รีเซต

ช่องโหว่กฎหมาย? "แม่หยัว" สะท้อนปัญหา การใช้สัตว์ในละคร

ช่องโหว่กฎหมาย? "แม่หยัว" สะท้อนปัญหา การใช้สัตว์ในละคร
TNN ช่อง16
9 พฤศจิกายน 2567 ( 15:18 )
53

เมื่อละครแม่หยัวสะท้อนช่องโหว่การคุ้มครองสัตว์ในวงการบันเทิง


เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังระอุในโลกออนไลน์ หลังการออกอากาศละครเรื่อง "แม่หยัว" ตอนที่ 5 ทางช่องวัน 31 ที่มีฉากแมวดำกินน้ำที่ผสมยาพิษ จนมีอาการชักกระตุกและนิ่งไป ภาพที่ปรากฏบนจอทำเอาผู้ชมหลายคนสะเทือนใจ โดยเฉพาะคนรักสัตว์


สถานการณ์ยิ่งบานปลายเมื่อมีผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง โพสต์ข้อความระบุว่า "น้องแมวไม่ได้ตุยจริงน้า เราวางยาสลบแมว แต่ตอนถ่ายทำ แล้วน้องขย้อน กระตุกๆ คือนึกว่าตายจริง ป้าจ๋ากับน้องเฟิร์นหน้าถอดสี ตกใจจริงๆ" แม้โพสต์ดังกล่าวจะถูกลบไปแล้ว แต่ก็สายเกินไป เพราะได้จุดชนวนความโกรธแค้นในสังคมออนไลน์จนแฮชแท็ก #แบนแม่หยัว ติดเทรนด์ทวิตเตอร์


สันต์ ศรีแก้วหล่อ ผู้กำกับการแสดงซีรีส์เรื่อง "แม่หยัว" ออกมาชี้แจงกรณีความกังวลของแฟนละครเกี่ยวกับการใช้แมวในการถ่ายทำ ยืนยันว่าแม้จะมีการวางยาสลบจริง แต่ทุกขั้นตอนอยู่ภายใต้การดูแลของเจ้าของและผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด โดยหลังการถ่ายทำน้องแมวฟื้นและใช้ชีวิตได้ตามปกติ 


ด้านทีมงานได้ติดต่อโมเดลลิ่งสัตว์ที่รับผิดชอบดูแลน้องแมว เพื่อถ่ายคลิปอัปเดตสถานะล่าสุดและนำไปตรวจสุขภาพเพิ่มเติม พร้อมจะนำใบรับรองแพทย์มาแสดงให้ประชาชนได้รับทราบโดยเร็ว เพื่อคลายความกังวลของทุกฝ่าย





ความเสี่ยงที่มากกว่าที่เห็น


สัตวแพทย์ผู้เชียวชาญ ระบุว่า "การวางยาสลบไม่ใช่เรื่องง่าย และมีความเสี่ยงถึงชีวิต"  พร้อมอธิบายว่าก่อนการวางยาสลบต้องมีการเตรียมการอย่างรัดกุม ทั้งการตรวจร่างกาย การงดอาหาร 4-6 ชั่วโมง และต้องมีการติดตามสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด ระหว่างการวางยาต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ให้น้ำเกลือเพื่อรักษาความดันเลือด และมีการมอนิเตอร์การหายใจ หัวใจ และอุณหภูมิร่างกายตลอดเวลา เนื่องจากสัตว์จะไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิร่างกายได้เองขณะอยู่ในภาวะสลบ


มุมมองทางกฎหมาย


พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ. 2557 หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองสัตว์ มีบทบัญญัติชัดเจนในการคุ้มครองสัตว์ทุกประเภท รวมถึง "สัตว์เลี้ยงเพื่อใช้ในการแสดง" โดยมาตรา 20 ห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการทารุณกรรมสัตว์โดยไม่มีเหตุอันสมควร


ข้อยกเว้นตามกฎหมายมีเพียง 3 กรณี คือ

1. การฆ่าสัตว์เพื่อใช้เป็นอาหาร

2. การฆ่าสัตว์ตามกฎหมายควบคุมการฆ่าสัตว์

3. การฆ่าเพื่อควบคุมโรคระบาด


การวางยาสลบเพื่อการถ่ายทำไม่เข้าข่ายข้อยกเว้นใดเลย หากพิสูจน์ได้ว่าเป็นการทารุณกรรม ผู้กระทำผิดมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ทางออกที่ควรจะเป็น


ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า การสร้างฉากที่มีความเสี่ยงต่อชีวิตสัตว์สามารถทดแทนได้ด้วยวิธีอื่น เช่น:

- การใช้เทคนิคพิเศษ (Special Effects)

- การสร้างภาพด้วย CGI

- การใช้หุ่นจำลอง


เพื่อยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองสัตว์ในวงการบันเทิงไทย จำเป็นต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน ทั้งสัตวแพทย์ นักกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญด้านภาพยนตร์ เพื่อกำหนดแนวปฏิบัติและตรวจสอบการใช้สัตว์ในการถ่ายทำอย่างเข้มงวด โดยต้องมีการวางระเบียบที่ชัดเจน ตั้งแต่ขั้นตอนการคัดเลือกสัตว์ การเตรียมความพร้อม ไปจนถึงการดูแลระหว่างและหลังการถ่ายทำ


ที่สำคัญ ควรกำหนดให้ทุกกองถ่ายที่มีการใช้สัตว์ต้องมีสัตวแพทย์ประจำการตลอดเวลา พร้อมทั้งต้องทำรายงานสุขภาพและความปลอดภัยของสัตว์อย่างละเอียด หากพบการละเมิดมาตรฐาน ต้องมีบทลงโทษที่ชัดเจนทั้งในรูปแบบค่าปรับและการระงับใบอนุญาตการผลิต เพื่อสร้างความตระหนักและความรับผิดชอบในวงการบันเทิงไทย



---------------------


ภาพ : ละครแม่หยัว

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง