่ยาก ทำงานได้โดยไม่กระทบต่องานประจำที่ทำอยู่ ลงทุนน้อย ได้รับผลตอบแทนสูง และได้รับแน่นอน ไม่มีความเสี่ยงใดๆทั้งสิ้น
กลโกงที่ 10 เขาจะมีการโฆษณาว่า เป็นการทำธุรกิจแนวใหม่ หรือเป็นการลงทุนแบบใหม่ (Start Up) หรือลงทุนในสินทรัพย์/หลักทรัพย์ตัวใหม่ๆ หรือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความทันสมัย มีแนวโน้มหรือเทรน (Trend) มาแรง ลงทุนแล้วจะได้ผลตอบแทนสูง
กลโกงที่ 11 เขาจะการแสดงให้เราเห็นว่า เมื่อเข้ามาเป็นสมาชิกกับบริษัทหรือกิจการของเขาแล้วจะทำให้มีชีวิตที่ดีขึ้นจากเดิม
กลโกงที่ 12 เขาจะจูงใจด้วยการจ่ายผลตอบแทนตามที่โฆษณาเชิญชวน ในอัตราที่สูงโดยจ่ายแค่ครั้งแรกๆ ก่อนที่จะหอบเงินเหยื่อหนีหายไป
กลโกงที่ 13 เขาจะอ้างว่าต้องใช้สกุลเงินดิจิทัลในการลงทุนและต้องเปิดกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ในการลงทุน สุดท้ายก็เชิดหนี
กลโกงที่ 14 เขาจะมีการแอบอ้างว่า มีการจัดตั้งบริษัทหรือกิจการที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ในความเป็นจริงยังไม่ได้รับการอนุญาต จากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.), สำนักคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.), หรือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
กลโกงที่ 15 เขาจะหลอกให้เราโอนเงินไปลงทุน แล้วจูงใจแจ้งเราว่ารอรับผลตอบแทนอย่างเดียวไม่มีขาดทุน
กลโกงที่ 16 เขาจะมีการให้เราเชิญชวนบุคคลอื่น แล้วให้ค่าแนะนำเชิญชวนบุคคลอื่นมาเข้าร่วมในลักษณะแม่ทีมลูกทีม
กลโกงที่ 17 เขาจะทำการเชิญชวนเราไปในพื้นที่ส่วนตัว หรือในโซเชียลมีเดีย (Social Media) เช่นการชวนเข้าไลน์ (Line) เฟสบุ๊ค (Facebook) กลุ่มที่เป็นห้องลับ ไม่ใช่สาธารณะ ซึ่งเป็นห้องสนทนาส่วนตัว ที่มีแต่ทีมมิจฉาชีพเกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ เพื่อชักจูงให้เราเกิดความอยากลงทุน อยากได้รับผลตอบแทนสูงๆ
กลโกงที่ 18 เขาจะมีการอุปโลกน์ตัวอย่างคนที่ได้รับผลตอบแทน ให้เห็นว่าได้รับผลตอบแทนสูงจริงเพื่อจูงใจ
กลโกงที่ 19 เขาจะมีการเปิดให้ทุกคนสามารถเข้ามาลงทุนได้ หรือเป็นสมาชิกในบริษัทหรือกิจการได้ไม่อั้น ไม่จำกัดจำนวนหรือไม่จำกัดสถานสภาพหรืออายุ ใครๆ ก็สามารถนำเงินมาลงทุนได้
กลโกงที่ 20 เขาจะมีการแอบอ้างว่า มีการจดทะเบียนหรือร่วมลงทุน หรือนำเงินไปลงทุนกับธุรกิจ ที่อยู่ในต่างประเทศ
กลโกงที่ 21 เขาจะมีการแสดงให้เราเห็นว่าเขามีบริษัทหรือกิจการในเครืออีกหลายแห่ง เพื่อให้เห็นว่าเขามีธุรกิจและมีเครือข่ายกว้างขวาง
กลโกงที่ 22 เขาจะมีวิธีการทำให้เราตรวจสอบทางการเงินไม่ได้ มีการทำธุรกรรมทางการเงินที่ทำให้เราเกิดความงง และให้เราเข้าใจว่าสาเหตุที่คนอื่นๆที่เข้ามาลงทุนร่ำรวยมากขึ้นเพราะเกิดจากการเข้ามาลงทุนนี้
กลโกงที่ 23 เขาอาจอ้างว่าจะมีการนำเงินสด(เงินบาท)ของเรา ไปลงทุนหรือแลกเปลี่ยนเป็นหน่วยลงทุนที่บริษัทหรือกิจการกำหนดขึ้นมาเอง (เอาเงินจริงไปแลกเป็นเงินสมมุติที่ทางเขากำหนดขึ้นมา)
กลโกงที่ 24 เขาจะสร้างโปรแกรมสำเร็จรูปซึ่งเหมือนจริงทุกประการ มาเป็นหน้าจอแสดงผลหรือรายงานผลการลงทุน/ผลตอบแทน มีการแสดงกราฟแบบเรียลไทม์ (Real Time) ดูเหมือนจริงโดยไม่มีที่ติ
กลโกงที่ 25 เขาจะมีการใช้ให้เราไปชักชวนคนใกล้ชิดหรือคนสนิทของเราหรือในทางกลับกันอาจเป็นคนใกล้ชิดหรือคนสนิทของเรามาชวนเราให้เข้ามาลงทุนหรือให้เข้ามาติดกับดัก เช่น คนในครอบครัว พี่น้อง ญาติ หรือเพื่อน ว่าเข้ามาลงทุนแล้วได้รับผลตอบเทนสูงลองเข้ามาคุยด้วยกัน (ลองซิเค้าได้รับผลตอบแทนสูงๆกันมาแล้ว)
ติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมของกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผ่าน ช่องทาง ได้แก่
1.www.dsi.go.th
2.Facebook :กรมสอบสวนคดีพิเศษ
:https://www.facebook.com/DSI2002/?ref=bookmarks
3.Instagram :Dsi.th
: https://instagram.com/dsi.th?igshid=YmMyMTA2M2Y=
4.Twitter :DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ
:https://twitter.com/DSI_PR
5.Youtube :DSI กรมสอบสวนคดีพิเศษ
:https://www.youtube.com/channel/UCM5mQqo4wv7wWhcy-6dA8Cg
6.Tiktok:Dsi.th
:https://www.tiktok.com/@dsi.th?_t=8aHJtEydYQb&_r=1
ที่มา ดีเอสไอ
ภาพจาก AFP